xs
xsm
sm
md
lg

ย่ำภูเรือในคืนหนาว ยลแสงดาวคราวเรียงตัวกับ “สมาคมดาราศาสตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดูดาว...กิจกรรมอันทรงเสน่ห์ในยามท้องฟ้ามืดมิดที่หลายคนหลงใหล แต่สำหรับในเมืองที่มีแสงไฟสว่างไสวยามค่ำคืนเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อกิจกรรมดังกล่าว หลายคนจึงต้องดั้นด้นออกไปหาสถานที่ซึ่งห่างไกลจากแสงรบกวน

เช่นเดียวกับสมาคมดาราศาสตร์ไทย (The Thai Astronomical Society) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้ที่หลงใหลเหล่าวัตถุประหลาดบนฟากฟ้า ก็ได้จัดกิจกรรม “ดาราศาสตร์สัญจร” ขึ้นเป็นประจำ เพื่อให้สมาชิกและผู้ที่สนใจได้ทำกิจกรรมที่หาโอกาสได้ยากยิ่งสำหรับชาวเมืองใหญ่อย่างพวกเรา

เมื่อช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา "ทีมงานผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมดูดาว ณ อุทยานแห่งชาติภูเรือ อ.ภูเรือ จ.เลย กับสมาคมดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางสมาคมฯ ให้ชื่อว่า “เรียงร้อยสร้อยไข่มุก ทะเลดาวบนภูเรือ” โดยเป้าหมายสำหรับกิจกรรมครั้งนี้คือการไปสังเกตปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเรียงตัวกันตามลำดับ คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ รวมถึงกิจกรรมดูดาวที่ชีวิตคนเมืองไม่มีโอกาสได้สัมผัสเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน

สมาชิกกว่า 50 ชีวิตมารวมตัวกันที่สมาคมดาราศาสตร์ในวันแรกของการเดินทาง ซึ่งหลายคนมีความสนใจดาราศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่ และก็มีอีกหลายคนที่ไม่เคยดูดาวแต่รักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ จึงเดินทางมากับสมาคมเพื่อว่าอาจจะได้สาระอะไรกลับไปบ้าง วันนั้นเราใช้เวลาทั้งวันไปกับการเดินทาง เมื่อไปถึงอุทยานแห่งชาติภูเรือในยามค่ำคืน หลายคนสะท้านกับความหนาวเย็นของอากาศบนภูเรือ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยกับการอยู่บนรถกว่า 10 ชม. เราจึงแยกย้ายกันเข้าเต็นท์เพื่อเก็บแรงสำหรับวันต่อไป

เรียนรู้แผนที่ฟ้า ก่อนขึ้นภูไปดูของจริง

วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่เรารอคอย เพราะกิจกรรมหลักจะอยู่ในค่ำคืนนี้ แต่ด้วยความที่เราเป็นมือใหม่ ทางสมาคมจึงต้องปูพื้นฐานในการดูดาวให้เสียก่อน งานนี้อาจารย์ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมมาสอนเทคนิคการดูดาวด้วยตัวเองเลยทีเดียว สิ่งขาดไม่ได้ในการดูดาวก็คือ “แผนที่ฟ้า” ซึ่งสมาชิกได้รับแจกระหว่างการลงทะเบียน แผนที่ดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยสมาคม ใช้ได้กับพื้นที่ละติจูด 15 องศา (ดาวเหนืออยู่ที่ 15 องศา) และได้แบ่งท้องฟ้าเป็น 2 ซีก คือ ขั้วฟ้าเหนือและขั้วฟ้าใต้ อาจารย์ประพีร์แนะนำให้ศึกษาการใช้แผนที่ฟ้าขั้วฟ้าเหนือหรือด้านหน้ายิ้มก่อน เพราะดาวในซีกฟ้านี้สังเกตได้ง่าย

