xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์บางมดชี้ หุ่น "แอนดรอยด์" ไม่ไกลความจริง ถ้าสร้างอย่างไม่ยึดติด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดเสวนา “เทคโนโลยีหุ่นยนต์สู่ชีวิตจริง” สร้างแนวพัฒนาอวัยวะเทียมจากการสั่งการด้วยคอมพิวเตอร์มาสั่งการด้วยระบบประสาทของคน พร้อมแนะนำเด็กรุ่นใหม่ตั้งใจเรียนรู้ทดลอง เชื่อมั่นงานวิจัยไม่ต้องใช้เงินมากก็สร้างผลงานดีได้ขอเพียงรู้จักคิดให้แตกต่างคนอื่น

วันนี้ (9 ธ.ค.) รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ รศ. ดร. ประภาส จงสถิตย์วัฒนา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีหุ่นยนต์สู่ชีวิตจริง : กรณีหุ่นยนต์เดิน 2 ขา” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รศ.ดร.ชิต กล่าวว่า เยาวชนผู้สนใจสร้างหุ่นยนต์ต้องมีความสนใจเป็นอันดับแรก อย่าไปยึดติดกับสิ่งที่เราเรียนรู้มาแต่เดิม เช่น หากได้ชมการแสดงของหุ่นยนต์อาซิโมที่น่าตื่นตาตื่นใจก็อย่าไปยึดมั่นว่าลักษณะของหุ่นจะต้องเป็นแบบนี้ไปตลอด ดูแล้วน่าจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ นำไปสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าอาจจะมีอาซิโมที่เกิดจากฝีมือของเด็กไทยก็ได้ ขอให้เริ่มจาก 2 มือ 2 แขน 1 สมอง ฝันอะไรให้รีบทำให้เป็นจริงขึ้นมา


“การใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ในทุกวันนี้ ส่วนมากจะใช้ประโยชน์เพื่อให้ความบันเทิง การรักษาความปลอดภัยแบบง่ายๆ อาจจะมีการพัฒนาให้มาช่วยเหลือมนุษย์ในด้านการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ได้อีกเช่น การกู้ระเบิด และหวังว่าจะนำวิทยาการความรู้ด้านฮิลมานอยด์ (Humanoid) เช่นเดียวกับหุ่นยนต์อาซิโม มาประยุกต์ใช้กับร่างการมนุษย์ คือในปัจจุบันนี้ฮิลมานอยด์ถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ในอนาคตขณะนี้ในประเทศเรากำลังมีความสนใจที่จะนำเอาสัญญาณสมองของมนุษย์เราไปคุมด้วยกลไกเครื่องจักรได้ หากเรื่องนี้เป็นจริงได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุพิการ แต่สามารถสั่งการอวัยวะเทียมได้ด้วยระบบประสาทของตัวเองแทนคอมพิวเตอร์ได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าวิทยาการฐานความรู้เรื่องฮิลมานอยด์จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่แอนดรอยด์ (Android)ซุ่งเป็นกลไกที่ทำงานร่วมกับสมองคน อีกอย่างคือในเรื่องของหัวใจมนุษย์ถ้าเราสามารถสร้างหัวใจมาเป็นลักษณะของแอนดรอยด์เพื่อมาซิงค์กับสัญญาณประสาทคนมีโอกาสจะมีโอกาสที่ให้คนยืนอยู่ได้เกิน 120 ปีเลยทีเดียว” รศ. ดร. ชิต กล่าว

ด้าน รศ. ดร. ประภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปแล้วหุ่นยนต์มีใช้ประโยชน์กันอยู่มากมายในภาคอุตสาหกรรม ประเด็นสำคัญที่ยังเป็นข้อจำกัดที่ทำให้หุ่นยนต์ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากกว่านี้เพราะหุ่นยนต์ถูกออกแบบมาให้ทำงาน ถูกจำกัดด้วยสภาพแวดล้อมที่ถูกออกแบบมาเฉพาะให้อยู่กับการผลิตไม่สามารถไปใช้ชีวิตกับหุ่นยนต์ทั่วไปได้ หากว่าคนเราตั้งใจจะพัฒนาหรือสร้างอะไรขึ้นมาจริงๆก็เชื่อว่าจะทำได้โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเงินทุนมาก เช่น หุ่นบางตัวใช้กล้องมองเข้าไปในภาพ มีความเร็วเท่าๆกับความเร็วที่เรามองเห็นได้จริง กล้องนี้เพิ่งเกิดได้ไม่กี่ปีเช่นกันในราคาไม่ไม่แพงด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน 5-10 ล้านบาท ขอเพียงแต่ตั้งใจเรียนรู้ รู้จักคิดสร้างสรรค์โดยไม่จำเป็นต้องคิดตามแบบใคร ความรู้มาจากการทดลองด้วยตัวเองไม่ใช่เพียงจากอาจารย์ หรือตำราเรียนเท่านั้น

โดยในงานนี้กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ได้นำ “อาซิโม” หุ่นยนต์ 2 ขาคล้ายมนุษย์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับคนได้ ซึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดในโลก เข้าร่วมโชว์ความสามารถและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจเข้าชมได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น