xs
xsm
sm
md
lg

“ไหมยืดได้” นวัตกรรมใหม่ของผ้าไทย เจ้าแรกของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนองไหมไทย เปิดตัวผ้าไหมพันธุ์ใหม่ ซักง่าย ยับยาก ทางเลือกใหม่ของผู้รักไหม แต่ไม่ชอบความยุ่งยาก ด้วยเทคโนโลยีนำเข้าจากแดนอาทิตย์อุทัย ทำไหมยืดได้สำเร็จเป็นที่แรกของโลก แนะต่อไทยยังต้องพัฒนาพันธุ์ไหมให้เหมาะกับเมืองร้อน ลดการนำเข้าเส้นไหมเมืองนอก ส่วนยุ่นยอมยกธง ไม่ผลิตแล้วเพราะไหมคุณภาพไม่เจ๋ง แถมสู้ค่าแรงไม่ไหว

นายบดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท ระนองไหมไทย จำกัด เปิดตัว “ไหมยืดได้” ในงาน “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” ไหมชนิดนี้ผลิตได้เป็นครั้งแรกของโลก มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นได้ดี ไม่ยับง่าย เวลาซักสามารถขยี้ได้ คุณสมบัติพิเศษนี้ได้มาจากขั้นตอนการในการสาวไหมที่ให้เส้นไหมพันรอบเส้นใยเสปนเด็กซ์ โดยใช้เครื่องจักรของญี่ปุ่นซึ่งได้พยายามผลิตผ้าไหมชนิดเดียวนี้ขึ้นมา แต่เนื่องจากว่าคุณภาพของเส้นใยไหมญี่ปุ่นไม่ดี ขาดง่ายและไม่สม่ำเสมอ กอปรกับค่าแรงแพงและฝักไหมไม่พอ ทางญี่ปุ่นจึงเลิกผลิตและขายต่อเครื่องจักรให้กับไทย

ภายในงานบริษัทได้นำผ้าที่ทอจากเส้นใยไหมนี้มาจัดแสดงด้วย ทั้งผ้าที่ทอเป็นผืนหลากหลายสี ผ้าที่จัดเย็บเป็นรูปทรงต่างๆ หูกทอผ้า รวมไปถึงตัวไหมในระยะต่างๆ ซึ่งนายบดินทร์กล่าวว่า การเก็บรักษาไหมยืดได้จะง่ายกว่าการเก็บรักษาผ้าไหมธรรมดา อายุการใช้งานของเสื้อผ้าขึ้นอยู่กับผู้ใช้ การสวมใส่เหมือนกับผ้าไหมทั่วไป ด้านราคาของไหมชนิดใหม่นี้ จะแพงกว่าไหมทั่วไปประมาณเท่าตัว โดยถ้าตัดเย็บเป็นเสื้อยืดก็จะอยู่ที่ราคาตัวละ 2,000 บาท แต่เนื่องจากว่าบริษัทเป็นโรงงานสาวเส้นไหม ส่วนใหญ่จะส่งเส้นใยไหมแก่โรงงานทอผ้า ราคาของเส้นไหมยืดได้จะตกประมาณ กิโลกรัมละ 2,000 บาท

“ต้องใช้ไหมพันธุ์ที่ถูกต้องคือต้องเหมาะกับเมืองร้อน ประเทศไทยต้องพัฒนาเส้นไหมใหม่ให้กับเข้าสภาพอากาศ ปัจจุบันคุณภาพเส้นใยไหมในประเทศยังไม่ดี ไหมไทยมีปัญหาที่เส้นใหญ่ สั้นและขนาดไม่สม่ำเสมอ การรับพันธุ์ไหมเมืองหนาวอย่างญี่ปุ่นเข้ามาเลี้ยงทำให้ตัวไหมจะมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศร้อน ตัวไหมจะไม่แข็งแรงและจะคายใยไม่ต่อเนื่อง เส้นใยจึงไม่เรียบ ได้ไหมไม่สวย เนื่องจากการเลี้ยงในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม”นายบดินทร์กล่าว

นายบดินทร์ยังกล่าวอีกว่าไทยควรจะใช้ไหมพันธุ์ลูกผสมที่เหมาะกับสภาพเมืองร้อน โดยควรจะนำพันธุ์ไหมจากเมืองจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นไหมที่ดีที่สุดในโลก (แถบมณฑลกวางตุ้ง) มาผสมกับไหมพันธุ์พื้นเมืองของไทย ลักษณะใยไหมพันธุ์พื้นเมืองของไทยเป็นสีเหลือง ส่วนใยไหมของจีนเป็นสีขาว และเนื่องจากว่าไทยยังผลิตไหมคุณภาพไม่พอกับความต้องการ อุตสาหกรรมไหมไทยจึงต้องนำเข้าเส้นใยไหมส่วนใหญ่จากต่างประเทศอย่างอุตสาหกรรมไหมที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นำเข้าเส้นใยไหมถึง 20 ตัน/เดือน การผลิตเส้นไหมของบริษัทเองก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ในการพัฒนาพันธุ์ไหมของระนองไหมไทย ปัจจุบันมีมีพันธุ์ไหม บดินทร์ 1-4 เป็นไหมลูกผสมที่นำพันธุ์มาจากเมืองจีนผสมกับไหมพื้นเมืองของไทย ซึ่งไหมที่ได้มีความอดทนต่อสภาพอากาศและให้เส้นไหมคุณภาพดี สามารถเลี้ยงไหมบนดินได้ ส่วนการให้อาหารจะใช้หม่อนพันธุ์ก็ได้ และทางบริษัทเองก็ได้มีการพัฒนาพันธุ์หม่อน ชื่อ บดินทร์ 003 ที่สามารถต้านทานโรคได้ดี ป้องกันโรครากเน่าได้ แต่ใบจะมีขนาดเล็ก โดยปลูกตามฟาร์มของบริษัท และกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น ที่จังหวัดสุรินทร์มีการปลูกอยู่ที่ศูนย์เพาะพันธุ์และกระจายการส่งเสริมหม่อนเลี้ยงไหม หรือที่จังหวัดมหาสารคามซึ่งประสบปัญหาในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้ติดต่อขอพันธุ์ไปปลูก

ส่วนไหมยืดได้ผลิตภัณฑ์ตัวไหมของบริษัทนี้ยังต้องพัฒนาให้ดีกว่าเดิมคือทำให้เส้นใยมีความนิ่มขึ้น โดยจะนำช่างจากญี่ปุ่นมาปรับปรุงเครื่องจักร ครั้งล่าสุดได้ต่อเติมเครื่องจักรเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ใช้เงินลงทุนไป 20 ล้านบาท และทางศูนย์เทคโนโลยีวัสดุและโลหะแห่งชาติหรือเอ็มเทค ก็ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านคำแนะนำ และน้ำยาในการสาวไหม เครื่องจักรนี้เป็นเครื่องสาวไหมแบบอัตโนมัติ ขนาด 400 หัว ใช้ไฟฟ้าและน้ำยาในการสาว ขณะนี้ “ไหมยืดได้” ยังอยู่ในขั้นการทดลองด้านกำลังคนและเครื่องจักร คาดว่าจะสามารถนำออกมาจำหน่ายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า





กำลังโหลดความคิดเห็น