xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวงทรงเปิดงานสัปดาห์วิทย์ฯ ขนนวัตกรรมมาอวดกันเพียบ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เฉลิมฉลองในวโรกาสคล้ายวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปีของรัชกาลที่ 4 และวันเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งในหลวงทรงใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ อย่างสนพระราชหฤทัย โดยเฉพาะ “เขื่อนใต้ดิน” ที่มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น

วันนี้ (19 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2547” ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงวางพานพุ่มดอกไม้ และจุดธูปเทียนถวายราชสักการะและทรงกราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

นายกฯ ขอพระบรมราชานุญาติประกาศเกียรติคุณ 2 พระมหากษัตริย์

จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พร้อมกราบบังคมทูลกล่าวรายงานการจัดงานวิทยาศาสตร์ฯ ความว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม เนื่องในโอกาสงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2547 ประจวบกับวาระอันเป็นมงคลสมัย คล้ายวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศยกย่องให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม มานุษยวิทยา และการสื่อสาร

ข้าพระพุทธเจ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในนามของปวงชนชาวไทย ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศเฉลิมพระเกียรติคุณ แสดงความจงรักภักดีและกตัญญูกตเวทิตาธรรม 2 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ในฐานะพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ที่ได้ทรงธำรงรักษาเอกราชของชาติ ทรงปกครองประเทศ และทรงปกเกศคุ้มเกล้าเหล่าปวงชนชาวไทย ให้ผาสุกร่มเย็นมาจนถึงทุกวันนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ทรงนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นภัยจากลัทธิการล่าอาณานิคม สามารถธำรงรักษาเอกราชของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างสูญเสียเอกราชอธิปไตยไปหมดสิ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีความลุ่มลึกในวิชาวิทยาศาสตร์แขนงดาราศาสตร์ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาในประเทศไทยไว้ก่อนล่วงหน้า 2 ปี ว่าดวงอาทิตย์จะมืดมิดเต็มดวงเป็นเวลานานถึง 6 นาที 46 วินาที ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปรากฏว่าการคำนวณของพระองค์ถูกต้องกว่านักดาราศาสตร์ตะวันตก 2 วินาที เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญพระเกียรติคุณอย่างไพศาล วงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจึงพร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

สำหรับในรัชสมัยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ ในด้านเทคโนโลยีนั้น ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ ทรงมีพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในด้านเทคโนโลยี ได้ทรงค้นคิด ค้นคว้า ทดลอง ดัดแปลง ปรับปรุง แก้ไข และริเริ่ม วิจัยพัฒนา โครงการส่วนพระองค์อันหลากหลาย จนก่อให้เกิดนวัตกรรมจำนวนมาก ทั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา ทฤษฎีใหม่ โครงการแก้มลิง แกล้งดิน การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยเครื่องกล การประดิษฐ์อักษรไทยแบบจิตรลดาและภูพิงค์ด้วยคอมพิวเตอร์ การประดิษฐ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้พิมพ์ตัวอักษรได้ทั้งภาษาสันสกฤต ภาษาไทย และตัวโฟเนติก และโครงการอีกนานัปการ ได้เป็นทั้งแบบอย่างของการทำงาน เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปฏิบัติตาม และทำให้เกิดการตื่นตัวนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกันมากขึ้น

พระราชกรณียกิจด้านเทคโนโลยีที่ได้ทรงริเริ่มไว้ ยังได้นำมาใช้ในการดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรและชาวโลก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ปวงชนชาวไทยหาที่สุดมิได้

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2543 เห็นชอบให้เทิดพระเกียรติใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ ในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกที่เขื่อนแก่งกระจาน และสามารถบังคับให้ฝนตกลงตรงเป้าหมายได้ราวปาฏิหาริย์ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดในวันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันเทคโนโลยีของไทย

ในโอกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสพร้อมใจกันตั้งสัตยาธิษฐาน กล่าวคำอันเป็นสัจจะวาจาว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ไว้ในเกล้าในกระหม่อมอย่างยั่งยืนยาวนานสืบไป และจะดำรงตนให้เป็นประโยชนต่อชาติบ้านเมืองตลอดไป ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทอดพระเนตรงานวิทยาศาสตร์ฯ ด้วยความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตัดแถบแพรเปิดงานวิทยาศาสตร์ฯ และเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการพระมหากษัตริย์ไทยกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนำโครงการในพระราชดำริมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นกังหันน้ำชัยพัฒนา ทฤษฎีใหม่ โครงการแก้มลิง แกล้งดิน การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยเครื่องกล ทั้งนี้ ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรนิทรรศการ ทรงสนพระราชหฤทัยแบบจำลอง “เขื่อนใต้ดิน” ซึ่งเป็นตัวอย่างจากเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น โดยทรงมีพระราชดำรัสกับนายกรัฐมนตรีถึงความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดดังกล่าวนี้มาใช้

