P. Comte de Buffon นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้เคยมีชีวิตอยู่ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้เคยกล่าวสรรเสริญนกฮัมมิงเบิร์ด (hummingbird) ว่าเป็นนกวิเศษ เพราะพระเจ้าได้ประทานพรพิเศษด้านการบินทำให้มันเป็นนกชนิดเดียวในโลกที่บินไปข้างหน้า บินขึ้นหรือลงหรือบินถอยหลังก็ยังได้ เหมือนเฮลิคอปเตอร์
โลกมีฮัมมิงเบิร์ดประมาณ 320 ชนิด มันเป็นนกในวงศ์ Trochilidae ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือเป็นนกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยเฉพาะ Bee Hummingbird ที่พบในคิวบานั้น มีความยาวของลำตัวที่วัดจากปลายปากถึงปลายหางเพียง 6 เซนติเมตรเท่านั้นเอง ปีกที่บอบบางมีลักษณะเรียวยาวและแคบ มีหางสั้นบ้าง ยาวบ้าง เพราะขาสั้นและไม่แข็งแรง ดังนั้น มันจึงไม่ใช้ขาในการเดิน แต่ใช้สำหรับเกาะกิ่งไม้เท่านั้น จะงอยปากของนกชนิดนี้เรียวยาว แหลม บางพันธุ์มีจะงอยปากตรง แต่บางพันธุ์ก็มีจะงอยปากโค้ง ขนของมันมีหลากสี เช่น เทา เขียว น้ำตาล ขาว ดำ สีขนที่สดใสของตัวผู้ทำให้มันเวลาบินเป็นที่สะดุดตา อาหารหลักคือ น้ำหวานจากดอกไม้ แมลงและแมงมุม ฯลฯ เวลาจะผสมพันธุ์ตัวผู้จะมีลีลาการแสดงโชว์ที่ประทับใจในการทำรัง มันจะบุรังด้วยใยแมงมุม หญ้ามอส ตะไคร่น้ำ ตัวเมียออกไข่ครั้งละ 2 ฟอง ไข่มีสีขาว และมีขนาดเล็กกว่าเมล็ดกาแฟ ลูกนกเวลาคลอดใหม่ๆ ไม่มีขนและตามองไม่เห็น ดังนั้น แม่ต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกจนโต
ทุกวันนี้ เราสามารถพบเห็นนกที่จิ๋วแต่แจ๋วนี้ได้ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาเหนือ กลาง และใต้คือในบรรดาประเทศที่อยู่ระหว่างเส้นละติจูด 5 องศา เหนือและใต้ มันมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น คนฝรั่งเศสเรียกมันว่า oiseau mouche ซึ่งแปลว่า นกที่มีขนาดใหญ่กว่าแมลงวัน คนสเปนเรียกมันว่า beija flor ซึ่งแปลว่า นกที่ชอบจุมพิตดอกไม้ ส่วนคนคิวบาเรียกมันว่า gum gum ตามเสียงที่ได้ยินเวลามันบินผ่าน...
ฮัมมิงเบิร์ดเป็นนกที่ชอบความสันโดษ มันจึงไม่ชอบให้นกอื่นใดมาบุกรุกพื้นที่อาศัยในบริเวณรังของมัน ดังนั้นเวลามันเห็นนกอื่นๆ เข้ามาใกล้กราย มันจะบินออกมาต่อสู้อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช การมีนิสัยสู้ไม่ถอยนี้เองที่ทำให้ชาวอินเดียนแดงเผ่า Aztec ในอเมริกาใต้เรียกชื่อเทพเจ้าแห่งสงครามตามชื่อที่พวกเขาใช้เรียกฮัมมิงเบิร์ด ตามปกติเมื่อย่างเข้าหน้าหนาว นกฮัมมิงเบิร์ด (Selasphorus rufus) จะบินอพยพเป็นระยะทางไกลนับพันกิโลเมตร โดยมันบินไปสู่ภูมิประเทศที่มีอากาศอบอุ่นกว่า ทั้งๆ ที่ตัวมีขนาดเล็กกว่านกอื่นๆ แต่มันก็สามารถบินได้ไกลกว่า และนานกว่านกชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า พอมันรู้ว่าฤดูอพยพย่างใกล้เข้ามา มันจะรีบกินอาหารล่วงหน้า ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากถึง 50% ซึ่งถ้าจะเปรียบกับคน เราก็จะเห็นว่า ถ้าคนเราจะมีความสามารถเท่าฮัมมิงเบิร์ดในด้านการกิน คนที่หนัก 60 กิโลกรัม จะต้องกินอาหารหนัก 30 กิโลกรัม ให้ได้ภายในเวลา 3 สัปดาห์
ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 R. Dudley แห่งมหาวิทยาลัย Texas ในสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่า พฤติกรรมและความสามารถในการกินอาหารเช่นนี้ ทำให้ฮัมมิงเบิร์ดมีพลังงานสะสมในตัวของมันเองมากกว่าสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดในโลก และเพื่อไม่ให้ร่างกายของมันเป็นอันตราย มันก็ต้องปลดปล่อยพลังงานออกไปอย่างรวดเร็ว ในอัตรา 133 วัตต์/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในขณะที่คนปกติปลดปล่อยพลังงานได้น้อยกว่าถึง 9 เท่า Dudley ได้ข้อมูลนี้โดยให้ฮัมมิงเบิร์ดบินอยู่ในภาชนะที่มีก๊าซผสมระหว่างออกซิเจนกับฮีเลียม เพราะก๊าซผสมที่เขาใช้ในการทดลองมีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศ ดังนั้นฮัมมิงเบิร์ดจึงต้องใช้พลังงานในการบินมากกว่าปกติ มันจึงสามารถลอยตัวอยู่ได้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่จะลดน้อยลงๆ จนหมด และทันทีที่ก๊าซออกซิเจนหมด ฮัมมิงเบิร์ดก็จะหมดแรงบิน การรู้ความเร็วในการกระพือปีก การรู้น้ำหนักของนก การรู้เวลาที่มันบินทำให้ Dudley รู้ทันทีว่า ฮัมมิงเบิร์ดมีพลังงานสะสมในตัวมากเพียงใด และเขาก็ได้พบว่า หากจะให้คนมีพลังงานสะสมในตัว/น้ำหนักตัว หนึ่งกิโลกรัมเท่านกฮัมมิงเบิร์ด คนจะต้องมีกำลังมากถึง 10 กำลังม้า และต้องกินอาหารวันละ 130 กิโลกรัม อีกทั้งต้องสามารถกำจัดความร้อนออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็วมาก เพราะไม่เช่นนั้นอุณหภูมิสะสมในร่างกายจะสูงจนคนนั้นร้อนตาย Dudley ยังได้พบอีกว่า ขณะนกฮัมมิงเบิร์ดบินลอยนิ่งอยู่ในอากาศ และจะงอยปากลิ้นของมันดูดน้ำหวานจากดอกไม้นั้น ความเร็วในการกระพือปีกของนกฮัมมิงเบิร์ดอาจสูงถึง 80 ครั้ง/วินาที เท่านั้น ยังไม่พอ มันยังยกตัวให้ตั้งอยู่ในแนวดิ่งด้วย ซึ่งทำให้การบินลักษณะนี้ต้องการพลังงานมาก แต่มันก็ทำได้อย่างไร้ปัญหาใดๆ เพราะตัวมันมีพลังงานสะสมภายในมากมหาศาล อีกทั้งยังสามารถกำจัดความร้อนออกจากตัวได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ร่างกายของมันจึงไม่ประสบปัญหารับและระบายพลังงานแต่อย่างใด เพราะในแต่ละวันมันสูญเสียพลังงานมาก ดังนั้นมันจำต้องกินอาหารตลอดเวลา เพื่อชดเชยพลังงานที่เสียไป
โดยเลือกกินอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น น้ำหวานจากดอกไม้ หรือแมลง เป็นต้น และในยามอาหารขาดแคลน นกฮัมมิงเบิร์ดใช้วิธีจำศีลในการประหยัดพลังงาน
ปริศนาหนึ่งที่ยังค้างคาใจนักชีววิทยาคือ เหตุใดเราจึงไม่พบซากฟอสซิลของนกฮัมมิงเบิร์ดในยุโรป เอเชีย หรือแอฟริกาเลย ทั้งๆ ที่ในอดีตเมื่อ 70 ล้านปีมาแล้ว พื้นแผ่นดินส่วนที่เป็นยุโรป อเมริกา และแอฟริกา เคยต่อเนื่องเป็นทวีปเดียวกัน การไม่มีมหาสมุทรคั่นกลาง น่าจะทำให้เราพบซากฟอสซิลของฮัมมิงเบิร์ดในยุโรป หรือเอเชียบ้าง แต่เราก็พบซากฟอสซิลของฮัมมิงเบิร์ดเฉพาะในอเมริกากลางเท่านั้น
ในวารสาร Science ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ Gerald Mayr แห่ง Senckenberg Research Institute ที่เมือง Frankfurt ในประเทศเยอรมนี ได้รายงานการพบซากฟอสซิล 2 ซาก อายุ 30 กับ 34 ล้านปี ซึ่ง Mayr ได้ตั้งชื่อซากนกนี้ว่า Eurotrochilus inexpectatus ซึ่งแปลว่า ซากฮัมมิงเบิร์ดที่ไม่คาดฝันว่าจะพบในยุโรป เพราะเขาได้พบมันที่เมือง Messel ในเยอรมนี
บรรพปักษาของนกฮัมมิงเบิร์ดที่พบนี้ มีจะงอยปากแหลมยาวประมาณ 2 เท่าของขนาดกะโหลกศีรษะ มันจึงหาอาหารโดยวิธีดูดน้ำหวานจากดอกไม้ เช่นเดียวกับฮัมมิงเบิร์ดทุกวันนี้ ซากฟอสซิลที่พบใหม่นี้ จึงให้ความรู้ใหม่ว่า ยุโรป ในอดีตที่นานมากแล้ว เคยมีฮัมมิงเบิร์ดอาศัยอยู่ และการที่ดอกไม้ต่างๆ ที่เคยบานเบ่งในทวีปยุโรป และแอฟริกาในสมัยนั้น มีรูปร่างลักษณะเป็นกรวย หรือเรียวยาว ก็เพราะมันได้วิวัฒนาการปรับรูปร่างของมันให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งอาหารให้ฮัมมิงเบิร์ดนั่นเอง
คำถามที่ติดตามมาต่อไปคือ เหตุใดฮัมมิงเบิร์ดจึงสูญพันธุ์ในยุโรป
สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน