ความสูญเสียจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งแถบอันดามันของประเทศไทยนั้นมากมายนับไม่ถ้วน และจนถึงปัจจุบันยังคงมีผู้เสียชีวิตและสูญหายอีกนับพัน ซึ่ง ณ ตอนนี้การเก็บกู้ร่างไร้วิญญาณเพื่อตามหาญาติผู้เสียชีวิตนับวันจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะร่างเหล่านั้นเริ่มเน่าเปื่อย จนแม้แต่ภาพถ่ายไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานชี้ชัดในการระบุตัวตนของเจ้าของร่าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้การเก็บเนื้อเยื่อไปตรวจหาดีเอ็นเอที่ตรงกับเครือญาติเพื่อระบุตัวตนแทน
ใช้กรรมวิธีพิสูจน์ตามสภาพร่างที่พบ
หลักการในการพิสูจน์บุคคลตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ ของศูนย์พิสูจน์คนหาย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทวงยุติธรรม จะแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. การใช้คุณสมบัติโดยทั่วไปของศพที่พบ เช่น เพศ ความสูง เชื้อชาติ อายุ สีผิว ลักษณะของเส้นผม เป็นต้น รวมทั้งหลักฐานประกอบอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ เป็นต้น และ 2. การพิสูจน์บุคคลโดยการเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ ก่อนตาย เช่นประวัติการทำฟัน การผ่าตัด ภาพถ่ายทางรังสี เป็นต้น
แต่ในการพิสูจน์ว่าใครเป็นใครจากลักษณะของศพที่พบนั้น ก็ต้องพิจารณาตามลักษณะของศพ 4 ลักษณะ ดังนี้ 1. ศพยังมีสภาพสมบูรณ์ ไม่เน่า มีชิ้นส่วนของศพครบ ดูได้จากภายนอกว่าเป็นใคร ใช้การเปรียบเทียบรูปถ่าย ดูสีผม ตำหนิต่างๆ ตามร่างกาย รอยสัก เป็นต้น 2. ศพที่มีสภาพเน่า สภาพร่างกาย ภายนอกเปลี่ยนไป ทำให้ไม่มีข้อมูลลักษณะร่างกายภายนอกเพียงพอที่จะตรวจพิสูจน์ได้ กรณีเช่นนี้จะใช้การตรวจทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยขึ้น เช่น การตรวจดีเอ็นเอจากกระดูก การตรวจกระดูกโดยอาศัยหลักการทางมานุษยวิทยา เป็นต้น
3. ศพที่มีสภาพถูกหั่นเป็นท่อน เป็นชิ้น แยกทิ้งตามที่ต่างๆ หรือในกรณีที่มีอุบัติเหตุหมู่ การพิสูจน์บุคคลจะต้องคำนึงถึงสภาพของศพที่พบ การเก็บรวบรวมชิ้นส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อ และ 4. ศพอยู่ในสภาพโครงกระดูก หรือชิ้นส่วนของกระดูก การพิสูจน์บุคคลจะใช้การศึกษาจากกระดูกโดยใช้หลักการทางมานุษยวิทยาเป็นสำคัญ เช่น การตรวจดูพยาธิสภาพของกระดูก การดูเชื้อชาติ เพศ อายุ การนำชิ้นส่วนกระดูกตรวจดีเอ็นเอ เป็นต้น
การตรวจพิสูจน์บุคคลเพื่อยืนยันตัวบุคคล ได้แก่ 1. ลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint) ใช้ได้ในศพที่ใสภาพสมบูรณ์ 2. การศึกษาเรื่องกระดูก (Forensic Anthropology) 3. การตรวจสารพันธุกรรม (DNA fingerprint) 4. การศึกษาเรื่องฟัน (Forensic Odontology) 5. พยาธิสภาพที่พบ (Pathology) 6. การทำภาพเชิงซ้อน (Superimposition) 7. การใช้ลักษณะเฉพาะตัวบุคคล และ 8. การใช้สภาวะแวดล้อม หรือวัตถุพยานแวดล้อมที่พบพร้อมศพ
“ดีเอ็นเอ” ร่องรอยที่เหลืออยู่แม้ร่างสูญสลาย
