xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “พ่อบ้านปรมาณู” 42 ปีนิวเคลียร์ไทยยังเป็นวายร้ายในสายตาคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ ปส. เปิดห้องรับแขกเล่าจุดเริ่มต้นขององค์กร รับแนวคิดลุงแซมที่มุ่งใช้นิวเคลียร์ในทางสันติ ชี้ 42 ปี ดูแลกิจการนิวเคลียร์โดยตลอด งานเด่นผลิตไอโซโทปทางการแพทย์ ด้านเกษตรก็ช่วยปรับปรุงพันธุ์พืช และผลงานอื่นอีกมากมาย แต่คนยังมองไม่เป็นมิตร ยอมรับเพราะติดภาพร้ายเก่าๆ โดยเฉพาะ "รังสีรั่ว" ส่วนเครื่องปฏิกรณ์หัวใจสำคัญกำลังจะหมดอายุ รออนุมัติเปลี่ยน พร้อมแนะจะนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ต้องวางแผนระยะไกล ทั้งสร้างคนและเทคโนโลยี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้จัดงาน “เปิดบ้าน” โดยเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าชมภายในสำนักงาน พร้อมกันนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์ นายปฐม แหยมเกตุ เลขาธิการ ปส.เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานที่ยาวนานมาถึง 42 ปี

ปส.เป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ภายในประเทศ แม้จะผ่านการทำงานมายาวนาน ถ้าเทียบกับคนก็เปรียบเหมือนอยู่ในวัยกลางคน แต่คนส่วนใหญ่ยังนึกภาพไม่ออกว่า ปส. ทำอะไร มีบทบาทต่อสังคมอย่างไร วันนี้เราจะไปรู้จักกับ ปส. ให้มากขึ้น ผ่านทางพ่อบ้านของสำนักงานฯ ท่านนี้กัน

รับแนวคิดลุงแซม ตั้ง "ปรมาณูเพื่อสันติ" พัฒนาประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ.2500 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) หรือในปัจจุบันคือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ขึ้น นายปฐม กล่าวว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่นึกถึงการใช้ประโยชน์ของปรมาณูในเชิงสันติ หลังจากที่มีการใช้ประโยชน์ในทางสงคราม ซึ่งเรารู้กันดีว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนยุติด้วยระเบิดปรมาณู

"แนวคิดของสหรัฐฯ ตอนนั้นคือ อยากจะให้ทั่วโลกเห็นภาพว่าพลังงานปรมาณูหรือพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับการสู้รบเท่านั้น อันที่จริงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางสันติได้" นายปฐมสาธยาย อย่างประโยชน์ในทางการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม ด้านการวิจัยทั่วๆ ไป เพื่อเพิ่มศักยภาพความรู้ จึงจัดตั้งโครงการปรมาณูเพื่อสันติ (Atoms for Peace) ขึ้นมา แล้วประชาสัมพันธ์ให้ให้ประเทศต่างๆ ได้รับทราบถึงแนวทางของเขา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA)

“ด้านประเทศไทยเราก็เห็นประโยชน์ ตอนนั้นเราก็มีนักวิชาการรุ่นใหม่ที่รู้เรื่องนิวเคลียร์บ้างพอสมควร” นายปฐมกล่าวและได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกำเนิดของรังสีว่า จริงๆ แล้วรังสีเป็นเรื่องที่เกิดมาประมาณ 110 ปี เริ่มจาก "เรินต์เกน" (Wilhelm Korad Roentgen) ค้นพบรังสีเอกซ์ (x-ray) แล้วคนที่มาสานต่อก็คือ "เบ็กเคอเรล" (Henri Becquerel) ค้นพบเรดิโอแอคติวิตี (radioactivity) หรือว่า "กัมมันตภาพรังสี" โดยตอนนั้นเบ็กเคอเรลนำฟิล์มถ่ายรูปไปวางไว้ใกล้ๆ ธาตุยูเรเนียม ปรากฏว่าฟิล์มดำ ตอนแรกเขาบอกว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก (Photoelectric Effect) เกิดการเรืองแสงขึ้นมาเท่านั้นเอง ตอนหลังจึงยอมรับว่าเป็นพลังงานที่ออกมาจากสินแร่เข้าไปในฟิล์ม แต่ระเบิดปรมาณูเกิดขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 40 ปี

