xs
xsm
sm
md
lg

เบนจามิน แฟรงกลิน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


แฟรงกลินเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2249 (รัชสมัยพระเจ้าเสือ) ในครอบครัวที่ยากจน บิดามารดามีอาชีพทำเทียนไข และสบู่ขาย ครอบครัวของแฟรงกลินมีขนาดใหญ่ เพราะเขามีพี่น้องร่วมท้องถึง 17 คน ความขาดแคลนปัจจัยต่างๆ ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนเมื่อมีอายุ 10 ขวบ ได้ไปสมัครงานเป็นพนักงานผู้ช่วยงานพิมพ์ แต่ในเวลาเพียง 30 ปี จากสภาพเสื่อผืนหมอนใบ แฟรงกลินก็ได้มีธุรกิจเป็นของตนเอง เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Pennsylvania Gazette ออกวารสารวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติของไฟฟ้า โดยการแสดงให้เห็นว่า ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ เกิดจากการไหลของประจุไฟฟ้าในก้อนเมฆ นอกจากนี้ ก็ยังได้ออกแบบสายล่อฟ้าให้เราใช้กันมาจนทุกวันนี้ การมีชื่อเสียงในฐานะนักวิทยาศาสตร์ การเป็นเศรษฐีที่มีเงินมหาศาล เป็นกุญแจโอกาสให้แฟรงกลินได้สนทนาวิสาสะกับนักปราชญ์ นักการเมืองและนักประพันธ์ ทั้งในยุโรป และอเมริกา

การมีฐานะยากจนมาก่อน ทำให้แฟรงกลินเมื่อมีฐานะดีมีใจโอบอ้อมอารีต่อคนยากจน เขาจึงจัดองค์กรทำบุญทำกุศลให้สังคม และเมื่อมีความคิดว่า การเล่นการเมืองสามารถทำให้สภาพของสังคมดีขึ้นได้ แฟรงกลินจึงได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับนักการเมืองที่เมือง Philadelphia จนได้เป็นรัฐบุรุษคนหนึ่งของอเมริกา ในฐานะที่มีส่วนร่างคำแถลงการณ์ประเทศอิสรภาพของอเมริกา การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำอังกฤษ เปิดโอกาสให้แฟรงกลินได้ติดต่อ และรู้จักนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ ของยุโรปในสมัยนั้นหลายคน ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการศึกษาสูง แต่แฟรงกลินก็มีจินตนาการสูง ถึงแม้จะไม่ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์มาก่อน และไม่รู้จักอิเล็กตรอนเลย แต่แฟรงกลินก็รู้อยู่ในอกว่า กระแสไฟฟ้าเป็นเหตุการณ์ที่แพร่กระจายสิ่งหนึ่งจากวัตถุหนึ่งไปอีกวัตถุหนึ่ง ซึ่งมีผลทำให้วัตถุบางชนิดมีสิ่งที่แฟรงกลินเรียกว่า ประจุมากไป และบางวัตถุมีประจุน้อยไป และการเคลื่อนที่ของประจุเช่นนี้นี่เองที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลระหว่างวัตถุทั้งสอง แฟรงกลินจึงเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่เข้าใจธรรมชาติของกระแสไฟฟ้า

นอกจากผลงานนี้แล้ว แฟรงกลินยังได้ประดิษฐ์แว่นชนิด bifocal ที่มีโฟกัสด้วย สำหรับมองภาพใกล้หรือไกลก็ได้ และสร้างเตาผิง แต่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกรู้จักดีที่สุดคือ การอธิบายปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าว่าเกิดจากการไหลของประจุไฟฟ้าระหว่างก้อนเมฆกับก้อนเมฆ และระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน โดยแฟรงกลินได้ทดลองเล่นว่าวในขณะที่ฟ้ากำลังคะนอง แล้วเอากุญแจเหล็กผูกติดกับไหมที่ใช้ในการชักว่าว เมื่อฝนพรำสายไหมที่เปียกจะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าลงสู่พื้นดิน การทดลองนี้นับว่าอันตรายมาก เพราะถ้ากระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่ร่างของแฟรงกลิน เขาก็จะตายเพราะถูกฟ้าผ่า ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่หลังจากแฟรงกลินตีพิมพ์ผลงานของเขา นักวิทยาศาสตร์เยอรมันคนหนึ่งชื่อ Georg Wilhelm Richmann ได้ถูกฟ้าผ่าตาย เพราะได้ทดลองแบบเดียวกับที่แฟรงกลินทำ และโชคไม่ดี

การค้นพบของแฟรงกลิน จึงมีความสำคัญมาก เพราะสามารถอธิบายได้ว่า รามสูรไม่มีและปรากฏการณ์อสุนีบาตฟาดโลก มิได้เกิดจากการที่เทพ Zeus ทรงพิโรธแล้วทรงประทานโทษ โดยการฟาดตีด้วยสายฟ้า และจากความรู้นี้แฟรงกลินก็ได้เสนอแนะให้ทำสายล่อฟ้า โดยการนำท่อนโลหะปลายแหลมติดที่หลังคาบ้าน แล้วใช้ลวดต่อจากท่อนโลหะนั้นลงดิน เพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลลงโลก แทนที่จะไหลลงบ้าน บ้านจึงไม่เป็นอันตราย และสายล่อฟ้าของแฟรงกลินก็ยังคงใช้กันจนทุกวันนี้

