xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยหนุ่มไทยเตรียมหิ้วหุ่น “ไทยเอ็กซ์พลอร์” ไปดำน้ำสำรวจขั้วโลกใต้กับทีมพี่ยุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยไทยเจ๋ง เตรียมหอบ “ไทยเอ็กซ์พลอร์” หุ่นยนต์ดำน้ำฝีมือคนไทยไปร่วมสำรวจขั้วโลกใต้กับทีมปลาดิบพฤศจิกานี้ โดยฝ่าด่านการคัดเลือกของ สวทช.จากผู้สมัคร 14 ชีวิต เผยได้รับเลือกเพราะมีแผนงานชัดเจน อยู่ในวัยไฟแรงและพูดญี่ปุ่นได้ ด้านทีมวิจัย “ไทยเอ็กซ์พลอร์” ออกมากล่าวยินดีได้ช่วยคนไทยด้วยกันและภูมิใจได้อวดฝีมือสร้างหุ่นยนต์แก่สายตาพี่ยุ่น

ดร.วรณพ วิยกาญจน์ นักวิจัยชีววิทยาทางทะเล จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะร่วมเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้กับคณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นและคณะผู้วิจัยหุ่นยนต์ดำน้ำชื่อ “ไทยเอ็กซ์พลอร์ 1” (Thai explorer for South Pole Exploration 1) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการ “คนในข่าว” ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 นิวส์ 1 (11 News 1) ว่าในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เป็นกำหนดการที่ ดร.วรณพ จะเดินทางไปขั้วโลกใต้พร้อมกับนำ“ไทยเอ็กซ์พลอร์ 1” ไปช่วยในการสำรวจด้วย ดร.วรณพ ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือ สวทช. ให้ร่วมเดินทางไปคณะนักวิจัยญี่ปุ่น การเดินทางครั้งนี้เป็นโครงการของรัฐบาลไทยที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติญี่ปุ่น โดยประเทศไทยได้โควตาให้ส่งนักวิจัยไปได้เพียง 1 คน

“มีคนสมัครไป 14 คน ก็มีทั้งนักวิชาการ รวมทั้งมีพวกชอบทะเลด้วยซึ่งก็มีความหลากหลาย” ดร.วรณพกล่าว ในการคัดเลือกครั้งนี้ไม่ต้องสอบแข่งขันแต่จะพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้สมัคร “ก็คือมีเงื่อนไขต่างๆ ในการสมัครนะ ก็คือเราจะต้องนำงานวิจัยของรัฐบาลที่ต้องการนำใช้ที่นั่นไปด้วย และก็มีจำกัดเรื่องอายุ จะต้องทนต่อทุกสภาวะได้ อีกอันหนึ่งซึ่งเป็นเงื่อนไขซึ่งผมคิดว่าอาจจะได้ประโยชน์สำหรับตัวเองมาก คือเกี่ยวภาษาเพราเขาเน้นไว้ที่ว่า ถ้าผู้ใดมีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นก็จะได้รับพิจารณา พอดีผมจบที่ญี่ปุ่น” ดร.วรณพกล่าวถึงเหตุผลที่ได้รับคัดเลือก

ดร.วรณพกล่าวว่าสิ่งที่เขาจะได้จากการไปสำรวจครั้งนี้คือ ความรู้และประสบการณ์ในการร่วมวิจัยกับผู้อื่น ทั้งเป็นการจุดประกายการวิจัยไทยให้สูงขึ้น ส่วนแผนงานวิจัยของเขาคือการศึกษาสิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่งของมหาสมุทรแอนตาร์กติกซึ่งอยู่ติดกับสถานีวิจัยของญี่ปุ่น โดยดร.วรณพต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับปัจจัยในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากประเทศไทย พอดีกับที่เขากำลังทำงานวิจัยทางด้านระบบนิเวศชายฝั่งของไทยและดำน้ำอยู่แล้ว การไปสำรวจขั้วโลกใต้ครั้งนี้เขาก็ต้องลงไปดำน้ำด้วย และเขาก็ได้รับการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานที่ญี่ปุ่นเพื่อดูว่ามีทักษะดำน้ำจริงหรือไม่ เขากล่าวว่าการได้ลงไปดำน้ำจะเป็นอีกรสชาติหนึ่งของชีวิต

ตรงจุดที่จะต้องลงไปดำน้ำนี่เองทำให้ต้องสร้างหุ่นยนต์ “ไทยเอกซ์โพล” เพื่อลงสำรวจสภาพใต้น้ำในเบื้องต้นก่อนที่ ดร.วรณพ จะลงไปดำน้ำ ทาง สวทช.จึงได้ติดต่อขอความร่วมมือกับสมาคมวิชาการไทย ซึ่งเป็นสมาคมที่รวมนักวิจัย อาจารย์และผู้สนใจทางด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทย สมาชิกในสมาคมจึงได้ประชุมเพื่อรับมอบหมายงานกัน ซึ่งได้ผู้รับผิดชอบโครงการจากมหาวิทยาลัยมหิดลคือ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ หัวหน้าคณะวิจัยหุ่นยนต์“ไทยเอกซ์โพล” อ.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และนายพีรภัทร โอวาทชัยพงษ์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ทั้ง 3 คนจึงได้ร่วมกันวิจัยหุ่นยนต์ใต้น้ำสำรวจขั้วโลกใต้

