ตำราฝรั่งไม่เพียงต่อการรักษาโรคไทยเสียแล้ว หลังการแพทย์พบความรู้ใหม่ที่ฝรั่งไม่เป็น นักวิชาการวิทย์และแพทย์ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายกระดูกและแคลเซียม บูรณาการงานวิจัย เพื่อการทำงานที่มีเป้าหมายและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากกว่า
วันนี้ (1 ธ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีการเปิดตัว “เครือข่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก”หรือ “โคแคบ” (COCAB: Consortium for Calcium and Bone Research) โดย ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ หัวหน้าเครือข่ายฯ จากภาควิชาสรีรวิทยาเปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของเครือข่ายมาจากความร่วมมือของนักวิจัยทางด้านองค์ความรู้ของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล และนักวิจัยทางด้านการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่มีความสนใจในด้านกระดูกและแคลเซียมคล้ายกัน และต้องการร่วมกันทำงานวิจัยในลักษณะบูรณาการ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานที่มีความร่วมมือในหลากหลายสาขา
“ในฐานะนักวิจัยเรามองว่าผลลัพธ์ในเชิงบูรณาการ ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันระหว่างงานวิจัยด้านองค์ความรู้กับงานวิจัยทางการแพทย์ จะส่งผลให้งานวิจัยของทั้งสองกลุ่มมีการเกื้อหนุนกันอย่างเป็นรูปธรรม มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน รวมถึงจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของระบบสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว สามารถตอบคำถามถึงการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของแคลเซียมและกระดูกได้ดีกว่าที่ต่างคนต่างทำ จากที่ผ่านมางานวิจัยมักจะถูกตีพิมพ์เป็นผลงานทางวิชาการยังวารสารนานาชาติ ก็จะมุ่งไปสู่การหวังผลในเชิงรักษา ป้องกัน การเกิดโรคให้กับคนไทยมากขึ้น” ศ.ดร.นทีทิพย์ ตัวแทนนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กล่าว
ศ.ดร.นทีทิพย์ยังย้ำว่าสาเหตุที่ต้องเน้นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านกระดูกและแคลเซียม เพราะองค์ความรู้ที่รับมาจากตะวันตกไม่เพียงพอกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเพราะชาวตะวันตกและชาวเอเชียมีปัญหาด้านแคลเซียมแตกต่างกัน ทั้งพฤติกรรมในการรับประทานแคลเซียมที่ชาวตะวันตกจะได้รับมากกว่าและพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายของชาวตะวันตกดูดซึมแคลเซียมได้ดีกว่าชาวเอเชีย จึงต้องสร้างองค์ความรู้ของเราขึ้นมาเอง จะหวังพึ่งความรู้จากตำราตะวันตกอย่างเดียวไม่ได้
และ ร.ศ.นพ.สมนึก ดำรงกิจชัยพร จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตัวแทนนักวิจัยทางการแพทย์กล่าวถึงงานวิจัยว่าได้พบองค์ความรู้ใหม่ที่แตกต่างจากทางด้านตะวันตกคือ พบว่าโรคทาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมนั้นมีผลทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านกระดูก เพราะความบกพร่องในการสร้างเม็ดเลือดที่ไม่มีคุณภาพส่งผลต่อกระดูกแต่ยังไม่ทราบสาเหตุเพียงแต่ทราบความสัมพันธ์ ซึ่งก็จะทำวิจัยเพื่อศึกษากันต่อไป และยังพบโรคใหม่ที่เกิดมากกับประชากรในภาคอีสานคือโรค “ไตขับกรดไม่ได้” (Renal Tubular Acidosis) ทำให้เกิดกรดสะสม เลือดจึงเป็นกรด ส่งผลให้กระดูกบาง ผู้ป่วยจะปวดกระดูก
“พบโรคไตขับกรดไม่ได้มาก 2-3 % ของประชากร โดยเฉพาะในภาคอีสาน ภาคอื่นก็พบเหมือนกันแต่น้อย ซึ่งเรายังไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากอะไร” ร.ศ.นพ.สมนึกกล่าว และพูดถึงข้อดีของการสร้างเครือข่ายว่าทำให้กลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน ใช้อุปกรณ์ร่วมกันมากขึ้นและงดขั้นตอนทางราชการให้การวิจัยเป็นไปได้เร็วขึ้น โดย ศ.ดร.นทีทิพย์เสริมว่าเครือข่ายจะช่วยแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายประสบ กล่าวคือในงานวิจัยบางอย่างทางด้านการแพทย์ไม่สามารถทำได้โดยตรงกับคนไข้ งานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ก็จะช่วยได้
“งานวิจัยสายแพทย์จะเน้นไปที่การรักษาคนไข้ให้หายแต่ศึกษาลงไปในเซลล์ของคนไข้ไม่ได้ งานวิจัยวิทยาศาสตร์ก็สามารถได้ในสัตว์ทดลองซึ่งจริงๆ แล้วมีความใกล้เคียงกับคนมาก และสามารถลงลึกไปถึงองค์ความรู้ องค์ความรู้เป็นเหมือนอิฐหนึ่งก้อน เวลาเรามองอิฐ เราไม่เห็นว่าจะเป็นโครงสร้างบ้านอย่างไร แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าไม่มีองค์ความรู้เราจะมีงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร บ้านเรายังการศึกษาตรงนี้น้อย” ศ.ดร.นทีทิพย์กล่าว และกล่าวอีกว่าโจทย์ทางด้านการแพทย์จะทำให้ทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มีทิศทาง
ด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์ของ ศ.ดร.นทีทิพย์ ซึ่งศึกษาและวิจัยด้านแคลเซียมมากว่า 20 ปี ได้พบองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับฮอร์โมนโปรแลคติน (prolactin)เดิมทราบกันว่าโปรแลกตินเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างน้ำนม ตอนนี้พบว่ามีผลโดยตรงต่อการควบคุมเมตาบอลิซึมของแคลเซียม โดยพบว่าในสัตว์และคนท้องจะมีการดูดซึมแคลเซียมที่สำไส้เล็กมาก คือการมีโปรแลกตินทำให้มีสมดุลของแคลเซียม แต่ยังไม่ทราบว่ามีกลไกอย่างไร และเต้านมส่งแคลเซียมไปยังน้ำนมได้อย่างไร ซึ่งก็ต้องทำการศึกษาต่อไปอีกเช่นกัน
นอกจากนี้เครือข่ายยังครอบคลุมไปถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับสัตว์ โดย ร.ศ.สพญ.ดร.รสมา ภู่สุนทรธรรม จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สมาชิกในเครือข่ายที่ทำงานวิจัยด้านกระดูกและแคลเซียมในสัตว์ กล่าวถึงปัญหาในที่พบในสัตว์โดยเฉพาะสุนัขและแมว ว่าสุนัขและแมวที่ถูกทอดทิ้งจะมีโภชนาการทำต่ำทำให้เกิดปัญหากระดูกผุ และพวกที่มีอายุมากก็มีปัญหาที่คล้ายกับคน นับว่าเป็นปัญหาใหญ่เช่นเดียวกันแต่ถูกคนมองข้าม อีกทั้งเครือข่ายจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการศึกษาวิจัยให้กับกลุ่มสมาชิกและเปิดกว้างสำหรับผู้ที่ทำการศึกษาทางด้านกระดูกและแคลเซียมที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกด้วย