ทางด้าน ดร. สมวงศ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี (ดีเอ็นเอเทค) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อธิบายว่า การตรวจหาญาติจากซากศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ขั้นแรกจะใช้การถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน แต่พอช่วงเวลาผ่านไปหลายวันแล้วเมื่อซากศพเริ่มเน่าเปื่อยจะไม่สามารถใช้ภาพถ่ายมาระบุได้ว่าเป็นใคร จะต้องใช้การเก็บรักษาเนื้อเยื่อไว้ไว้แทนเพื่อนำตามตรวจหาดีเอ็นเอเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ส่วนของเนื้อเยื่อที่จะเก็บไว้จะเก็บส่วนที่เป็นกระพุ้งแก้มเพราะเป็นส่วนที่ดีเอ็นเอจะอยู่ได้นานและสลายไปช้ากว่าเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยใช้สำลีพันปลายไม้มาขูดส่วนเนื้อเยื่อที่เป็นของเหลวบริเวณกระพุ้งแก้มเพื่อเก็บเซลล์ นอกจากนี้ยังเก็บเส้นผมของผู้ตายไว้ด้วยได้ แต่จะต้องดูสภาพศพประกอบกันไปด้วยว่ายังพอมีเนื้อเยื่อส่วนหนังหัวติดอยู่กับโคนผมหรือไม่ และจะใช้วิธีการพลาสเจอร์ไรซ์ในการเก็บรักษาเนื้อเยื่อตัวอย่าง จากนั้นจึงนำไปตรวจสอบออกมาเป็นรหัสพันธุกรรมโดยใช้ระยะเวลาต่อหนึ่งศพน่าจะประมาณ 2-3 วัน
โดยในส่วนของการตรวจสอบนั้นจะแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ การตรวจสอบกับญาติ พ่อ-แม่ และการตรวจสอบกับพี่น้อง ซึ่งการหาความเหมือนทางพันธุกรรมจากรุ่นพ่อแม่มาเทียบกับลูกจะง่ายกว่าเทียบจากรุ่นหลาน หรือถ้าเทียบกับพี่น้องกันเองก็จะยังง่ายกว่าเพราะพี่น้องได้รับดีเอ็นเอมาจากพ่อและแม่คนละ 50 เปอร์เซ็นต์เท่ากันต่างกันที่ตรงตำแหน่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ลูกที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกันก็ไม่ได้มีดีเอ็นเอเหมือนกันเสียทีเดียวยกเว้นฝาแฝดเหมือนที่เกิดจากไข่และอสุจิตัวเดียวกัน เพราะเมื่อมีการแบ่งตัวของโครโมโซมคู่เหมือนจะเกิดการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วน (cross over)ในโครโมโซมนี้เป็นผลให้เกิดการรวมตัวใหม่ของยีน (gene recombination) ทำให้เมื่อยีนถูกถ่ายทอดไปไปรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้แต่ละคนมีรหัสดีเอ็นเอที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอนั้นจะมีเบสที่ซ้ำกันต่อเนื่องขนาดสั้น (Short tanderm : STR) ที่แสดงด้วยตัว A C G T อยู่มากมายหลายตำแหน่งบนโครโมโซมซึ่งอาจจะเรียงสลับต่างกันไปในแต่ละคน แล้วยังมีจำนวนซ้ำที่แตกต่างกันอยู่ด้วย โดยการเรียงโครโมโซมที่ต่างกันที่สลับกันเป็นช่วงได้รับผสมกันมาจากพ่อส่วนหนึ่งแม่ส่วนหนึ่งในจำนวนที่ต่างกัน ซึ่งความแตกต่างของจำนวนเบสที่ซ้ำนี้แสดงได้ถึงลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล เพื่อนำมาสร้างลายพิมพ์ดีเอ็นเอได้
2 เทคนิคตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอเทียบหาญาติ
ในปัจจุบันได้มีการนำเทคนิคทางด้านอณูชีววิทยา (Molecular biology) มาประยุกต์ใช้ในการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอด้วยกัน 2 เทคนิค คือ
1. เทคนิคอาร์เอฟแอลพี (Restriction Enzyme Fragment Length Polymorphism) ใช้ตรวจหาความแตกต่างของดีเอ็นเอโดยนำเอนไซม์ตัดจำเพาะมาตัดสายดีเอ็นเอที่ตำแหน่งจำเพาะ และนำไปเติมดีเอ็นเอตรวจสอบจำทำให้แถบฟิล์มเอกซเรย์มีสีดำตามแถบดีเอ็นเอที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งแถบดีเอ็นเอจำนวนมากนี้จะมีรูปแบบออกมาเหมือนบาร์โค้ด (bar code) ที่ถือเป็นลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจสอบความแตกต่างของดีเอ็นเอ 2 เส้นได้จึงนำมาเปรียบเทียบหาความแตกต่างของคนสองคนให้เห็นได้อย่างชัดเจน
2. เทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรส (Polymerase Chain Reaction) หรือเทคนิคพีซีอาร์ (PCR) เทคนิคนี้ถือว่ามีความสำคัญในการศึกษาและวิเคราะห์งานทางด้านดีเอ็นเออย่างยิ่ง ซึ่งอาศัยหลักการตรวจหาของแตกต่างของจำนวนเบสซ้ำในตำแหน่งบนโครโมโซม โดยการเพิ่มปริมาณของดีเอ็นเอในหลอดทดลองโดยใช้เอนไซม์ดีเอนเอโพลิเมอเรส และคู่ไพรเมอร์ที่มีความจำเพาะต่อลำดับเบสของดีเอ็นเอนั้นได้ ผลการทดลองที่ได้จะเป็นดีเอ็นเอ 1 หรือ 2 แถบเท่านั้น ดังการตรวจสอบที่ถุกต้องระหว่างคนสองคนจึงจำเป็นต้องตรวจสอบในจำนวนเบสซ้ำที่มากกว่า 1 ตำแหน่งบนโครโมโซม
ด้านการตรวจเทียบจำเป็นจะต้องเทียบตรวจที่ตำแหน่งโครโมโซมเดียวกัน โดยจะมีชื่อตำแหน่งของโครโมโซมบอก เนื่องจากดีเอ็นเอมีหลายตำแหน่งมาในโครโมโซมทั้ง 46 เส้นมีดีเอ็นเอมากถึง 3 พันล้านหน่วย เช่น สมมติว่าตรวจ 30 หน่วยหรือ 30 ที่ก็ต้องตรวจใน 30 ที่นั้นเหมือนกัน คือจะมีตำแหน่งที่ให้ตรวจสอบจำนวนมาก และในคนก็มีการทำชุดตรวจสอบออกมาเรียบร้อยแล้ว เมื่อผลการตรวจออกมาในบางวิธีก็สามารถตรวจเทียบด้วยตาดูได้ว่าโครงสร้าง A C T G ต่างๆ ตรงกันหรือไม่ แต่วิธีการที่ใช้กันก็จะมีการประมวลผลออกมาจากระบบคอมพิวเตอร์ได้เลย
ส่วนระยะเวลาในการตรวจหานั้นประมาณ 3-4 วัน ซึ่งขั้นตอนการสกัดดีเอ็นเอใช้เวลาประมาณ 1 วัน รวมแล้วรายหนึ่ง 2 – 3 วัน แต่ต้องมีทุกอย่างพร้อมทั้งเนื้อเยื่อผู้ตาย และญาติ ความยากลำบากคือการจะหาว่าจะเอาอะไรมาเทียบกัน เช่นเทียบว่าตรวจแล้วเกิดไม่ใช่ก็ต้องหาเนื้อเยื่อใหม่มาตรวจสอบ โดยทำลักษณะคล้ายๆกับการทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอไว้แล้วนำไปเทียบว่าตรงกับใคร
“พิมพ์แบบฟัน” อีกทางเลือกหากดีเอ็นเอสูญสลาย
นอกจากนี้ ผอ.ดีเอ็นเอเทค ยังเผยถึงการส่งเนื้อเยื่อเพื่อไปตรวจสอบในต่างประเทศว่านั้น ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาเพราะจำนวนเนื้อเยื่อที่ต้องตรวจมีมากจนไม่สามารถรองรับได้พอ ไม่ได้ติดปัญหาที่ความสามารถของนักวิชาการไทยแต่ติดอยู่ที่ติดขัดเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ ความรวดเร็ว และที่สำคัญในต่างประเทศจะมีฐานข้อมูลของประชากรพร้อมมากกว่าในประเทศไทย เช่น ชาติในยุโรปพอจะบอกได้ว่าประชาชนในประเทศของเขามีลักษณะดีเอ็นเอเรียงตัวต่างจากประเทศอื่นอย่างไร ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบได้รวดเร็วขึ้น
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือเมื่อร่างศพเน่าเปื่อยมาก และยิ่งหาเจอช้ามากเท่าไหร่เซลล์ก็จะถูกทำลายลงด้วยเอนไซม์ชื่อ “ดีเอ็นเนส” (DNAase) หรือสภาพศพอาจจะมีน้ำเหลืองไหลปะปนกันทำให้ไม่สามารถแยกเนื้อเยื่อของผู้เสียชีวิตแต่ละรายออกจากกันได้ว่ามาจากศพไหน ทำให้ต้องใช้วิธีการพิมพ์แบบฟันเอาไว้แทนเพราะตรวจหาดีเอ็นเอไม่ได้แล้ว และจึงจะนำแบบโครงสร้างกระดูกส่วนนี้ไปเทียบหาญาติอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับผู้ที่จะมาติดต่อรับญาติที่เสียชีวิตก็สามารถมาตรวจดีเอ็นเอของตัวเองไว้ได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อรอการนำมาเทียบกันของรหัสดีเอ็นเอที่กำลังจะทะยอยถอดรหัสออกมาจากเนื้อเยื่อของแต่ละศพ ทั้งนี้ญาติพี่น้องของชาวต่างประเทศก็สามารถจะตรวจสอบได้เช่นเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องบินข้ามประเทศมาตรวจ แค่เพียงตรวจด้วยดีเอ็นเอมาสเตอร์ชุดเดียวกัน คือตรวจดีเอ็นเอในช่วงตำแหน่งเดียวกัน นับว่าเทคโนโลยีด้านชีวภาพในด้านพันธุศาสตร์ได้พัฒนาก้าวหน้าจนสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้ดีในระดับหนึ่งทีเดียว