xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มเทค ปูความรู้เทคโนฯ สะอาดแก่ตัวแทนก่อนส่งไปญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็มเทคเร่งช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม หลังจาก เจอพิษมาตรการสิ่งแวดล้อมที่จะบังคับใช้เร็วๆ นี้ จับมือกับองค์กรพี่ยุ่นปูพื้นความรู้เทคโนโลยีและการจัดการสินค้าปลอดสารพิษแก่ตัวแทน ก่อนไปอบรมจริงที่แดนอาทิตย์อุทัย หวังให้กลับมาต่อยอดความรู้แก่องค์กร ด้านผู้แทนเอ็มเทคกล่าวแค่สารทดแทนได้ไม่จบ ต้องสร้างภาคีต่อรองทางการค้า

วันนี้ (19 พ.ย.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติหรือเอ็มเทค (National Metal and Materials Technology Center: MTEC) ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือเจโทร (Japan External Trade Organization: Jetro) จัดอบรมหัวข้อ “การประเมินวัฏจักรชีวิตและการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ” (Pre-training Program for 04NETH-1: Advanced Life Cycle Assessment (LCA) and EcoDesign) ณ โรงแรมสยามซิตี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและปูพื้นฐานให้กับผู้ผ่านการคัดเลือก 33 คน ให้เข้าฝึกอบรมระยะสั้นในหัวข้อเดียวกันนี้ ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งภาครัฐ ภาคอุตสากรรมและภาคการศึกษา นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมอีกด้วย

โดยเอ็มเทคมีเป้าหมายให้ผู้ได้รับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจหลักการและการประยุกต์ใช้ความรู้การประเมินวัฏจักรชีวิตหรือแอลซีเอของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจหรืออีโคดีไซน์ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ในองค์กรของตน ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างนำออกมาบังคับใช้และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าส่งออก เช่น ระเบียบว่าด้วยการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment: WEEE) ของสหภาพยุโรปหรืออียู

“ดูแลวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้น เพื่อผลบั้นปลายที่ดีกว่า”

ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ ตัวแทนจากกลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบของเอ็มเทค ได้ให้ความรู้ว่า อีโคดีไซน์เป็นกระบวนการที่ผนวกแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนการการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ดร.กิตตินันท์กล่าวว่าสิ่งที่เราต้องการจากอีโคดีไซน์คือ 1.ผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น 2.เวลาในการผลิตที่สั้นลง และ 3.ราคาต้นทุนที่ถูกลง ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

หลังจากนั้นนายภัทรพล ตุลารักษ์ ตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการรีไซเคิลและวัสดุ (Recycling Technology for products and materials) จากที่ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่นแก่ผู้เข้าร่วมอบรม เขากล่าวว่าคนทั่วไปมักจะโทษว่าปัญหาหลักของขยะมาจากผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรม แต่อันที่จริงภาคอุตสาหกรรมสร้างน้อยกว่าภาคครัวเรือนและยังสามารถรีไซเคิลได้มากกว่า สำหรับเหตุผลที่เราต้องรีไซเคิลขยะเพราะเหตุผลหลักๆ คือ 1.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและมนุษย์ ที่รวมเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การปนเปื้อนที่มีผลต่อสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 2.ประสิทธิภาพในการลดต้นทุน

“การรีไซเคิล จริงๆ แล้วทำยังไงกันแน่ ในขั้นตอนกระบวนการรีไซเคิลจะแยกผลิตภัณฑ์ออกเป็นประเภทที่สามารถแยกชิ้นส่วนได้หรือที่สามารถรื้อส่วนประกอบได้อย่าง ทีวี ตู้เย็น และประเภทที่บดทำลายหรือทำเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ สำหรับขั้นตอนการแยกขยะ มีหลักการคือ 1.แยกชิ้นส่วนที่ใช้ซ้ำได้ 2.ชิ้นส่วนที่มีพิษสูง 3.ชิ้นส่วนที่บดทำลายยากเราก็ต้องแยกออกมา และ 4.ขยะที่บริสุทธิ์สูง มีค่าอยู่แล้ว ควรจะแยกออกมา” นายภัทรพลกล่าว และได้ยกตัวอย่างการจัดการรีไซเคิลทีวีของญี่ปุ่น