ส่วนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้น มีขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา โดยนายเอนริโค เฟอร์มิ (Enrico Fermi) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนที่อพยพไปอยู่สหรัฐฯ ได้สร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2485 ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก

นายปฐมกล่าวว่าการที่ ปส.ฉลองครบรอบ 42 ปี ก็ต้องย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนั้นด้วย ครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์นำแท่งเชื้อเพลิงที่มีทั้งทั้งยูเรเนียม คาร์บอนและแกร์ไฟต์ มารวมๆ กันเป็น "อะตอมมิก ไพล์" (Atomic pile) โดยที่นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ว่าตามทฤษฎีจะสามารถเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ได้ แต่ก็เกิดปฏิกิริยาขึ้นจริง จากนั้นมีการทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรกที่เมืองนิวเม็กซิโก

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางสหรัฐฯ คิดว่าคนรู้จักนิวเคลียร์เฉพาะในด้านลบ ทำไมไม่เอาด้านบวกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และก็เป็นการไถ่บาปของสหรัฐฯ เองด้วย ว่าเขาไม่ต้องการสร้างระเบิดนิวเคลียร์เพื่อมาทำลายล้าง เขาก็โฆษณาโปรแกรมนิวเคลียร์เพื่อสันติ "อะตอม ฟอร์ พีซ" (Atoms for Peace) ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่างๆ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในเชิงสันติ ส่วนประกอบสำคัญของโครงการนี้คือมีการเสนอให้ก่อตั้งเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ซึ่งประเทศเราก็รับโครงการนี้มา และนำเอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ที่สำคัญคือผลิตไอโซโทปรังสี (Radioactive Isotope) ที่ใช้ในทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้ทางการเกษตรได้ เป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยก็สมัครเป็นสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ” นายปฐมกล่าว

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อายุ 42 ปีสร้างประโยชน์มากกว่าที่คิด

สำหรับการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฯ ในประเทศไทยซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2503 มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ทั้งเคมี ฟิสิกส์และชีววิทยาเพื่อนำเอาไปใช้ประโยชน์ และปรับปรุงเป็นการประยุกต์ด้านต่างๆ โดยตลอด 42 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จในการผลิตไอโซโทปรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์เป็นเรื่องหลัก นายปฐมกล่าวว่าเมื่อก่อนนั้นสามารถผลิตเพียงพอใช้เองในประเทศแต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีการแพทย์มากขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าบางส่วน ประโยชน์ของเครื่องปฏิกรณ์ฯ นั้นแยกได้หลายส่วนเป็น 1.ส่วนผลิตชัดเจน คือ ผลิตภัณฑ์ไอโซโทป (Isotope Product) ที่สำคัญได้แก่ ไอโอดีน-131 (I-131) และเทคนีเซียม-99 (Tc-99) ซึ่งใช้ทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย ไอโอดีน-131 ใช้ในการบำบัดรักษาโรคคอพอกหรือต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

