“ทีมบั้งไฟ” สรุปผลธรรมชาติผลิตลูกไฟพญานาค ชี้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเก็บข้อมูลตลอด 1 ปี ยังพบลูกไฟขึ้นในหนองน้ำหลายแห่ง เตรียมลงพื้นที่อีกรอบวันที่ 28-29 ต.ค.นี้ก่อน ตีพิมพ์รายงานการวิจัยเผยแพร่ทั่วโลก ส่วนญี่ปุ่นสนใจกระบวนทำวิจัยเพื่อนำไปเผยแพร่
นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะหัวหน้าทีมพิสูจน์ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย ซึ่งได้วิจัยมาเป็นเวลา 1 ปี กล่าวว่า ภายหลังนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการเกิดบั้งไฟพญานาคในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปีว่า เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ หรือเกิดจากมนุษย์ทำขึ้น
ผลวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินการในช่วงวันที่ 9-15 ตุลาคม 2546 ก่อนและหลังวันออกพรรษารวม 9 จุด ได้แก่ ปากห้วยเป อ.รัตนวาปี (สบน้ำเปกับแม่โขง) ปากห้วยหลวง อ.โพนพิสัย หนองสรวง อ.โพนพิสัย ปากห้วยงึมน้อย อ.รัตนวาปี ปากน้ำปากคาด อ.ปากคาด ปากห้วยวัดอาฮง อ.บึงกาฬ ปากห้วยวังฮู วัดจอมมณี อ.เมืองหนองคาย สมห้วยเปลวเหงือก น้ำเป และจุดอ้างอิงเหนือบ้านม่วง (ภูโปด/แม่โขง) โดยเก็บตัวอย่างตะกอนใต้น้ำ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของน้ำ อากาศ และสภาพทางธรณีวิทยา ทำให้สามารถตรวจจับแก๊สฟอสฟีน และมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้
รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ให้ชาวบ้านใน 7 หมู่บ้าน 4 อำเภอ คือ โพนพิสัย บึงกาฬ ปากคาด และ อ.รัตนบุรี ช่วยติดตามปรากฏการณ์มาตลอดระยะ 1 ปี โดยชาวบ้านรายงานการเกิดบั้งไฟในหนองน้ำที่เชื่อมถึงลำน้ำโขง คือหมู่บ้านอาฮง อ.บึงกาฬ และที่บ้านโนนศิลา พบบั้งไฟในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ขณะที่บริเวณปากน้ำเป อ.รัตนบุรี จะพบบั้งไฟขึ้นในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้สามารถยืนยันได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าบั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 100% จากการสะสมของซากพืชซากสัตว์ใต้แหล่งน้ำที่ปรับตัวเองเป็นก๊าซที่ติดไฟได้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้ ทีมวิจัยจะลงไปวิจัยภาคสนามอีกครั้ง จากนั้นจะสรุปผลวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศต่อไป โดยขณะนี้สื่อมวลชนจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะมาถ่ายทำการพิสูจน์บั้งไฟพญานาคของนักวิจัยร่วมกับชาวบ้านเพื่อนำไปเผยแพร่ด้วย
สำหรับทีมนักวิจัยปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ได้แก่ ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ดร.วเรศ วีระสัย อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และ รศ.ดร.ปิยะธิดา ตรีเดช อาจารย์คณะสาธารณสุข ม.มหิดล