การใช้แผนที่นั้นต้องยกตั้ง สิ่งแรกที่สมาชิกได้เรียนรู้คือการหา “จุดจอมฟ้า” คือจุดที่อยู่กลางศีรษะของแต่ละคน โดยยกกำปั้นขึ้นมาในระดับสายตาจากนั้นก็ยกกำปั้นขึ้นไป 9 กำปั้น (1 กำปั้นเท่ากับ 10 องศา) ก็จะได้มุม 90 องศา และชี้ไปที่จุดจอมฟ้า อีกตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ในการดูดาวคือตำแหน่งของ “ดาวเหนือ” โดยปกติแล้วเราจะหาทิศเหนือโดยใช้เข็มทิศ แต่อาจารย์ประพีร์แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ให้น้อยที่สุด และอุปกรณ์ช่วยที่ดีที่สุดก็คือแผนที่ฟ้า วิธีใช้คือหมุนเวลากับวันที่ให้ตรงกับเวลาที่เราดูดาว แผนที่จะแสดงกลุ่มดาวบนท้องฟ้าของเวลาขณะนั้น เลือกกลุ่มเพื่อใช้อ้างอิงตำแหน่งดาวเหนือ

บรรยากาศในการฟังบรรยายเต็มไปด้วยความใคร่รู้ เพราะเราก็เหมือนกับเด็กๆ ที่มักจะตื่นเต้นกับอะไรใหม่ และดูเหมือนเจ้าหน้าที่เองก็จะคิดอย่างนั้นเหมือนกัน จึงให้เราทำกิจกรรม (เกือบ) เข้าจังหวะ หาทิศต่างๆ ที่มีอยู่ 8 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยพวกเราต้องกางแขนหันซ้ายหันขวา หลายคนคงจะนึกถึงตอนตัวเองเป็นเด็กอนุบาลเป็นแน่

และยังมีคำขวัญให้เราท่องจำว่า “โลกหมุนด้วยกฎมือขวา ฟ้าหมุนด้วยกฎมือซ้าย” โดยที่นิ้วหัวแม่มือของทั้งสองข้างชี้ไปทางทิศเหนือ วิธีนี้ทำให้เราเข้าการหมุนของโลกที่ไม่ได้หมุนไปทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เพราะการเข้าใจอย่างนั้นจะทำให้เราสับสนได้ง่ายๆ

หลังจบการบรรยายของสมาคม ทางหัวหน้าอุทยาน นายปัญญา โคตรแสนลี ได้มาแนะนำสถานที่ต่างๆ ของอุทยาน และทำให้เรารู้ว่ามีเต่าที่วิ่งเร็วกะเขาเหมือนกัน ซึ่งเป็นสัตว์ประจำอุทยาน ที่ชื่อว่า “เต่าปูลู” วิ่งได้ 20-30 กม./ช.ม. (แซงกระต่ายได้หรือเปล่า ตรงนี้หลายคนสงสัย)

เดินเท้า มุ่งหน้าสู่ยอดภู

เมื่อจบการเตรียมความพร้อมด้านทฤษฎี ประมาณบ่ายโมงเราก็เตรียมความพร้อมกับร่างกายของตัวเองมุ่งหน้าขึ้นสู่ยอดภูที่มีระยะทางกว่า 5 ก.ม. ซึ่งผู้ร่วมทริปส่วนใหญ่สมัครใจเดินเท้าขึ้นไปเพราะต้องการที่จะสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด แต่ก็มีสมาชิกบางคนที่เลือกจะรอติดรถของสมาคมไปทีหลัง สำหรับคนที่เคยพิชิตยอดภูกระดึงแล้วคงจะรู้สึกว่าเส้นทางสู่จุดหมายปลายภูเรือครั้งนี้ไม่ยากลำบากนัก ระหว่างทางเราได้แวะพักชมจุดท่องเที่ยวของอุทยานหลายจุด และมีจุดที่หลายคนประทับใจคือ “ลานสาวเอ้” ที่เป็นลานกว้างและมองเห็นภูเขาล้อมรอบ

สำหรับบรรยากาศสองข้างทางอาจจะไม่ชวนให้รื่นรมย์นักเพราะเป็นบรรยากาศที่ดูแห้งแล้ง ทั้งนี้อาจเนื่องจากเป็นช่วงหน้าหนาว ต้นไม้และใบหญ้าจึงนิ่งสงบเหมือนอยู่ในช่วงจำศีล แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้เราผิดหวังนักเพราะสิ่งที่รอเราอยู่คือท้องฟ้าบนยอดภูของค่ำคืนที่จะมาถึง เราใช้เวลาเพียง 3-4 ช.ม.ก็ไปถึงปลายทาง ซึ่งก็เป็นเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ระหว่างที่คอยให้ราตรีกาลมาเยือน หลายคนใช้เวลาดื่มด่ำกับทะเลหมอก บ้างก็รอชมบรรยากาศพระอาทิตย์ตกดิน (แต่ก็ไม่เห็นหรอกเพราะหมอกทัศนะไปหมด) และบ้างก็นมัสการพระพุทธรูป “นาวาบรรพต” เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต

ความมืดเริ่มย่างกลายเข้ามา พร้อมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ เช่นกัน ไม่นานนักคณะที่ติดรถของสมาคมก็มาถึง ตอนนี้เองที่ “พี่บ๊วย” สุกัญญา พึ่งผลงาม เจ้าหน้าที่สมาคมที่คอยดูและทุกข์สุขของเราก็นำเครื่องกันหนาวมาให้พวกเราด้วยความเป็นห่วงเป็นใย นอกจากพี่บ๊วยแล้วกิจกรรมดูดาวครั้งนี้คงจะจืดชืดไปไม่น้อย ถ้าขาดสีสันจาก “เจ๊เอี๊ยด” เฉลิมชัย มะกล่ำ อาสาสมัครที่คอยช่วยเหลือและสร้างความฮาเฮให้กับพวกเรา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่สมาคมฯ ก็เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้สมาชิกได้ชมวงแหวนของดาวเสาร์และกลุ่มดาวคนคู่

นอกจากกล้องโทรทรรศน์ของสมาคมฯ แล้ว สมาชิกบางคนก็อุตส่าห์หอบหิ้วกล้องฯ ส่วนตัวขึ้นมาสังเกตดวงดาวบนยอดภูด้วยตัวเอง แต่เมื่อถึงเวลาจริงก็ไม่สามารถตั้งกล้องได้ แม้ “เจ๊เอี๊ยด” จะได้พยายามช่วยอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจ้าของกล้องและ “เจ๊เอี๊ยด” ไม่เคยได้ลองใช้มาก่อนจึงไม่คุ้นเคย (นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องศึกษาอุปกรณ์และทดลองใช้ให้ดีก่อนจะนำไปใช้ในภาคสนาม)

เปิด “แผนที่ฟ้า” ค้นหาดวงดาว

เมื่อดาวเริ่มปรากฏบนท้องฟ้า เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ก็ให้สมาชิกดูแผนที่ฟ้าและบอกกลุ่มดาวต่างๆ จากนั้นก็ไล่ดูกลุ่มดาวจักราศีต่างๆ สมาชิกหลายคนเมื่อเริ่มใช้แผนที่ดาวและสังเกตดาวได้คล่องแล้วก็ออกไปดูดาวด้วยตัวเอง
บ้างก็ไปสังเกตวงแหวนของดาวเสาร์จากกล้องโทรทรรศน์ของสมาคมฯ บางคนก็เลือกฟังบรรยายความรู้ด้านดาราศาสตร์จากเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินกับการดูดาวนั้น “ความหนาว” ก็เป็นอุปสรรคพอสมควร โดยอุณหภูมิบนยอดภูเรือตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 10 องศาเซลเซียส

บนยอดภูคืนนั้นมีดาวมากมายบนท้องฟ้า เป็นสิ่งที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับค่ำคืนในเมืองกรุงที่ถูกรบกวนจากแสงไฟจนไม่สามารถสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติอันทรงเสน่ห์นี้ได้ เราดูดาวกันได้ 2-3 ช.ม. ก็ต้องกลับไปพักผ่อนเพื่อที่จะลุกขึ้นมาดูปรากฏการณ์ “สร้อยไข่มุก” อีกครั้ง ในเช้าตรู่ตอนตี 3 ของอีกวัน ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ของสมาคมบางส่วนยังคงอยู่ เพื่อถ่ายภาพดาวต่างๆ ที่จะนำไปประกอบพจนานุกรมดาราศาสตร์ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมเอง โดยจะแจกจ่ายให้กับสถาบันการศึกษาและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” จึงขอสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่สมาคมในครั้งนี้ด้วย