“จอซีอาร์ที (Cathode Ray Tube: CRT) จะถูกแยกโดยแรงงานคน ส่วนคอและปืนอิเล็กตรอนจะถูกแยกออกไปต่างหาก หลอดภาพหลัง (funnel) ซึ่งมีสารตะกั่วปนจะถูกแยกออกจากจอภาพส่วนหน้าไม่ให้ปนกัน มี 2 เทคนิค คือใช้กรดแยกออกมา แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือจะทำให้น้ำเสีย และอีกวิธีคือใช้ลวดความร้อน จะทำให้กระจกของจอภาพส่วนหน้าแตก ก็จะแยกได้ แต่ในกระจกส่วนหน้าจะเคลือบฟอสฟอรัส ฟิล์มอลูมิเนียม หรืออื่นๆ ซึ่งต้องนำไปทำความสะอาดก่อน ส่วนหน้าของจอภาพเป็นกระจกถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หลังทำความสะอาดแล้วสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทันที ส่วนจอภาพส่วนหลังจะคาร์บอนเคลือบอยู่ ทำความสะอาดได้ 2 วิธีคือแบบเปียก ใช้กรดฟลูริก (fluric) กัดคาร์บอนออก และแบบแห้งจะนำแก้วชิ้นเล็กๆ มาบดให้เสียดสีกัน ทำให้คาร์บอนหลุดออกมา” นายภัทรพลอธิบายวิธีการรีไซเคิลทีวีของญี่ปุ่น

“หาสารทดแทนได้ ยังไม่ดีเท่าผนึกกำลังต่อรอง”

ด้าน ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ตัวแทนกลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซรามิกส์ของเอ็มเทคได้พูดถึงเทคโนโลยีวัสดุทดแทน (Replacement Technology) ว่าเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวัสดุทดแทนเพราะมีแรงผลัก หลักใหญ่ๆ คือ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของทั่วโลก ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือมาตรการ “โรห์ส” (RoHs) ของอียู ความต้องการของผู้บริโภคที่เรียกร้องให้คนสนใจสิ่งแวดล้อมและกำลังเป็นกระบอกเสียงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นโอกาสในการทำการตลาด สุดท้ายที่ ดร.นุจรินทร์กล่าวเข้าใจว่าน่าจะเป็นอีกแรงผลัก คือความห่วงใยสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเอง

“ในภาพรวมเรารู้ว่ามีสารอันตรายหลายแบบมาก คือ (สารอันตราย) ประเภทที่คุมเข้มกับประเภทที่ต้องจับตามอง เพราะสินค้าอาจถูกแบน เราจะต้องผลิตสินค้าที่ไม่มีสารเหล่านี้ปัญหาก็คือในโครงสร้างอุตสาหกรรม จริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็นคนเดียวที่ทำทุกอย่าง เราจะต้องพึ่งซัพพลายเออร์ (ผู้ผลิตลำดับลอง) ที่อื่น ตัวเราเองก็ต้องทำโน่น ทำนี่ ซัพพลายเออร์ก็ต้องซื้อจากที่อื่นมาต่อๆ อีกหลายๆ อย่าง อุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีบริษัทลูกอีกหลายแห่ง เราก็ได้อะไหล่จากหลายๆ ที่มารวมกัน ประกอบกันแล้วก็ส่งไป” ดร.นุจรินทร์กล่าวถึงภาพรวมของวัสดุอันตรายในระบบอุตสาหกรรมในประเทศ