2.การใช้ทางวิจัย/วิเคราะห์ งานวิเคราะห์ที่มีบทบาทมากคือ การวิเคราะห์ธาตุปริมาณน้อยด้วยนิวตรอนอย่าง เทคนิคเอ็นเอเอ (NAA: Neutron Activation Analysis) ใช้ตรวจทรัพยากรในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเทคนิคธรรมดาอาจจะไม่สำเร็จต้องใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์เข้าช่วย นายปฐมได้ยกตัวอย่างที่ อ.ร่อนพิบูลย์ (จ.นครศรีธรรมราช) มีปัญหาอาร์เซนิก (As: สารหนู) เป็นพิษ ก็ใช้เทคนิคนี้ในการตรวจสอบว่ามีปริมาณอาร์เซนิกปนเปื้อนอยู่ในน้ำเท่าใด บางครั้งวิธีทางเคมีทั่วๆ ไปทำไม่ได้ และ 3.สำหรับการศึกษาวิจัย (Basic Science Research) เช่น กรณีศึกษาโครงสร้างของสสาร ซึ่งปัจจุบันแตกแขนงไปเป็นนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

“เรื่องของนาโนเป็นเรื่องระดับ 10-9 เมตร ส่วนอะตอมหรือนิวเคลียร์เป็นเรื่องระดับ 10-16 เมตร จะเห็นว่าบางครั้งมีการเลี่ยงคำว่านิวเคลียร์ อย่างกรณีนาโนเทคโนโลยีหรือซินโครตรอน (Synchrotron) ที่บอกว่าเป็นเรื่องของแสง จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของอะตอม เพราะมีการทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากอะตอม ทำให้เกิดอนุภาคที่มีประจุวิ่งในเครื่องมือและยังรังสีขึ้นด้วย"

"เหตุผลที่คนพยายามเลี่ยงคำว่านิวเคลียร์เพราะความรู้สึกกลัว แต่ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีไฮเทคทั้งหลายคนจะไม่กลัว หลายคนกลัวรังสีทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะทางการแพทย์ใช้ในเอ็กซ์เรย์เป็นหลัก แต่เราก็พยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ คิดว่าในระยะหลังๆ เด็กรุ่นใหม่เข้าใจมากขึ้น” นายปฐมชี้แจง และกล่าวว่าในปัจจุบันความรู้ความเข้าใจของประชาชนน่าจะดีขึ้น เพราะนักวิชาการได้พยายามเสนอผลงานให้คนภายนอกได้รับรู้มากขึ้น

เลขาธิการ ปส.กล่าวว่าในอดีตนั้น ปส.เป็นองค์กรที่บัณฑิตอยากเข้าทำงานมาก ทั้งนี้เนื่องจากทางสำนักงานฯ มีทุนสนับสนุนให้ทุกคนได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจที่จะมาทำงานกับ ปส. น้อยลง เพราะมองว่าแนวโน้มเทคโนโลยีนิวเคลียร์เมืองไทยอาจจะไม่ก้าวหน้า หากประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะปิดตัวอยู่เท่าที่เป็นอยู่ นายปฐมให้เหตุผลค้านว่าถ้าศึกษานิวเคลียร์กันอย่างจริงจังแล้วจะพบว่ามีทางประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอีกมาก อย่างเรื่องนาโนเทคโนโลยีหรือซินโครตรอน ก็เป็นส่วนเล็กๆ หนึ่งของพลังงานนิวเคลียร์ แต่ทางสำนักงานฯ ไม่ได้ทุ่มเทกำลังคนไปด้านดังกล่าว

ผลงานของสำนักงานอันเนื่องมาจากนิวเคลียร์ที่นับเป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของ ปส.คือการปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยรังสี ซึ่งได้พันธุ์ข้าว กข. เมื่อฉายรังสีให้เมล็ดพันธุ์ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดีเอ็นเอไปทางที่ดีขึ้น ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการแบบสุ่มโดยจะนำข้าวเป็นกระสอบมาฉายรังสี ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะได้พันธุ์ลักษณะ ต้องนำไปคัดพันธุ์ต่อด้วยการนำไปปลูกแล้วนำรุ่นลูกมาทดสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามต้องการหรือไม่ นายปฐมกล่าวว่าต่อไปจะเน้นงานค้นคว้าวิจัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่มากขึ้น เช่นจะผลิตเทคโนโลยีระบบไอทีอย่างการทำซิลิกอนโดปปิง (Si doping) คือการทำให้วัสดุซิลิกอนเปลี่ยนสภาพจากซิลิกอนธรรมชาติไปเป็นซิลิกอนที่จะนำไปทำซิลิกอนเวเฟอร์ (Si wafer) ซึ่งนำไปพัฒนาต่อเป็นไมโครชิปได้

