นักเคมีเตือนสร้างห้องแล็บวิทยาศาสตร์ให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เผยผู้ทำงานในแล็บประจำเสี่ยงเป็นมะเร็ง ระบบสืบพันธุ์บกพร่อง และอายุขัยสั้นกว่าคนทำงานในสำนักงาน ชี้ห้องแล็บราชการไทยเลือกประมูลจากราคาต่ำสุด นอกจากไม่ได้มาตรฐานแล้วยังทำให้บุคลากรตายผ่อนส่งได้
มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “สุขภาพ ความปลอดภัยและการประหยัดพลังงานในห้องปฏิบัติการ” (Health, Safety and Energy Saving in Laboratories) ที่ห้องประชุมอาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.พิชัย โตวิวิชญ์ ประธานกรรมการจัดงาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยประหยัดพลังงาน ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิด้วย
ทั้งนี้ ศ.ดร.ประดิษฐ์ เชี่ยวสกุล ประธานในพิธีเปิดการประชุมได้กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อ 70 ปีกว่าปีก่อนเริ่มมีห้องปฏิบิตการวิทยาศาสตร์ในจุฬาฯ แต่ก็ไม่มีปัญหาเพราะมีคนจำนวนน้อย เพดานห้องก็สูงเพื่อการถ่ายเทอากาศที่ดี แต่ในสมัยนี้การออกแบบห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เป็นไปตามแบบของสถาปนิกซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ผู้ประกอบการในเรื่องนี้ก็รู้ไม่จริง ทำให้เกิดปัญหาต่งๆ มากมายตั้งแต่ปัญหาต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และการใช้พลังงานมากเหลือเกิน
ทางด้าน ศ.ดร.เบลา เทอร์ไน (Prof.Dr.Bela Ternai) ราชบัณฑิตทางเคมีประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย เปิดเผยผลการสำรวจสภาพห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บว่า ผู้ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มีโอกาสเป็นมะเร็ง หรือเนื้องอกมากกว่าผู้ที่ทำงานในสำนักงานถึง 30% อีกทั้งมีความบกพร่องของระบบสืบพันธุ์มากกว่า 16% และมีอายุขัยสั้นกว่าถึง 10 ปี
ศ.ดร.เทอร์ไน อธิบาย่วา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีความบกพร่องในเรื่องต่างๆ มากมาย เช่ย การถ่ายเทอากาศ (Ventilation) ส่วนมากมีไม่เพียงพอ ทำให้มีกลิ่นเหม็นและมีสารพิษสะสมอยู่ในห้องนั้น เป็นอันตรายผ่อนส่ง บางทีก็มีความเข้าใจผิดคิดว่ามีเครื่องปรับอากาศก็ใช้ได้แต่ความจริงเครื่องปรับอากาศเป็นการหมุนเวียนอากาศไม่ใช่ถ่ายเทอากาศ นอกจากนี้ตู้ดูดควันในห้องปฏิบัติการทางเคมีและชีววิทยาส่วนใหญ่ยังออกแบบและติดตั้งไม่ถูกต้อง เช่น การต่อท่อหักงอ และตรงปลายท่อมักจะมีที่ครอบ หรืองอ 90 องศา ทำให้แก๊สพิษในตู้ดูดควันพุ่งออกไปไม่เต็มที่ อีกทั้งยังมีเสียงดังและใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเกินไป ปัจจุบันมีตู้ดูดควันสามารถประหยัดค่าไฟได้มหาศาล
นอกจากนี้ ดร.ประไพพิศ แจ่มสุกใส เทอร์ไน ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบห้องปฏิบัติการและกรรมการความปลอดภัยของคณะกรรมการแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้ยกตัวอย่างว่า หน่วยราชการไทยที่มักจะใช้วิธีการประมูลโดยยึดราคาต่ำสุดเป็นเกณฑ์ ทำให้ได้ครุภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ และมีการติดตั้งที่ไม่ถูกหลักการ ซึ่งมาตรฐานสากลไม่ให้ทำก็ยังดำเนินการอยู่ในประเทศไทยมากมาย และทำให้ทางราชการต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการแก้ไขให้ถูกต้องปลอดภัยในภายหลัง
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.พิชัย ได้กล่าวถึงการออกแบบห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ว่า เป็นทั้งศาตร์และศิลป์เพราะเกี่ยวข้องกับสารเคมีและ/หรือเชื้อจุลินทรีย์ มีมลภาวะและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฎิบัติงานอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งยังเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย จำเป็นจะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์จริงๆ จึงจะได้ผลดี มิฉะนั้นก็อาจจะเกิดอันตรายตายผ่อนส่งได้ และเนื่องจากผู้ประกอบการในด้านนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้จริง จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากทำไม่ถูกต้องย่อมหมายถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในระยะยาว