xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์ “ฮอบบิต” 18,000 ปี ร่วมชั้นวิวัฒนาการมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนเจอร์/รอยเตอร์ – ค้นพบกระดูกมนุษย์แคระเพศหญิงขนาดตัว “ฮอบบิต” อายุกว่า 18,000 ปีบนเกาะฟลออเรส อินโดนีเซีย ตั้งชื่อว่า “โฮโม ฟลอเรไซเอนซิส” หรือ “มนุษย์ฟลอเรส” สูงแค่ 1 เมตร โดยจัดลำดับวิวัฒนาการให้ต่อจาก “โฮโม อีเร็กตัส” หรือมนุษย์ชวา

ปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) นักมนุษยวิทยายุคดึกดำบรรพ์ มหาวิทยาลัยนิว อิงแลนด์ ในอาร์มิเดล ออสเตรเลีย (University of New England in Armidale) เปิดเผยรายงานการค้นพบซากมนุษย์ยุคหินผ่านวารสาร “เนเจอร์” (Nature) ว่า เขาและทีมงานได้ค้นพบกะโหลกศีรษะของมนุษย์โบราณความสูงเพียงแค่ 1 เมตรและมีขนาดสมองเพียงแค่ 1 ใน 3 ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ถ้ำหินปูนชื่อ “เหลียงบัว” (Liang Bua) บนเกาะ “ฟลอเรส” (Flores) ของอินโดนีเซีย

ทีมขุดค้นเรียกมนุษย์ที่ขุดพบว่า “ฮอบบิต” เนื่องจากซากกระดูกเหล่านั้นช่างคล้ายคลึงกับตัวละครในเรื่อง “ลอร์ด ออฟ เดอะริง” มากกว่า โดยคาดว่าเป็นเพศหญิง ซึ่งพบซากกระดูกเกือบเต็มๆ ตัว ประกอบด้วย กะโหลก ขากรรไกรพร้อมด้วยฟันเกือบครบชุด อีกทั้งยังพบซากกระดูกและฟันจากคนอื่นๆ อย่างน้อยอีก 7 ร่าง และเครื่องมือหิน นอกจากนี้ในพื้นที่เดียวกันก็ยังพบซากกระดูกของมังกรโคโมโด (Komodo)หรือตัวเงินตัวทอง และ “สเตโกดอน” (Stegodon) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรูปร่างคล้ายช้างแคระ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว คาดว่าฮอบบิตเหล่านี้คงล่าไว้เป็นอาหาร

อย่างไรก็ดี หลังจากตรวจสอบแล้วเชื่อว่ากระโหลกดังกล่าวเป็นของมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ ถือว่าเป็นมนุษย์ยุคแรกสุดที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอินโดนีเซีย และดำรงเผ่าพันธุ์อยู่เมื่อประมาณ 18,000 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการว่า “โฮโม ฟลอเรไซเอนซิส” (Homo floresiensis) หรือ “มนุษย์ฟลอเรส” (Flores man) ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า มนุษย์กลุ่มนี้อาศัยแยกตัวอยู่บนเกาะอีกยาวนาน หลังจากพวกโฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) หรือสายพันธุ์มนุษย์ยุคปัจจุบันอพยพขึ้นสู่ผืนแผ่นดินในแถบแปซิฟิกใต้กันหมดแล้ว

“ผมอ้าปากค้าง ตกตะลึง” บราวน์เผยความรู้สึกหลังจากได้รู้ว่าสิ่งที่เขาและทีมงานค้นพบมีนัยสำคัญอย่างไร เพราะถ้าหากค้นพบกิ่งก้านสาขาอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อนในสาแหรกของสายพันธุ์มนุษยชาติ และพวกเขาเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ใครจะรู้บ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป เหล่ามนุษย์ฮอบบิตที่เพิ่งค้นพบไปหมาดๆ มีส่วนสูงเพียงแค่นั้น ซึ่งสามารถชี้ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการวิวัฒนาของมนุษย์ เหมือนกับที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายมีขนาดแคระแกรนลง นั่นเพราะมีการแยกตัวออกจากกลุ่มและได้รับแรงกดดันจากระบบนิเวศ อย่างเช่นบนเกาะต่างๆ ที่มีทรัพยากรจำกัด

ทั้งนี้ กระดูกของมนุษย์ฟลอเรสที่ค้นพบนี้ไม่ใช่ฟอสซิล แต่เป็นโครงกระดูกจริงๆ ซึ่งริชาร์ด โรเบิร์ตส์ (Richard Roberts) จากมหาวิทยาลัยวอลองกอง (University of Wollongong) ออสเตรเลีย หนึ่งในคณะสำรวจ เปิดเผยว่า การค้นพบครั้งนี้ ทำให้พื้นที่ขุดค้นต่างๆ ในหมู่เกาะบนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการใส่ใจมากขึ้น เพราะอาจจะทำให้ค้นพบมนุษย์สายพันธุ์เดียวกันนี้ เพื่อใช้เป็นหนทางในการอธิบายถึงวิวัฒนาการของ “โฮโม เซเปียนส์” และ “โฮโม อีเร็กตัส” (Homo erectus) มนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่มีความเกี่ยวพันกับพวกเราในทุกวันนี้

”โฮโม อีเร็กตัส” เป็นมนุษย์ช่วงที่เริ่มยืนตัวตรงเช่นเดียวกับมนุษย์สมัยใหม่ ยกเว้นในส่วนของฟันซึ่งยังมีลักษณะเป็นมนุษย์วานรอยู่ มีรูปร่างและสมองขนาดใหญ่ และอพยพย้ายถิ่นกระจายจากแอฟริกาสู่เอชีย โดยกระจายตัวอยู่ตามเกาะบริเวณชวา เมื่อ 2 ล้านปีก่อน ซึ่งค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ.2431-2433 เรียกว่า “มนุษย์ชวา” (Java Man) และ พ.ศ.2472 พบที่ประเทศจีนเรียกว่า “มนุษย์ปักกิ่ง” (Peking Man) และล่าสุดก็มีการค้นพบที่ อ.เกาะคา ลำปาง

นอกจากนี้ ทีมสำรวจคาดว่าน่าจะเป็นต้นตระกูลของมนุษย์ฟลอเรส และหวังอีกว่า พวกเขาอาจจะพบมนุษย์ฟลอเรสตัวน้อยในหมู่เกาะอื่นๆ ระแวกนั้นอีก อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยว่ามนุษย์ฟลอเรสน่าจะมีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับมนุษย์ปัจจุบัน และสูญพันธุ์ไปหลังจากเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่บนเกาะเมื่อ 13,000 ปีที่แล้ว แต่มีเรื่องเล่าพื้นถิ่นที่เล่าต่อๆ กันมาว่าบนเกาะฟลอเรสมีมนุษย์อาศัยอยู่จนกระทั่งชาวดัชต์เขามาตั้งอาณานิคมในช่วงศตวรรษที่ 1500

ที่สำคัญไปกว่านั้น เราเกือบจะทิ้งร่องรอยล้ำค่าแห่งประวัติศาสตร์ไปแล้ว หลังจากการขาดแคลนงบประมาณและกฎหมายที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของอินโดนีเซีย ทำให้กระดูกของมนุษย์ฟลอเรสถูกเก็บเข้าลิ้นชักของศูนย์มานุษยวิทยาแห่งชาติ ในจาการ์ตา ซึ่งโธมัส สุติกนา (Thomas Sutikna) นักมานุษยวิทยาผู้ที่ค้นพบกระโหลกอันล้ำค่า “มนุษย์ฟลอเรส” เปิดเผยว่า มีการค้นพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียและอินโดนีเซีย และปีนี้เขาและทีมงานพบกระดูกเพิ่มเติม คือ ขากรรไกรล่าง บางส่วนของขา แขน และฟัน

อย่างไรก็ดี โครงการขุดค้นถ้ำหินปูนเหลียง บัว บนเกาะฟลอเรส ห่างจากจาการ์ตาไป 940 ไมล์นั้นเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970 (ประมาณ พ.ศ.2513) ซึ่ง “โซเอโจโน” (Soejono) นักมานุษยวิทยาผู้นำทีมเปิดเผยว่า ทีมงานของเขาได้ค้นพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่บ่งบอกถึงสิ่งมีชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์ในถ้ำ หลังจากคณะมิชชันนารีชาวดัชต์ก้าวเข้ามาบนเกาะ

”พวกเราพบว่าในถ้ำนั้นมีร่องรอยการอาศัยอยู่ พวกเราได้เดินหน้าการวิจัยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งงบประมาณที่รัฐบาลให้มา หมดลง” โซเอโจโนย้อนเล่าถึงการขุดค้นก่อนหน้าที่จำต้องหยุดลงในปีพ.ศ.2532 และเริ่มการขุดค้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2544 ด้วยทุนจากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ทั้งนี้เกาะฟลอเรส เป็นหนึ่งในเกาะเก่าแก่ที่สุดของอินโดนีเซีย มีสภาพเป็นเกาะมาตั้งแต่อย่างน้อยประมาณ 1 ล้านปีที่ผ่านมา ไม่เหมือนกับพื้นที่ส่วนอื่นๆ อีกหลายส่วนของอินโดนีเซียที่เพิ่งแยกเป็นเกาะได้ไม่นาน ทำให้สภาพพืชพันธุ์และสัตว์บนเกาะดังกล่าวแตกต่างออกไปจากพื้นที่ทั่วไป





กำลังโหลดความคิดเห็น