xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มเทคสรุปผลงานส่งท้ายตลอดปี 47 ต้อนรับปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็มเทคสรุปผลงานเด่นในรอบปี ทั้งที่สร้างชื่อในระดับประเทศและโกอินเตอร์ไปดังไกลในงานนักประดิษฐ์นานาชาติที่เมืองเบลเยี่ยม โดยผลิตวัสดุทรงคุณประโยชน์หลากหลายต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรผลิตฟิล์มห่อที่ยืดอายุ ผัก-ผลไม้ได้ การแพทย์ผลิตที่ปิดแผลจากแกนปลาหมึก หรือสิ่งแวดล้อมสร้างเซรามิกส์จากเถ้าของเสียในโรงงาน

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือเอ็มเทค กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์ประจำปี 2547 ซึ่งปีนี้มีผลงานเด่นที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นผลงานระดับประเทศและผลงานที่ไปสร้างชื่อในต่างประเทศ เริ่มต้นกับผลงานของนักวิจัยในศูนย์ที่สร้างไปคว้ารางวัลรองชนะเลิศสาขาบรรจุภัณฑ์จากเบลเยี่ยม

1.ฟิล์มรักษาความสดสำหรับผลิตผลในเขตร้อน
โดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ดร.อศิรา เฟื่องฟูชาติ และคณะของเอ็มเทค ได้สร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุผลไม้ในเขตร้อน ที่ชนะรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) สาขาบรรจุภัณฑ์และการเก็บรักษา จากงาน บรัสเซลส์ ยูเรกา 2004 ผลงานดังกล่าวเป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ผลิตผลเขตร้อนเรียกว่า “ฟิล์มรักษาความสดสำหรับผลิตผลในเขตร้อน” สามารถควบคุมสภาวะบรรยากาศภายในบรรจุภัณฑ์ เพื่อชะลอกระบวนการทางชีวภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การคายน้ำ และการสุก เป็นการช่วยรักษาคุณภาพและยืดอายุผักและผลไม้สดได้ ซึ่งสามารถยืดอายุผักและผลไม้สดหลังการเก็บเกี่ยวได้ถึง 2-4 เท่า

2.เทคนิคการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็วทางการแพทย์
ผลงานถัดมาคือเทคนิคการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็วทางการแพทย์ (Medical Rapid Prototyping) ของ ดร. จินตมัย สุวรรณประทีป ที่นำเทคโนโลยีการสร้างต้นแบบรวดเร็ว (Rapid Prototyping) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างหุ่นจำลองทางการแพทย์ 3 มิติ (Medical Model) ที่สามารถใช้ในการวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัดล่วงหน้า ตลอดจนการออกแบบและสร้างวัสดุฝังใน (Implant) โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานภาพถ่ายทางการแพทย์

เทคนิคดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับกับเทคนิคดั้งเดิมที่ศัลยแพทย์อาศัยเพียงแค่ภาพถ่ายทางการแพทย์ ในการวางแผนการผ่าตัดรักษา และการปั้นแต่งวัสดุฝังในด้วยมือที่สามารถกระทำในห้องผ่าตัดหลังจากที่เปิดแผลผ่าตัดแล้วเท่านั้น พบว่าเทคโนโลยีการสร้างต้นแบบรวดเร็วดังกล่าว สามารถเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยในการผ่าตัดรักษาได้อย่างมาก อีกทั้งผลงานดังกล่าวส่งผลให้ ดร.จินตมัยได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2547”

3.วัสดุตกแต่งแผลจากไคติน/ไคโตซาน
อีกผลิตภัณฑ์ที่ทางเอ็มเทคได้พัฒนาและเป็นประโยชน์กับทางการแพทย์คือ "วัสดุตกแต่งแผลจากไคติน/ไคโตซาน” ที่มีนักวิจัยร่วมพัฒนาถึง 6 คน นั่นคือ ดร.วนิดา จันทร์วิกูล, ดร.มาลินี ประสิทธิ์ศิลป์, ดร.สิริพร โตนดแก้ว, ดร.ภาวดี เมธะคานนท์, ดร.ก้องเกียรติ คงสุวรรณ และบุญล้อม ถาวรยุติการต์ ซึ่งขณะนี้ได้ต้นแบบวัสดุปิดแผลจากไคติน/ไคโตซาน (ที่ผลิตจากแกนหมึก) จำนวน 2 ต้นแบบ คือ แผ่นฟิล์มไคติน-อะคริลิก แอซิด ไฮโดรเจล และแผ่นฟิล์มคาร์บอกซีเมธิลไคโตซาน ไฮโดรเจล ซึ่งต้นแบบทั้ง 2 นี้ได้ผ่านการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์แล้ว (พบว่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์)

วัสดุปิดแผลนี้มีความสามารถในการดูดซับน้ำได้มากกว่า 20 เท่าตัว โดยไม่ฉีกขาดง่ายขณะใช้งาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดูดซับน้ำเหลืองจากแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกและขณะนี้กำลังดำเนินการการทดสอบการใช้งานของต้นแบบทั้งสองในสัตว์ทดลอง (หนู) ส่วนไคตินและไคโตซานที่นำมาผลิตวัสดุทางการแพทย์นี้ต้องมีคุณภาพสูง (medical grade) ซึ่งทางเอ็มเทคก็สามารถเตรียมได้ในระดับมาตรฐาน (medical grade) ของแคนาดา และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนต่อไป

4.ไทเทเนียแบบหลอดนาโน
และทางเอ็มเทคก็ได้พัฒนาไทเทเนีย (อีกชื่อหนึ่งของไททาเนียมไดออกไซด์) แบบหลอดนาโน มีเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก 6-10 นาโนเมตร ยาว 33-84 นาโนเมตร ซึ่งเป็นวัสดุที่เหมาะกับงานที่ต้องการความเรียบเนียนและแสงที่ตามองเห็นผ่านได้ดีเนื่องจากขนาดของไทเทเนียแบบหลอดนาโนเล็ก ทำวัสดุที่ต้องการให้สามารถกันรังสียูวี (UV) ได้เพราะสามารถดูดซับดีเนื่องจากมีพื้นที่ผิวสูง

หรือใช้ทำวัสดุที่ต้องการให้มีการถ่ายเทอากาศดี ความร้อนแพร่ผ่านได้ช้า และน้ำหนักเบา เนื่องจากไทเทเนียแบบหลอดนาโนกลวงและในปริมาตรที่เท่ากันจะมีน้ำหนักน้อยกว่าผงนาโนของไทเทเนีย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไทเทเนียแบบหลอดนาโนไปใช้ได้คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวหนัง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์กันความร้อน ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เร่งปฏิกิริยาเคมีโดยใช้แสงยูวีช่วย

5.อีโคเซรามิกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนผลงานสุดท้ายในรอบปีที่ส่งเสริมส่งแวดล้อมและได้รับรางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ นั่นคือ การทำเซรามิกส์ชนิดมัลไลท์เซรามิกส์จากเถ้าแกลบที่เรียกว่า “อีโคเซรามิกส์” คือสามารถลดเถ้าแกลบที่เป็นของเสียจากโรงผลิตกระแสไฟฟ้าผสมตะกอนน้ำทิ้งจากโรงงานอลูมิเนียมโดยไม่ต้องเติมวัตถุดิบชนิดอื่น อีกทั้งเซรามิกส์ที่ได้ยังมีคุณสมบัติพิเศษทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน ทนต่อสารเคมี

อีโคเซรามิกส์นี้ยังมีความแข็งแรงที่อุณหภูมิสูง สามารถขึ้นรูปต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานได้หลากหลาย เช่น ถ้วยครูซิเบิล ท่อ ลูกบด หรือโฟม เป็นต้น ในขั้นตอนการผลิตสามารถใช้กระบวนการและเครื่องมือที่พื้นฐานของโรงงานเซรามิกส์ทั่วไป และมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับมัลไลท์เซรามิกส์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปใช้งานที่อุณหภูมิได้สูงถึง 1600 องศาเซลเซียส สามารถนำไปใช้งานแทนเซรามิกส์แบบเดิมซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

สำหรับผู้วิจัยคือ ดร. ผกามาศ แซ่หว่อง และนางสาวอุมาพร สังข์วรรณะ โดยผลงานดังกล่าวชนะเลิศรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) สาขาการควบคุมมลพิษในสิ่งแวดล้อม (Pollution control-Environment) งานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2004 ประเทศเบลเยี่ยม

นับว่าปีนี้เอ็มเทคมีผลงานที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง และสร้างประโยชน์ได้จริงให้กับสังคม หวังว่าปีต่อๆ ไป ทางเอ็มเทคจะมีผลงานที่ดีอย่างนี้ออกมาเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น