ในบั้นปลายของชีวิต แฟรงกลินมีสุขภาพไม่ดี ถึงแม้ร่างกายจะอ่อนแอแต่แฟรงกลินก็ยังคงสนใจวิทยาศาสตร์และการเมือง เพราะขณะมีอายุได้ 83 ปี เขาก็ยังสามารถออกแบบแว่น bifocal ได้ และสามปีก่อนจะเสียชีวิต แฟรงกลินได้มีบทบาทในการร่างคำประกาศอิสรภาพให้สหรัฐอเมริกา จนคนอเมริกันทุกวันนี้ถือว่า แฟรงกลินเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่ให้กำเนิดชาติ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ด้วย

พูดสั้นๆ คือเป็นบุคคลที่มีความรู้รอบ ทั้งการเมือง การราษฎร เพราะมีธุรกิจการพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นทูต เป็นนักเขียน และนักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์คือ เข้าใจผู้อื่นดี และรู้วิธีวางตัวในสังคมที่แตกต่าง

การศึกษาประวัติการทำงาน และผลงานของแฟรงกลิน ณ วันนี้ทำให้เรารู้ว่า แฟรงกลินมีผลงานด้านวรรณกรรม และด้านคณิตศาสตร์ด้วย เขาเป็นบุคคลที่สร้างห้องสมุดแห่งแรกในอเมริกา เป็นผู้คิดคำศัพท์ต่างๆ เช่น battery, condenzer, conductor, charge, discharge, armature, electric shock, electrician, positive and negative electricity, plus and minus charge ซึ่งเป็นคำวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนรู้จักดี และเรียนกันจนทุกวันนี้ และการที่แฟรงกลินรู้วิทยาการด้านไฟฟ้ามากเช่นนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ร่วมรุ่นเอง กล่าวยกย่องเขาว่า เป็นนิวตันแห่งวิชาไฟฟ้า นอกจากนี้แฟรงกลินยังเป็นบุคคลแรกที่เชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถให้คำตอบแก่สังคมแทบทุกเรื่อง และเป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย

ความสนใจของแฟรงกลินนั้น มีหลากหลายเช่น ได้พบว่าจุดเดือดของน้ำขึ้นกับความดัน และนี่ก็คือเหตุผลที่อธิบายได้ว่า เหตุใดเวลาต้มไข่บนเขาสูง จึงต้องใช้เวลานานกว่าไข่จะสุก แฟรงกลินยังสนใจเรื่องการเคลื่อนที่ของอากาศ โดยได้ติดตามการเคลื่อนที่ของลมเฮอริเคนด้วยตนเอง และยังได้เสนอการทดลองแบบแปลกว่า ถ้าให้ชายคนหนึ่งยืนเปลือยกลางแจ้ง แล้วเอาแอลกอฮอล์เทราดตลอดเวลา พร้อมกันนั้นก็ให้พ่นลมใส่ไม่หยุดแล้วชายคนนั้นก็จะหนาวตายได้

ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของแฟรงกลินได้รับการยอมรับ เมื่อเขาได้รับเหรียญ Copley ของ Royal Society แห่งอังกฤษ ซึ่งเทียบเท่ารางวัลโนเบลในสมัยนี้ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของสมาคมวิชาการในฝรั่งเศส และเยอรมนีด้วย

ส่วนความสามารถทางภาษานั้น ก็น่าทึ่ง เพราะแฟรงกลินมีความสามารถในการเลือกคำที่กินใจ และโดนใจเช่น

An apple a day keeps the doctor away

Better slip with Foot than Tongue ล้มพลาดดีกว่าพูดพลาด

Wish not so much to live long, as to live well ไม่ควรปรารถนาจะมีอายุยืนมากเท่าอยากมีชีวิตที่ดี

Poverty wants some things, luxury many things, avarice all things ความจนปรารถนาจะมีบางสิ่งบางอย่าง ความฟุ่มเฟือยปรารถนาหลายสิ่งหลายอย่าง และความโลภปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่าง และ If you would not be forgotten, as soon as you are dead, either write things worth reading, or do things worth the writing หากไม่ต้องการให้ใครลืมเวลาคุณตายไป ก็จงเขียนสิ่งที่ควรค่าจะอ่าน หรือมิฉะนั้นก็จงทำสิ่งที่มีค่าน่าเขียนถึง เป็นต้น

ในหนังสือ Bolt of Fate : Benjamin Franklin and His Electric Kite Hoax ของ Tom Tucker ที่จัดพิมพ์โดย Public Affairs Press เมื่อปี 2546 ราคา 25 เหรียญ Tucker ได้ตั้งข้อสงสัยในเหตุการณ์แฟรงกลินชักว่าวว่า เหตุใดแฟรงกลินจึงไม่ได้ทดลองเรื่องนี้ให้คนอื่นรู้เห็นเป็นพยานด้วย เพราะมีแต่ลูกชายแฟรงกลินคนเดียวที่เห็นเหตุการณ์ที่เป็นตำนานนี้ และเมื่อคนที่ได้ทดลองลักษณะเดียวกับแฟรงกลินถูกฟ้าผ่าตาย ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าแฟรงกลินมิได้ชักว่าวดังกล่าวเลย และถ้าไม่มีการทดลองจริงนั่นก็แสดงว่า แฟรงกลินประสบความสำเร็จไม่ใช่ในการอธิบายเรื่องไฟฟ้าในอากาศ แต่ในเรื่องสร้างตำนานหลอกคนมาได้นานร่วม 300 ปี ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์คิดว่า แฟรงกลินจะทดลองจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ แต่คำอธิบายและจินตนาการของแฟรงกลินเกี่ยวกับเรื่องนี้ถูกต้องทุกประการ และนี่ก็คือความยิ่งใหญ่ของรัฐบุรุษวิทยาศาสตร์ผู้นี้ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น