“ทีนี้เราจะมาแก้ปัญหาตรงนี้ เดิมเราเคยคิดกันว่าถ้าเรามีสารทดแทนมาใช้ก็จบ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะสารละลายมันอยู่กระจายไปหมดในทุกๆ ที่ เราไม่สามารถจะไปนั่งแก้ทีละอันได้ และปัญหาที่แท้จริงแลย อยู่ที่ผู้ประกอบการเองก็ไม่รู้เพราะไม่ได้เป็นคนทดสอบเอง ยังไม่รู้เลยว่ามีสารอันตรายอยู่ตรงไหน เพราะเดิมเราเข้าใจกันว่าเราไม่ได้ใช้ ไม่ได้ใส่ แต่จริงๆ แล้วของทุกอย่างมีอยู่ทั่วไป พอมีกระจายอยู่ทั่วไปแล้วเราก็ต้องเอาออก เอาออกไปแล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์อะไร และเราก็ไม่สามารถทำได้เพราะจะเกิดปัญหาอะไรตามมาก็ไม่รู้” ดร.นุจรินทร์กล่าวถึงปัญหาในการกำจัดวัสดุและสารอันตรายออกจากระบบอุตสาหกรรมไทย

ดร.นุจรินทร์กล่าวว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาในเรื่องระบบควบคุม เนื่องจากเรายังไม่มาตรฐานที่จะรองรับว่าผลิตภัณฑ์ปลอดสารอันตราย จึงเป็นภาระให้ผู้ประกอบการต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการข้อมูลที่ไม่ตรงกัน หากผู้ประกอบการขายสินค้าให้ลูกค้าหลายคน ต้องกรอกข้อมูลมากมายเกี่ยวกับสินค้าตัวเดียว ตรงนี้หากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ เพราะมีกำลังคนมากพอที่จะกรอกรายละเอียดสินค้าได้ แต่ผู้ประกอบการรายเล็กจะทำไม่ไหว

“ตอนนี้ปัญหาที่ทางเราจะแก้กันได้ก็คือให้ทุกๆ บริษัทมานั่งคุยกัน ว่าเราจะเทสต์ (ทดสอบ) กันยังไง เราจะไล่ข้อมูลกันยังไง อันนี้ไม่ใช่มี (ข้อมูล) แค่ 1 หรือ 2 เรามีข้อมูลมาจากหลายแหล่งมาก เราก็จะมานั่งคุยกัน ตกลงกัน จะได้รู้ว่าเขาใช้อะไรกันเท่าไหร่ ก็ไล่เก็บข้อมูลมา คือขั้นตอนนี้เหล่านี้ไม่ได้ออกเป็นระเบียบ ไม่ใช่กฎหมาย เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ไทยโรห์ส” (Thai RoHs) ซึ่งเพิ่งทำมาประชุมกันได้ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นจะเลือกทำอะไรวิธีไหนก็ตาม คนที่อยู่ในกลุ่มตรงนี้เขาต้องยอมรับ ถ้าเขาไม่ยอมรับยังไงเขาก็ต้องไปเทสต์กันเอง ก็ต้องเสียเงินซ้ำซ้อน” ดร.นุจรินทร์กล่าว

“ในเรื่องสารทดแทนเราต้องดูตลาดโลกเพราะถ้าเราซื้อของพิเศษอันนี้คนเดียว ก็ทำให้เราต้องซื้อของแพงกว่าชาวบ้าน และการสนับสนุนก็ยังไม่มี แต่ถ้าเรารวมกลุ่มกันได้ก็ตกลงกันว่าจะเลือกใช้วัสดุใดวัสดุหนึ่งกับทั้งประเทศ เราก็จะต่อรองราคาได้มากกว่า และเทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนก็จะมีเยอะกว่า เช่นคนทำชิพ (chip) ทำไอซี (วงจรรวม) ก็ต้องทำมาให้เราใช้ได้ นำมาใช้กับวัสดุกับเครื่องจักรที่เราต้องการ แต่ถ้าวัสดุเราไม่เหมือนชาวบ้าน ทุกอย่างก็ต้องพิเศษหมด จะมาบังคับให้เขาทำของให้เข้ากับสินค้าอย่างเดียวไม่ได้” ดร.นุจรินทร์กล่าวปิดท้ายว่าไม่เพียงแค่การหาวัสดุมาทดแทนเท่านั้นแต่ต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อการต่อรองทางการค้าได้มากกว่า

สำหรับมาตรการ “การห้ามใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์” หรือ RoHS (The restriction of the use of certain Hazardous Substance in electrical and electronic equipment) ของสหภาพยุโรปหรืออียู จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2549 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งเป็นฐานผลิตสินค้าต้นน้ำประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปยังตลาดอียู มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น