“ธรรมดาซิลิกอนอยู่ในรูปของซิลิกาหรือทรายชายทะเล จะถูกแยกผลึกให้ได้แท่งซิลิกาซึ่งเป็นอโลหะ แล้วนำไปทำโดปปิงเพื่อให้เป็นกึ่งโลหะ สำหรับซิลิกอนบริสุทธิ์นั้นยังมีใครทำในบ้านเรา เพราะเมื่อทำมาแล้วต้องนึกถึงแอพพลิเคชันว่าจะทำอะไรต่อไป แต่ที่เราทำตอนนี้คือ การทำเวเฟอร์ซึ่งก่อนจะเป็นเวเฟอร์ต้องโดปเพื่อให้เป็นเซมิคอนดัคเตอร์ (Semiconductor: สารกึ่งตัวนำ) โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์ ตรงนี้เป็นอีกจุดที่จะมาเสริมงานของ ปส.ในอนาคต” เลขาธิการ ปส.กล่าว

พร้อมกันนี้นายปฐมยังได้ชี้แจงถึงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่จะเป็นพลังงานทดแทนว่า การจัดการด้านพลังงานไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามต้องวางแผนระยะไกล คือต้องมองว่าเมื่อหมดยุคของเราไปแล้วคนรุ่นต่อไปจะใช้อะไร ไม่ใช่วางแผนระยะใกล้มองแค่ว่าอีก 4-5 ปีจะเป็นอย่างไร อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่จะควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนั้นต้องวางแผนและตัดสินใจให้ดีๆ เพราะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ สร้างคนและเทคโนโลยี หากยังไม่มีความชัดเจนใดๆ การสร้างคนขึ้นมาก็สูญเปล่าหากไม่มีการสร้างงานรองรับ ขณะเดียวกันก็มีผลต่อการตัดสินในการเลือกศึกษาด้านนิวเคลียร์ของคนด้วย

โหมงานยาวนานเครื่องปฏิกรณ์หัวใจหลัก
อีก 3 ปีหมดอายุ รอยกเครื่องใหม่ที่องครักษ์

สำหรับสภาพของเครื่องปฏิกรณ์ฯ ในปัจจุบันกำลังจะหมดอายุการใช้งานลงแล้ว อายุการใช้งานของเครื่องปฏิกรณ์นั้นพิจารณาใน 2 ส่วนคือ 1.บ่อปฏิกรณ์ ซึ่งเป็นบ่อคอนกรีตอายุการใช้งานจึงขึ้นอยู่กับอายุคอนกรีต นายปฐมเสริมว่าคอนกรีตมีอายุการใช้งานได้ 40-50 ปี โดยจะยืดอายุการใช้งานด้วยการใส่คอนกรีตเข้าไปใหม่ หรือปรับปรุงตัวคอนกรีตซึ่งจะขยายเวลาการใช้งานต่อไปได้สักระยะ และ 2.ตัวเครื่องฯ ซึ่งมีการเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2518 เป็นเครื่องที่มีกำลัง 2 เมกกะวัตต์ ชื่อว่า ทริกา มาร์ก 3 (Triga Mark III) แต่เนื่องจากเครื่องอยู่ในบ่อที่มีอายุการใช้งานยาวนาน จึงถึงเกณฑ์ที่ต้องเลิกใช้งาน นอกนี้ทุกปีจะต้องปิดปรับปรุงบ่อ 2 เดือน เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัย โดยระหว่างนั้นทาง ปส.ต้องนำเข้าสารกัมมันตรังสีจากต่างประเทศมาแยกจำหน่ายแทนการผลิตเอง