“ทางเราได้รับโจทย์ให้ทำหุ่นยนต์ที่จะไปช่วยเหลือ อ.วรณพ ก็พูดคุยกันว่าน่าจะเป็นอะไร ก็ออกมาเป็นหุ่นยนต์ดำน้ำ ใช้เวลาทำงาน 4 เดือนกว่า” ดร.จักรกฤษณ์กล่าว ในการรับผิดชอบหุ่นยนต์นั้น ดร.อิทธิโชติได้กล่าวว่าโดยภาพรวม ทั้ง 3 คน จะแบ่งงานกันทำโดยทุกคนจะรู้ในทุกๆ จุด และมีอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมไฟฟ้าของ ม.มหิดล ให้ความช่วยเหลือเป็นครั้งคราว จุดที่ยากอยู่ตรงที่ไม่เคยทำหุ่นยนต์ลักษณะนี้มาก่อน อีกทั้งต้องทำหุ่นยนต์ให้ทนอุณหภูมิต่ำอย่างในขั้วโลกใต้และต้องลงไปใต้น้ำ ทางทีมงานไม่รู้ว่าหุ่นยนต์ใต้น้ำจะออกมาเป็นลักษณะใด จุดทดสอบเริ่มต้นจึงเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด

หลังจากมีการทดสอบก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของหุ่นยนต์ไปเรื่อยๆ พีรภัทรซึ่งเป็นนักศึกษาก็ช่วยเหลือเหลืออาจารย์ด้วยการช่วยติดตามในการดำเนินงาน รวมถึงร่วมปรึกษาในการออกแบบ ดร.จักรกฤษณ์กล่าวถึงลักษณะรูปร่างของหุ่นยนต์ว่าช่วงแรกก็มีลักษณะเป็นโครงเช่นเดียวกัน แต่อุปกรณ์ที่ติดตั้งภายในจะแตกต่างออกไป โดยครั้งแรกจะออกแบบบนคอมพิวเตอร์ก่อน จากนั้นก็จะพูดคุยถึงความจำเป็นว่าต้องตัดส่วนใดออกหรือต้องเพิ่มอะไร จึงถึงขั้นตอนการทดลองและสร้างจริง ดร.จักรกฤษณ์กล่าวว่าส่วนประกอบที่สำคัญก็จะมีระบบขับเคลื่อน ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้จะเป็นระบบควบคุมระยะไกลผ่านสายสัญญาณ ระบบขับเคลื่อนของหุ่นยนต์นี่จะประกอบไปด้วยมอเตอร์ที่มีใบพัดเรืออยู่ 3 ชุด เราสามารถควบคุมทิศทางการหมุนของใบพัดได้

“แล้วตัวหุ่นยนต์นี่จะแตกต่างจากเรือดำน้ำจริงก็คือ ของเรานี่ออกแบบให้มีลักษณะเป็นโครงมีน้ำหนักเบาแล้วก็จะใช้ทุ่นเพื่อให้น้ำหนักเกิดความสมดุลขึ้น ทำให้มีความหนาแน่นเท่ากับน้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราวางไว้เฉยๆ ในน้ำนี่มันก็จะไม่ลอยและก็ไม่จม จะอยู่กับที่ ส่วนตัวที่จะมีประโยชน์ก็คือเราจะติดตั้งกล้องวิดีโออยู่ข้างหน้าตัวหุ่นยนต์ แล้วก็จะถ่ายทอดสัญญาณภาพผ่านสายขึ้นมาบนฐานควบคุมอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น อ.วรณพจะเห็นภาพข้างล่างเป็นภาพในเวลาจริงตลอดเวลา” ดร.จักรกฤษณ์กล่าว

ในส่วนของระบบควบคุมหุ่นยนต์ทางคณะวิจัยหุ่นยนต์วางแผนว่าจะใช้โซลาร์เซลล์ในการชาร์จแบตเตอรี่สร้างพลังงานขับเคลื่อน ซึ่งโซลาร์เซลล์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาจาก สวทช.ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค อีกทั้งยังต้องออกแบบให้ระบบควบคุมสามารถทนอุณหภูมิที่ต่ำถึง -40 องศาเซลเซียส วัสดุที่ใช้เป็นอลูมิเนียมอัลลอยด์ที่แข็งแรงและทนต่อการกัดกร่อนจากความเค็ม โดยจะควบคุมผ่านสายสัญญาณซึ่งมีด้วยกัน 2 ชุด คือ สายพลังงานไฟฟ้าและสายควบคุมมอเตอร์ อีกทั้งยังติดทุ่นให้หุ่นยนต์เพื่อให้มีความหนาแน่นเท่ากับน้ำ

ดร.วรณพซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้หุ่นยนต์ “ไทยเอ็กซ์พลอร์” ที่ขั้วโลกใต้ กล่าวว่าหุ่นยนต์ตัวนี้จะช่วยให้สำรวจบริเวณสภาพใต้น้ำก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าสนใจบริเวณใดเป็นพิเศษก็ต้องดำน้ำลงไปสำรวจเองและบางครั้งอาจต้องลงไปเก็บตัวอย่างเอง เขากล่าวว่าจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับของขั้วโลกใต้พบว่า อาจจะมีสภาพไม่เหมือนกับทะเลในประเทศไทยคือ อาจจะมีเพียงพืชใต้น้ำเล็กๆ และไม่ได้มีแนวปะการัง ในด้านของ ดร.จักรกฤษณ์ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์กล่าวว่า หากมีเวลาการวิจัยมากกว่าอาจจะพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและมีแขนกลเพื่อช่วยในการสำรวจ เขายังกล่าวอีกว่าภูมิใจที่ช่วยเหลือ ดร.วรณพ และได้สร้างหุ่นยนต์ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทย











กำลังโหลดความคิดเห็น