xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเชิญญี่ปุ่นปั้นผู้ประกอบการแอร์-ตู้เย็นใน “กรีน พาร์ตเนอร์ชิพ แปลน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็มเทคเชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นถ่ายทอดเทคนิคอีโคดีไซน์ ชี้แนะผู้ประกอบการเครี่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นปรับตัวรับมาตรการสิ่งแวดล้อมและกฎหมายที่ใช้ในต่างประเทศ รวมไปถึงลดต้นทุนการผลิตตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถให้กับการแข่งขันสินค้าและธุรกิจในตลาดเสรี ในโครงการ “กรีน พาร์ตเนอร์ชิพ แปลน” เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

จากการที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น ได้นำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการค้า ทำให้แนวโน้มของตลาดโลกเป็นไปในทิศทางของตลาดรักสิ่งแวดล้อม (Green Market) คือ ใช้เครื่องมือประเมินวัฏจักรชีวิต ซึ่งทางผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศไทยจำเป็นจะต้องเรียนรู้ทางด้านนี้ เพื่อที่จะแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยมีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค)เป็นผู้จัดงานสัมมนา “การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจสำหรับตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ” (EcoDesign for Refrigerator and Air-conditioner) ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค วานนี้(23 พ.ย.)

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการเอ็มเทค เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่าวัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้ คือ ต้องการให้ผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยเห็นความสำคัญและเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับมาตรการของประเทศคู่ค้าในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อีโคดีไซน์ (EcoDesign)หรือ กรีน ดีไซน์(Green Design) หรือการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ” ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าและธุรกิจ

รศ.ดร.ปริทรรศน์ ต่ออีกว่า อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล โดยมูลค่าการส่งออกของกลุ่มเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ในปี 2546 รวม 5.9 หมื่นล้านบาทได้เพิ่มเป็น 6.2 หมื่นล้านบาท (ระหว่าง ม.ค.-ก.ย. 2547) มีอัตราการเจริญเติบโตถึง 29.4 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการแข่งขันของตลาดผู้ผลิตจากทั้งในและต่างประเทศมีภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง ซึ่งหากได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง หากผู้ผลิตไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี

นายอะกิระ อะราย(Akira Arai) ผู้เชี่ยวทางด้านเทคนิคของอิบารากิ คอร์เปอร์เรชั่น ฟอร์ สมอร์ แอนด์ มีเดียม เอนเตอร์ไพรส์ โปรโมชั่น (Ibaraki Corperation for small and medium Enterprise Promotion, ICSMEP) และเป็นผู้เชี่ยวชาญของเจโอดีซี กล่าวว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องปรับอากาศมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นปริมาณมาก ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่ต้องการความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ได้มีการพยายามที่จะลดปริมาณลง ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นในปี 1997 มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าของตู้เย็น 980 กิโลวัตต์/ปี(kWh/Y) แต่ในปี 2003 เหลือเพียง 190 กิโลวัตต์/ปี สำหรับแอร์นั้นในปี1994 ใช้ 1982 กิโลวัตต์/ปีแต่ใช้แค่ 909 กิโลวัตต์ในปี 2003

“สาเหตุของการลดลงในการใช้พลังงานมาจากการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมของกฎหมาย ที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาวัสดุและสารอื่นที่มีประโยชน์ไม่ด้อยกว่าและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังต้องช่วยลดการใช้พลังงานลง อาทิ ส่งเสริมให้ใช้นอนฮาโลเจน (Nonhalogen) อนุญาตให้ใช้แต่ต้องปรับปรุงเส้นใยแก้ว (Glass fiber) พยายามอย่าใช้เส้นใยเหล็ก (Metal fiber)” นายอะกิระกล่าว

นายอะกิระกล่าวต่อว่า การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจนั่น ต้องมองให้ครบตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำไม่ใช่ทำแล้วค่อยมาแก้ เราต้องเริ่มดูตั้งแต่ใช้วัสดุที่ใช้ผลิตว่าเป็นอย่างไร มีโทษหรือไม่ มีอย่างอื่นที่ใช้แล้วดีกว่าหรือเปล่า จนกระทั่งไปถึงกำจัดเมื่อหมดอายุการใช้งาน เหมือนเป็นการบริหารจัดการครบวงจรวัฏจักรผลิตภัณฑ์ และในอนาคตอีโคดีไซน์จะจำเป็นมากในแง่ของการอนุรักษ์พลังงาน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุที่ใช้ประกอบผลิตภัณฑ์ แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นายทสึโทมุ โคโนะ(Tsutomu Kono) ผู้แทนบริษัท เจแปน โอเวอร์ซี เดเวอลอปเมนต์ คอร์เปอร์เรชั่นหรือเจโอดีซี (Japan Overseas Development Corperation : JODC) กล่าวว่า เจโอดีซี เป็นกิจการหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและอุตสาหกรรมแนวใหม่หรือนิโด (New Energy and Indudtrial Technology Development Agency : Nedo) ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาปรับปรุงในด้านการพัฒนาวิจัย โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งอยู่ในกิจการกรีน พาร์ตเนอร์ชิพ แปลน(Green Partnership Plan) สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้อยากให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงการพัฒนาคอมเพรสเซอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Ecocompressor)

นางสาวชิเอะ ฮามากูชิ(Chie Hamaguchi) ผู้อำนวยฝ่ายเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อมองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นในประเทศไทย (Jetro BKK) กล่าวว่า กรีน พาร์เนอร์ชิพ แปลนเป็นโครงการให้ความร่วมมือกันด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานระหว่างประเทศไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1992 โดยชื่อเริ่มแรกคือ กรีน เอด แปลน (Greem AID Plan) แต่ได้เปลี่ยนหลังจากมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเป็นโครงการที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งประกอบไปด้วยหลายโครงการ เช่น การประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (EcoDesign) เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่ได้ทำเป็นเฉพาะงานวิจัย แต่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในการกำจัดขยะด้วยการรีไซเคิล และการสัมมนาครั้งนี้จะเน้นในเรื่องเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น

ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด (CTAP) กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โปรแกรมเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทย” (Green Manufacturing Technical Assistance Program,GMTAP) ซึ่งเอ็มเทคได้รับทุนสนับสนุนด้านเทคนิคจากญี่ปุ่น (เจโอดีซี เนโด และเจโทร) ในการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาบรรยายในหัวข้อ “การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจสำหรับเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น” ซึ่งรวมถึงคอมเพรสเซอร์ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมไทย ให้สามารถดำเนินการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยเครื่องมือหลักคือ การประเมินวัฏจักรสิ่งมีชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต และอีโคดีไซน์





กำลังโหลดความคิดเห็น