“บ่อเริ่มเสื่อม ระบบที่เกี่ยวข้องกับบ่อบางส่วนก็อาจจะใช้งานไม่ได้ เราก็จะถนอมใช้อีกสัก 3 ปี แล้วจะย้ายไปองครักษ์แทน ปัญหาในการทำงานก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่เกิดจากลักษณะการทำงานภายในสำนักงานมากกว่า บางครั้งก็ไม่เต็มที่เพราะเครื่องปฏิกรณ์เครื่องนี้ออกแบบมาเพื่อวิจัยและพัฒนา แต่นำมาผลิตไอโซโทปเป็นเรื่องหลักเพราะสิ่งที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ทั้งจริงเป็นเพียงผลพลอยได้จากการเดินเครื่อง"

"เราอยากให้งานวิจัยก้าวหน้ากว่านี้ เท่าที่เป็นอยู่นี้มีน้อยไป อายุการใช้งานของเครื่องยังขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงด้วย จะบอกว่าไม่มีผลต่อการทำงานเลยก็ไม่ได้ เพราะเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ยิ่งใช้นานวัน ระดับนิวตรอนฟลักซ์ในเครื่องก็จะลดลงๆ ส่งผลให้งานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตไอโซโทปจะต้องใช้เวลามากขึ้น ทำให้ผลิตได้น้อยลง” นายปฐมกล่าว

โดยนิวตรอนฟลักซ์คือระดับปริมาณนิวตรอนที่เกิดขึ้น และนายปฐมยังกล่าวถึงผลกระทบของอันเนื่องจากอายุของเครื่องปฏิกรณ์ฯ ว่างานวิจัยบางอย่างต้องดัดแปลงหรือบางเรื่องอาจจะทำไม่ได้ หากนิวตรอนฟลักซ์ลดลง เนื่องจากว่าเชื้อเพลิงมีราคาค่อนข้างสูง หากซื้อมากเกินกว่าที่ต้องใช้เมื่อเครื่องปฏิกรณ์ฯ หมดอายุ เชื้อเพลิงไม่ได้ใช้ก็สูญเปล่า ทาง ปส.จึงไม่ซื้อแท่งเชื้อเพลิงเพิ่มแต่จะถนอมใช้จนกว่าเชื้อเพลิงแท่งสุดท้ายจะหมด ซึ่งจะหมดในอีก 3 ปีข้างหน้า ภายในแท่งเชื้อเพลิงนั้นจะประกอบยูเรเนียม 2 ชนิดคือยูเรเนียม-235 ที่เป็นไอโซโทปรังสีและยูเรเนียม-238 ที่ไม่ใช่ไอโซโทปผสมกับโลหะอื่นๆ โดยมียูเรเนียม-235 ไม่เกิน 20 % ของยูเรเนียมทั้งหมด ในการทำงานนั้นต้องคำนวณว่าเชื้อเพลิงยูเรเนียม-235 ระดับใดที่จะเป็นมวลวิกฤต (critical mass) ที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ได้

สนง.ปรมาณู 42 ปีมีแต่ภาพลบในสายตาประชาชน

“เนื่องจากว่าหน่วยงานราชการจะมีปัญหาการสื่อสารกับเอกชน และไม่ว่าหน่วยงานไหนๆ ก็เหมือนกันหมด แต่สำนักงานมีปัญหาหนักกว่านั้นอีก เพราะว่าภาพของนิวเคลียร์ยังฝังใจหรือว่ายังมีปัญหาอันตรายจากรังสีอย่างไม่คาดคิด” นายปฐมกล่าวถึงภาพลักษณ์ขององค์กรว่าในสายตาของประชาชนยังขาดความมิตรอยู่ เพราะชื่อขององค์กรที่ผูกติดกับคำว่านิวเคลียร์และคนส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจในเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น เลขาธิการ ปส.ยังชี้ว่าไม่ควรกังวลในเรื่องเครื่องปฏิกรณ์ระเบิด เพราะเครื่องปฏิกรณ์ในบ้านเราไม่มีทางระเบิดได้ เนื่องจากความร้อนเกิดที่ปฏิกิริยาไม่ใช่ตัวเครื่องปฏิกรณ์ และมีบ่อปฏิกรณ์ระบายความร้อนอยู่แล้ว

