อาจารย์วิทย์ มหิดล งัดข้อมูลงานวิจัยกลไกสมองมาร่วมถก”ทำอย่างไรให้เด็กไทยฉลาด” ในงาน “พลังสมอง พลังชาติ” ที่จัดเพื่อชูเกียรติ ศาสตราจารย์เกียรติยศ ประสพ รัตนากร รู้กันไว้แม้อายุมากเซลล์สมองไม่เพิ่ม แต่ยิ่งเรียนรู้มาก ยิ่งทำให้สมองสร้างช่องทางลำเลียงกระแสประสาทมากขึ้น จะยิ่งฉลาด แต่อาจารย์โอดการวิจัยสมองในไทยไม่กระเตื้องเพราะขาดเครื่องสแกนสมอง
เย็นวานนี้ (1 ธ.ค.) เวลา 16.00 น. ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ จากหน่วยประสาทวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำหัวข้อ “การวิจัยเกี่ยวกับสมองและการเรียนรู้” มาอภิปรายเรื่อง “ทำอย่างไรให้คนไทยฉลาด” ในการประชุมวิชาการ “พลังสมอง พลังชาติ” ที่จัดขึ้นโดยกองทุนศาสตราจารย์ ประสพ รัตนากร ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) การพัฒนาสมอง และผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาประเทศ
ศ.ดร.ปิยะรัตน์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์และเป็นสมาชิกของสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ไทยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพัฒนาสมองด้วยการวิจัย อันจะเป็นผลให้เรามีองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาสมองเพื่อให้เด็กไทยฉลาด ศ.ดร.กล่าวว่าถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมองว่าเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในกะโหลก มีเซลล์ประสาทมากกมาย และบริเวณต่างๆ ของสมองก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไป บางส่วนทำหน้าที่รับความรู้สึก บางส่วนทำหน้าที่ด้านการรับรู้ การเรียนหรือความจำ
“เด็กที่คลอดมาแล้วสมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ตรงนี้เป็นโอกาสที่เราจะใช้พัฒนาสมองของเด็ก ถือเป็นจุดวิกฤต ถ้าพ้นช่วงนี้ไปแล้ว โง่แล้ว โง่เลย ช่วยอะไรไม่ได้ เซลล์ประสาทมีแล้วไม่เพิ่มอีก ไม่แบ่งเซลล์เหมือนเซลล์อื่นๆ และมีการส่งสัญญาณเป็นคลื่นไฟฟ้า ความเร็วในการส่งกระแสประสาทประมาณ 200 ไมล์ต่อชั่วโมง” ศ.ดร.ปิยะรัตน์ บรรยาย แต่สิ่งสำคัญของความฉลาดของเด็กไม่ได้อยู่แค่จำนวนเซลล์ประสาท ยังมีส่วนของเซลล์ประสาทที่สำคัญต่อการเรียนรู้คือ “ซินแนปส์” (synapse)
“ซินแนปส์คือช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท เป็นช่องว่างให้สารเคมีหรือสารสื่อประสาทกระโดดไปยังเซลล์ประสาทถัดไป ยิ่งมีซินแนปส์มากโอกาสในการเรียนยิ่งมากขึ้น เพราะสามารถส่งสัญญาณได้มากขึ้น เด็กเพิ่งคลอดมีเซลล์ประสาทเท่ากัน แต่มีซินแนปส์ต่างกัน เด็กที่มีซินแนปส์มากจะเรียนรู้ได้เร็ว จากการศึกษาพบว่าเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงประมาณ 10 ขวบ จะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนซินแนปส์มาก ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ได้ดี แต่เมื่อถึงช่วงวัยรุ่นจำนวนซินแนปส์กลับลดลง ตรงนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใด” ศ.ดร.ปิยะรัตน์กล่าว
ศ.ดร.ปิยะรัตน์กล่าวว่าสมองของคนเราสามารถสร้างซินแนปส์ได้ตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างซินแนปส์ นอกจากนี้ยังพบความรู้ใหม่เกี่ยวกับสมองว่า “ฮิปโปแคมปัส” (hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในสมองก็มีผลต่อการเรียนรู้เช่นกัน โดยฮิปโปแคมปัสจะเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่จะสร้างความทรงจำที่เกิดจากเหตุการณ์ใหม่ๆ คนที่ประสบอุบัติเหตุจนทำให้ส่วนของฮิปโปแคมปัสหายไปนั้น ส่งผลให้คนๆ นั้นไม่มีการสร้างความทรงจำใหม่ๆ ได้
“ถ้าไปเล่าเรื่องตลกให้คนที่ฮิปโปแคมปัสหายไป 10 ครั้ง เขาก็ขำทั้ง 10 ครั้ง เพราะสมองเขาจำไม่ได้ว่าเรื่องนี้เคยฟังไปแล้ว ในขณะที่คนปกติฟังครั้งแรกขำ แต่พอฟังครั้งต่อๆ ไปก็เบื่อแล้ว” ศ.ดร.ปิยะรัตน์กล่าว และกล่าวถึงสารสื่อประสาทที่สำคัญอีกสองชนิดคือ “อะซีติลคลอลีน” (Acetylcholine) และกรดอะมิโน “กลูตาเมท” (Glutamate) ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในเซลล์ประสาท หรือกล่าวได้ว่าทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี โดยเสริมว่าการรับประทานไข่แดงจะช่วยเสริมการสร้าง “อะซีติลคลอลีน” ได้ดีขึ้น
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาสมองมี 3 อย่าง คือ พันธุกรรม โภชนาการและสิ่งแวดล้อม ปัจจจัยดังกล่าวมีผลต่อการสร้างซินแนปส์ ในด้านสิ่งแวดล้อม ศ.ดร.ปิยะรัตน์กล่าวว่าจากการทดลองในหนูที่แวดล้อมไปด้วยครอบครัวจะมีกระบวนการในการสร้างซินแนปส์ที่ดีกว่าหนูที่ถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว อีกทั้งในแม่ที่ติดยาระหว่างตั้งครรภ์พบว่าลูกที่คลอดออกมาจะมีพัฒนาการทางด้านจิตใจต่ำกว่าเด็กที่ไม่ติดยา หรือแม้แต่พัฒนาการในด้านภาษาพบว่าเด็กที่มีแม่ติดยาและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างสลัมคลองเตยจะพัฒนาในด้านภาษาต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกว่า
จะเห็นว่าความรู้ที่ ศ.ดร.ปิยะรัตน์ได้นำเสนอนั้นแสดงให้เห็นว่าการวิจัยทางสมองจะบ่งชี้สาเหตุที่มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาให้เด็กไทยฉลาดขึ้น แต่ทั้งนี้ ศ.ดรปิยะรัตน์กล่าวว่าการศึกษาทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยยังมีอยู่น้อย ในขณะที่ต่างประเทศมีการศึกษากันอย่างกว้างขวาง
“สำหรับเมืองไทยนิวโรไซน์ (ประสาทวิทยาศาสตร์) ยังกระจัดกระจาย อย่างของมหิดลก็ศึกษาอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ และเพิ่งก่อสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ไทยในปีนี้ มีสมาชิกประมาณ 100 คน แต่ทุกคนก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ทั้งหมด มีแค่ไม่กี่คนที่ศึกษา คือจะศึกษาว่าอะไรบ้างที่สมองกระทบ อย่างแรกเลย ทำไมคนเราติดยาเสพติด ทำไมเด็กถึงฉลาดหรือไม่ฉลาด อะไรที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม เมืองนอกศึกษากันเยอะแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่มี จึงลำบากมาก ทุนวิจัยเรามีน้อย เราไม่มีเครื่อง “เพ็ทสแกน” (PET Scan: เครื่องแสกนสมอง) ซึ่งมีราคาหลายล้านล้านบาท ทำให้การวิจัยเราเป็นไปอย่างยากลำบาก” ศ.ดร.ปิยะรัตน์กล่าวทิ้งท้ายถึงสถานการณ์การวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย