xs
xsm
sm
md
lg

จำแนกระบบเลือดและโลหิตหมู่พิเศษ Rh-

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในยามฉุกเฉินที่มีผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ป่วยจำนวนมาก ทำใหมีความต้องการเลือดมาช่วยเยียวยารักษาอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีการเกิดคลื่นยักษ์ถล่มบริเวณจังหวัดภาคใต้แถบทะเลอันดามันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็พื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวเอเชียและชาวยุโรปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประสบภัยจึงมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อันทำให้เกิดความต้องการเลือดที่แตกต่างกันไป

ทั้งนี้หมู่โลหิตพิเศษ หรือ Rh- เป็นหมู่โลหิตที่มีความต้องการมากที่สุด เพราะเป็นหมู่โลหิตที่มีในชาวยุโรปมากกว่าชาวเอเชีย ซึ่งโลหิตหมู่พิเศษ Rh- นี้เป็นอย่างไร ไปทำความเข้าใจ เพื่อจะได้ตามหาผู้ที่มีโลหิตหมู่พิเศษนี้มาช่วยกันบริจาค

กลุ่มเลือดมีมากถึง 24 ระบบ

ในเลือดประกอบด้วยเม็ดเลือดแดงและน้ำเลือด (plasma) ซึ่งมีสารประกอบหลายอย่าง ตัวหลักๆ คือ แอนติเจน (antigen) หรือสารก่อภูมิต้านทาน ซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ตามผิวเม็ดเลือดแดงทำหน้าที่สร้างภูมิต้านทาน และแอนติบอดี (antibody) หรือสารภูมิต้านทาน โดยในเลือดมี antigen และ antibody ที่เจาะจงหลายชนิด เพื่อความปลอดภัยในการถ่ายเลือดจึงจำเป็นต้องทดสอบเลือกในร่างกายให้ยอมรับ และไม่ให้เลือดตกตะกอน ซึ่งปัจจุบันเราตรวจสอบกลุ่มเลือดในการถ่ายเลือดถึง 24 ระบบ

ระบบเลือดที่ใช้เป็นพื้นฐานในการตรวจสอบได้แก่ ระบบเลือด ABO ซึ่งประกอบไปด้วย A B AB O และระบบเลือด Rh ประกอบด้วย Rh+ และ Rh- นอกจากนี้ยนังมีระบบอื่นๆ ที่นำมาพิจารณาในการถ่ายเลือดร่วมกันอีกเช่น MNS, Lutheran, Kell, Kidd เป็นต้น

A B O หมู่โลหิตที่รู้จักกันมากที่สุด

ในหมู่เลือดระบบ ABO จะมี antigenA และ antigenB เป็นตัวกำหนดหมู่เลือด แบ่งได้ดังนี้

กลุ่ม/groupแอนติเจน / antigenแอนติบอดีเอ /antibodyAแอนติบอดี บี /antibodyB
AA-มี
BBมี-
ABA และ B--
O-มีมี


(Group O พบมากสุด, A กับ B พบพอๆ กัน และ AB มีน้อยที่สุด)

ในการถ่ายเลือดนั้นถ้าเป็นไปได้จะไม่รับเลือดข้ามหมู่ แต่ถ้าเกิดกรณีจำเป็นจะต้องรับเลือดข้ามหมู่ จะหลักการพิจารณาไม่ให้ได้รับ antigen ชนิดเดียวกับ antibody มากนักเพราะจะทำปฏิกิริยากันและเกิดอันตรายแก่ผู้รับเลือด เช่น

ผู้ที่มีหมู่โลหิต O จะมี antibodyA และ B แต่ไม่มี antigenA จึงไม่เกิดปฏิกิริยากันทำให้เลือดไม่ตกตะกอน แต่ถ้ารับเลือดที่มีหมู่โลหิต A มาก็จะได้รับ antigenA เข้ามาด้วย ทำให้ antigenA ในหมู่ A ไปจับกับ antibodyA อันทำให้เลือดตกตะกอน ดังนั้นผู้ที่มีหมู่โลหิต O จะไม่สามารถรับเลือดจากหมู่โลหิตอื่นได้ ยกเว้นพวกเดียวกัน แต่สามารถบริจาคให้ได้กับทุกหมู่ (universal donor)

ส่วนผู้ที่มีโลหิตหมู่ AB จะรับเลือดได้จากทุกหมู่ (universal recipient) เพราะไม่มี antibodyA หรือ B (แม้จะรับได้ทุกหมู่ แต่ก็ต้องดูปริมาณการรับ หากรับเลือดหมู่อื่นเข้ามามาก อาจทำให้ antigen กับ antibody ทำปฏิกิริยากันได้)

ระบบเลือดแบบ Rh

ในการใช้ระบบเลือดแบบ Rh หรือ Rhesus (รีซัส) ซึ่งเป็นได้ 2 แบบคือ Rh+ และ Rh-

และเช่นกัน การจำแนกว่า เป็น Rh+ หรือ Rh- ก็ดูที่ antigen ซึ่งกรณีนี้คือ antigenD ที่อยู่ที่ผิวเม็ดเลือด

กลุ่ม/groupแอนติเจน / antigenแอนติบอดี / antibody D
Rh+D-
Rh--มี


มนุษย์ส่วนใหญ่มี antigenD (ซึ่งก็คือ Rh+) โดยเฉพาะกลุ่มชนมองโกลอยด์ หรือชาวเอเชียและในคนไทยมีมากถึง 99% ส่วนคนไทยที่ไม่มี antigenD (ซึ่งก็คือ Rh-) มีประมาณ 1 ใน 500 คน ขณะที่กลุ่มชนคอเคซอย หรือชาวยุโรปมีสัดส่วนของผู้ไม่มี antigenD (Rh-) มากกว่า อย่างที่อังกฤษมีผู้ที่มี Rh- มากถึง 10% ต่อจำนวนประชากร

เราจึงเรียกพวกที่มี Rh- ว่า “ผู้ที่มีโลหิตหมู่พิเศษ” (เพราะหายากนั่นเอง)

ทั้งนี้ปกติการระบุหมู่เลือดจะรายงานผลออกมา เป็น 2 ระบบคือ ABO และ Rh พร้อมๆ กัน ได้แก่ A Rh+, A Rh-, B Rh+, B Rh-, AB Rh+, AB Rh-, O Rh+, O Rh-
แต่จะไม่ระบุคำว่า “Rh” เช่น A Rh- ก็จะระบุไปเลยว่า A- เป็นต้น อีกทั้งโดยพื้นฐานคนส่วนใหญ่ เป็น Rh+ เราจึงไม่นิยมระบุไว้ด้วยซ้ำ

ดังนั้นเวลารายงานหมู่เลือด หากเราได้รับแจ้งว่า เรามีหมู่เลือด A นั่นหมายความว่า เรามีหมู่เลือด A Rh+ แต่ถ้าเรามีหมู่เลือด Rh- เราจะได้รับแจ้งไว้ด้วย เช่น A- เป็นต้น

และในกรณีที่สภากาชาดประกาศว่าต้องการหมู่เลือด Rh- เป็นจำนวนมากก็หมายความว่า ต้องการผู้ที่มีเลือด A-, B- AB- และ O- ซึ่งเลือดประเภทนี้มีในชาวต่างชาติ (ยุโรป) มากกว่า ส่วนผู้ที่มีหมู่โลหิต A, B, AB และ O ซึ่งเป็น Rh+ ก็บริจาคได้เช่นกัน ที่สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลใกล้บ้านท่านทุกแห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น