การย้ายที่ตั้งองค์กรไปองครักษ์ ทุกอย่างพร้อมทำงานแล้วยกเว้นเครื่องปฏิกรณ์ เรามีอาคาร ห้องปฏิบัติการ 18 หลัง พร้อมที่พักอาศัย ตอนนี้เรากำลังสร้างระบบน้ำ ไฟ คิดว่าทุกอย่างจะพร้อมสมบูรณ์ สิ้นปีนี้เราจะย้ายคนไปจำนวนหนึ่งก่อน เพราะงานบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปฏิกรณ์ เราสามารถค้นคว้าทดลองพืชพันธุ์ใหม่หรือกำจัดแมลงด้วยรังสี และเราสามารถสร้างโรงเลี้ยงแมลงที่นั่นได้"

"ความจริงเราไม่ได้เดือดร้อนถึงกับต้องย้ายไปวันนี้ พรุ่งนี้ทั้งหมด ยังต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากยิ่งขึ้น งานเราก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจอาจจะเนื่องจากต้องการรับทราบข้อมูลและการชี้แจงมากกว่านี้ ถ้าเราย้ายเข้าไปแล้วคงจะเกิดความเข้าใจมากขึ้น เพราะความคุ้นเคยสร้างความเป็นญาติได้ง่าย” เลขาธิการ ปส. กล่าวถึงอนาคตของสำนักงาน

นอกจากนี้ ปส.ยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โคบอลต์-60 เมื่อปี พ.ศ.2543 แม้ว่าจะไม่ได้เกิดจากการกระทำจากสำนักงานฯ โดยตรง แต่เมื่อเกิดเหตุร้ายทางรังสี ปส.ต้องเข้าไปรับผิดชอบและเกี่ยวข้องด้วยเสมอในฐานะผู้กำกับดูแล อีกทั้งความไม่เข้าใจในนิวเคลียร์ของประชาชน ทำให้การก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ที่องครักษ์ถูกคัดค้าน และเวลาที่ผ่านไปทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณในการก่อสร้างเท่าเดิมได้ ทาง ปส.จึงได้ทำเรื่องเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพิ่ม ขณะนี้รอเพียงการอนุมัติจากรัฐบาลให้ก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์เท่านั้น

“แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติ เราก็ต้องยอมรับสภาพ โดยทำงานอื่นแล้วนำเข้าสารรังสีแทน แต่เราก็จะขาดความรู้ในการเดินเครื่องปฏิกรณ์ และการศึกษาโครงสร้างของสสาร เครื่องปฏิกรณ์ถือว่าเป็นหัวใจของสำนักงาน แต่ถ้าเราไม่มีหัวใจดวงนี้ เราก็ใช้หัวใจดวงอื่นที่มันเล็กลงก็ได้” นายปฐมกล่าวปิดท้ายถึงทางออกที่พอจะมีของสำนักงาน

ไม่ว่าอย่างไร เราเชื่อว่าสามารถนำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ไปประโยชน์ในทางสันติได้ และหากเราศึกษากันอย่างท่องแท้จะพบว่านิวเคลียร์มีประโยชน์มหาศาลไม่เพียงแต่เป็นอาวุธที่ใช้เข่นฆ่ากันทางสงครามเท่านั้น สิ่งที่เราต้องทำคือ สร้างความเข้าใจให้ทุกคนรู้จักนิวเคลียร์จริงๆ และไม่ตื่นกลัวโดยขาดการพิจารณาด้วยเหตุผลที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น