อดทนสู้หนาว ถ่างตาดูดาวเคราะห์เรียงตัว

เมื่อถึงเวลา ตี 3 สมาชิกลดลงไปกว่า 2 ใน 3 อาจจะด้วยความเหนื่อยอ่อนหรือความหนาวอันโหดร้ายก็ตาม จึงเหลือสมาชิกประมาณ 10 ชีวิต ที่ยอมฝ่าฟันความลำบากมาสังเกตปรากฏการณ์ “สร้อยไข่มุก” บนยอดภูอีกครั้ง ก่อนหน้านั้นคาดว่าจะเห็นดาวเคราะห์เรียงตัวตามระบบสุริยะทั้ง 5 ดวง แต่ก็ได้รับแจ้งจากทางสมาคมแล้วว่ายังไม่สามารถสังเกตเห็นดาวพุธได้ เนื่องจากช่วงเวลาที่สังเกตได้นั้นดาวพุธยังไม่โพล่พ้นขอบฟ้า

ลักษณะการเรียงตัวของดาวเคราะห์ดังกล่าวเรียงตัวเป็นเส้นโค้งพาดข้ามศีรษะจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก เวลาตี 5 กว่า ทางทิศตะวันออกสังเกตเห็นดาวศุกร์อยู่เหนือขอบฟ้าประมาณ 15 องศา (วัดได้ 1 กำปั้นครึ่ง) ดาวอังคารอยู่ถัดขึ้นไปอีกประมาณ 3 องศา (วัดด้วยความกว้างของนิ้วชี้และนิ้วกลาง) จากนั้นวัดขึ้นไปอีก 60 องศา (6 กำปั้น) เป็นดาวพฤหัส และหันกลับไปทางทิศตะวันตกจะสังเกตเห็นดาวเสาร์ที่มุม 60 องศา จากขอบฟ้า

เราไม่เพียงสังเกตดาวเคราะห์เหล่านี้ด้วยตาเปล่าเท่านั้น เพราะทางสมาคมได้ตั้งกล้องโทรทรรศน์ไว้ให้สังเกตดาวพฤหัสและวงแหวนของดาวเสาร์ด้วย ระหว่างที่สมาชิกดูดาวก็มีหมอกมาบดบังทรรศนะเป็นบางครั้ง หลายคนคาดหวังว่าจะดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าแต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อหมอกลงหนาเกินไป และเมื่อแสงแห่งยามเช้ามาเยือนทุกคนก็เตรียมพร้อมอำลาภูเรือ

หลังจากเก็บสัมภาระต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เราก็เข้าไปกล่าวลาหัวหน้าอุทยานและขอบคุณในความกรุณาของทางอุทยานที่อนุญาตให้เราได้ขึ้นไปศึกษาปรากฏการณ์ท้องฟ้าเป็นกรณีพิเศษ แต่เมื่อจะออกเดินทางเกิดเหตุขัดข้องทำให้สตาร์ทรถไม่ติด เราต้องหยุดรอให้ช่างซ่อมเครื่องยนต์กว่า 3 ชั่วโมง และก็มีการแซวกันเล็กน้อยว่าถ้าซ่อมไม่เสร็จเราจะกลับขึ้นภูไปดูดาวตกคนคู่กันต่อ ดีนะที่ยังเช้าอยู่ ไม่งั้นสมาชิกหลายคนที่ต้องไปทำงานในวันรุ่งขึ้นคงลำบาก

เด็กไทยใจรักดาราศาสตร์ ขอสัมผัสดวงดาวบนท้องฟ้าจริง

ระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” จึงใช้เวลาว่างที่เหลือไปทำความรู้จักกับสมาชิกบางคนในคณะทัวร์ เริ่มจากสมาชิกที่อายุน้อยที่สุด คือ ด.ญ.ธีริศา ประสมศักดิ์ หรือน้องกวาง นักเรียนชั้น ป.4 จาก ร.ร.ธีรศาสตร์ จ.ราชบุรี เด็กหญิงมาพร้อมกับเสียงเหน่อที่เป็นเอกลักษณ์ และใจรักการศึกษาท้องฟ้ายามค่ำคืน

“ที่หนูมาเพราะหนูชอบดูดาว โตขึ้นหนูอยากเป็นนักดาราศาสตร์ค่ะ” น้องกวางกล่าว แม่ของน้องกวางกล่าวเสริมว่าลูกสาวของตนชอบเรื่องดวงดาวมาก และรบเร้าให้มาในกิจกรรมนี้ เธอจึงต้องมาเป็นเพื่อนลูกสาว อยากให้ลูกสาวได้มีประสบการณ์ตรงในการดูดาว อีกทั้งต้องการจะมาสอบถามข้อมูลจากเลขาธิการสมาคมฯ ที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ว่าโอกาสลูกสาวเธอมีแววพอที่จะเป็นนักดาราศาสตร์ได้หรือไม่ และมีความก้าวหน้าแค่ไหนในการประกอบอาชีพทางด้านนี้

จากการสอบถามอาจารย์ประพีร์ ทำให้ทราบว่าอนาคตอันใกล้คือประมาณปี พ.ศ. 2550 ประเทศจะมี “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะให้คนที่มีใจรักในดาราศาสตร์มีโอกาสสร้างความก้าวหน้าในอาชีพนี้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่แหล่งงานรองรับ ผู้ที่มีแววอัจฉริยะทางดาราศาสตร์จึงหันไปศึกษาสาขาที่สร้างรายได้และผลตอบแทนที่มากกว่า คนเหล่านั้นจึงเป็นเพียงนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่แบ่งเวลาว่างจากงานประจำมาทำกิจกรรมที่ชอบนี้

ในคณะทัวร์ยังมีเยาวชนที่มีความสามารถด้านดาราศาสตร์อีกคือ นายวเรศ จันทร์เจริญ หรือน้องกอล์ฟ นักเรียนชั้น ม.3 จาก ร.ร.อัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งผ่านการคัดเลือก “ค่ายฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก” รอบ 20 คนสุดท้ายของภาคกลาง และด้วยความฉลาดบวกกับความน่ารักของน้องกอล์ฟ ทำให้เขาเป็นขวัญใจของพี่ๆ ป้าๆ ในคณะทัวร์ น้องกอล์ฟกล่าวว่าเขาเริ่มสนใจดาราศาสตร์จากการที่ครูให้ทำรายงานเรื่องกล้องโทรทรรศน์ เขาจึงไปซื้อหนังสือเพื่อหาข้อมูล พอถึงช่วงปิดเทอมที่มีเวลาว่างมากเขาจึงหยิบหนังสือเหล่านั้นมาอ่าน ทำให้เขาเกิดความหลงใหลในศาสตร์นี้ขึ้นมา

“ปกติชอบดูดาว ก็ดูดาวเฉพาะว่างๆ ดูปรากฏการณ์พิเศษๆ อะไรแบบนี้นะครับ คือดูแถวบ้านที่สมุทรสาคร ที่มานี่เพราะอยากมาหาประสบการณ์ อยากมาเจอสตาฟ (เจ้าหน้าที่) อยากลองสนามจริงเพราะที่บ้านดูไม่ได้ขนาดนี้ ที่มีอุปกรณ์พร้อมกว่า ท้องฟ้าเห็นดาวได้ชัดกว่า” หนุ่มน้อยหน้าใสกล่าว พร้อมทั้งชี้ถึงประโยชน์ของการดูดาวว่าช่วยก่อให้เกิดจินตนาการและความรู้

การเดินทางไปสัมผัสดวงดาวบนท้องฟ้าจริงในครั้งนี้ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ร่วมเดินทางไม่น้อย ขณะที่หลายคนคงคิดว่าการศึกษาเรื่องดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่เราต้องไม่ลืมว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตล้วนเป็นส่วนหนึ่งของดวงดาว เพราะการศึกษาเอกภพก็เป็นเสมือนการส่องกระจกมองตัวเอง การมองดูดวงดาวทำให้เราเห็นว่ายังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่โอบล้อมเราอยู่ และเมื่อเรามองจนตระหนักว่าตัวเราเป็นเพียงธุลีเดียวเดียวในห้วงจักรวาล เมื่อนั้นความเห็นแก่ตัวคงจะลดลง 
กำลังโหลดความคิดเห็น