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการในช่วงแรกเสร็จสิ้นแล้ว ทรงประทับรถกอล์ฟไฟฟ้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการในส่วนอื่นๆ พร้อมทั้งมีพระราชปฏิสันถารกับผู้ที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ถวายรายงานตามโครงการต่างๆ นอกจากนี้ทางคณะกรรมการจัดงานยังได้เบิกตัว ศ.ดักลาส ดี ออเชอรอฟ (D. D.Osheroff) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล คณะกรรมการสืบสวนอุบัติเหตุยานโคลัมเบีย พร้อมด้วย ศ.หวัง วู ซุก (Prof. Hwang Woo-Suk) และ ศ.ซุง เคียน กัง (Prof. Sung Keun-Kang) นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีผู้ทดลองการโคนนิงตัวอ่อนมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งเดินทางมาบรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าเฝ้าฯ

เมื่อรถกอล์ฟพระที่นั่งเดินทางมาถึงนิทรรศการของศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เจ้าหน้าที่ได้ถวายชิปอาร์เอฟไอดี (RFID) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่เนคเทคกำลังพัฒนาขึ้น โดยชิปดังกล่าวถวายเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สัมผัสกับเครื่องอ่านเพื่อเปิดคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับคณะนักวิจัยรอถวายพระพรทางอินเทอร์เน็ตจากศูนย์วิจัยของเนคเทคที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งห้องวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเทคโนโลยีสะอาด (clean technology)

นอกจากนี้ “อาซิโม” หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทฮอนดา ได้ขอพระบรมราชานุญาตแสดงความสามารถ โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2545 ได้แสดงความสามารถต่อหน้าพระพักตร์เป็นครั้งแรกที่พระราชวังไกลกังวล แต่ครั้งนี้ “อาซิโม” ได้พัฒนามากขึ้นกว่าเดิม โดยสามารถจำใบหน้าคนและสื่อสารโต้ตอบผ่านปัญญาอัจฉริยะ (เอไอ) ได้มากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาชมนิทรรศการสัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ อยู่นานกว่า 3 ชั่วโมง โดยมีศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, นายกรัฐมนตรีและนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถวายรายงานเป็นระยะ จากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันถารแก่คณะรัฐมนตรีผู้ติดตามตลอดการเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 21.20 น.

9 กระทรวงและหน่วยงานเอกชนจำนวนมากงัดสุดยอดนวตกรรมมาโชว์

นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทางกระทรวงได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นแกนนำในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมหลากหลายสาขาวิชาต่อสาธารณชนและกระตุ้นให้เยาวชนไทยตื่นตัวที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเป็นเวทีส่งเสริมและสนับสนุนให้ภูมิปัญญาของคนไทยได้รับการพัฒนาต่อยอดไปเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก

งานวิทยาศาสตร์ฯ ปีนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงสำคัญ 9 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกมากมายจัดทำกลุ่มนิทรรศการแสดงผลงานที่โดดเด่นของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยไทย และจดัประชุมวิชาการในหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก อย่างนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีด้านการพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและสาธารณชนตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงธุรกิจระดับชาติได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง”

ทางด้าน ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สารสำคัญที่คณะผู้จัดงานฯ ต้องการสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมายหลัก อันได้แก่ เยาวชน ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ก็คือ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน โดยขมวดเป็นคำขวัญที่ว่า “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” ซึ่งจะแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในซุ้มนิทรรศการที่หลากหลาย เช่น โครงการแกล้งดินในพระราชดำริ พาววิลเลียนสาธิตเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี เครื่องบินและรถพลังงานแสงอาทิตย์ หุ่นยนต์อัจฉริยะ ผ้าไหมยืดได้ และการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยตัวเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เกิดจากมันสมองของคนไทย และผ่านการพัฒนาปรับปรุงมาเป็นเวลานานจนประสบความสำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจ

ทั้งนี้ สัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้มีเนื้อที่ในการจัดงานถึง 47,000 ตารางเมตร โดยใช้อาคารนิทรรศการในอิมแพค (exhibition hall) เพื่อรองรับกลุ่มนิทรรศการถึง 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มเอเนจีเทคโนโลยี กลุ่มอิเล็กทรอนิคส์ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มวัสดุ กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพและสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนาโน และกลุ่มพัฒนาเด็กและเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังมีผลงานของกระทรวงต่างๆ มาร่วมแสดง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แสดงผลงานการปลูกผักปลอดสารพิษ และการเพาะเลี้ยงปลากะลังจุดฟ้า ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ไทยเพาะพันธุ์ได้สำเร็จเป็นประเทศแรก กระทรวงอุตสาหกรรมแสดงระบบความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร กระทรวงสาธารณสุขแสดงนิทรรศการสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย กระทรวงคมนาคมสาธิตเครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยระบบดาวเทียมสำรวจร่องน้ำของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และแผนที่อินเทอร์แอกทีฟของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ส่วนกระทรวงกลาโหมก็แสดงการจำลองสถานการณ์การรบ และหุ่นจำลองเครือข่ายการสื่อสารโดยอาศัยบอลลูนรอบอ่าวไทย

งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2547 เปิดให้ชมแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 23 ตุลาคม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 30 จัดควบคู่กันไปด้วยจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม















กำลังโหลดความคิดเห็น