นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเจ้าของผลงาน “การศึกษาเรื่องพิษสุนัขบ้า” บรรยายพิเศษเผยความก้าวหน้าในการควบคุมและป้องกันโรค เผยไทยมีความสามารถตรวจจับไวรัสหมาบ้าได้แม่นยำ ชี้ลดจำนวนคนเสียชีวิตจาก 160 รายเหลือเพียง 20 รายและกำลังพัฒนาแคปซูลรักษาในสุนัข โชว์วิธีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื้อราคาต่ำ ไทยคิดเป็นเจ้าแรก แนะปัญหาพิษสุนัขบ้าจะหมดไปถ้าชุมชนช่วยเหลือกันดูแลสุนัข
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.ของวันนี้ (19 ต.ค.) หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีกล่าวพระราชดำรัสเปิดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานีแล้ว ศ.นพ.แพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2547 ได้กล่าวบรรยายพิเศษหน้าพระที่นั่งในหัวข้อเรื่อง “โรคพิษสุนัขบ้า : การศึกษาโรคพิษสุนัขบ้าทางอณูชีววิทยาและภูมิคุ้มกันของระบบประสาท ในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและพยาธิกำเนิดของโรค” (Human rabies: a disease of complex neuropathogenetic mechanisms and diagnostic challenges)
นพ.ธีระวัฒน์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องโรคทางระบบประสาทและมีผลงานวิจัยดีเด่นในเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เกี่ยวข้องกับการศึกษาโรคสมองอักเสบทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะจากพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกัน โดยเป็นการศึกษาแบบครบวงจร ตั้งแต่ลักษณะอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคด้วยวิธีใหม่ การเก็บส่งตัวอย่างเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ต้องใช้ตู้เย็น ลักษณะพิเศษของเชื้อ กลไกการเกิดโรคและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสมอง และพบการกระจายตัวของเชื้อไวรัสในบริเวณก้านสมอง และสมองส่วนท้ายมากกว่าบริเวณฮิปโปแคมปัส (hippocampus) และค้นพบการตรวจโดยวิธีการขยายยีน (gene amplification) ซึ่งเป็นวิธีให้ผลการตรวจที่แม่นยำสูงสุด โดยได้รับการรับรองจากการประชุมการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies prevention) ที่ฟิลาเดเฟีย (Philadelphia) ในปี 2536 และครั้งล่าสุดในการประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO) วันที่ 4-8 ต.ค. 2547 ที่ประชุมยังได้ยอมรับให้มีการฉีดวัคซีนสุนัขบ้าเข้าทางผิวหนัง
นพ.ธีระวัฒน์ เริ่มต้นบรรยายด้วยเรื่องการวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ทราบถึงอาการของโรค ลักษณะพิเศษ การแปรปรวนทางอารมณ์ โดยใช้วิธีการอธิบายลักษณะทางชีวโมเลกุลของเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย และสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทั้งแบบภายในสายพันธุ์เดียวกัน และระหว่างสายพันธุ์ รวมทั้งความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค และพยาธิวิทยาการก่อโรค
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 รายจากโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง โดยลักษณะเช่นนี้จะได้การรายงานข้อมูลที่ต่ำกว่าปกติได้ นอกจากนั้นจะพบลักษณะเฉพาะตัวของคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของผู้ป่วย จึงได้พัฒนาการการวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าให้มีความรวดเร็วแม่นยำสูงที่ใช้ในปัจจุบัน
“เราสามารถตรวจจับไวรัสได้แม่นยำ และเราสามารถพิสูจน์ได้ว่าไวรัสแต่ละตัวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาโดยใช้วิธีทางชีววิทยา เราสามารถยืนยันการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยได้ทั้งหมด 21 ใน 23 ราย หรือคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์” นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นกล่าว พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า ในส่วนอีก 2 รายที่หาสาเหตุไม่พบนั้นเป็นผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาต ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่าทำไมการแยกรหัสพันธุกรรม หรืออาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อสุนัขบ้า เมื่อแยกแล้วจะมีโปรแกรมเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ของรหัสพันธุกรรมของพิษสุนัขบ้า จึงไม่ปรากฏในปัสสาวะหรือปรากฏในร่างกาย เนื่องจากวิธีตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้าวิธีง่ายที่สุดที่ประเทศไทยใช้เป็นประเทศแรกในโลก คือ การตรวจหาเชื้อจากปัสสาวะ ซึ่งตรวจได้ขณะผู้ป่วยยังมีชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคสมองอักเสบ ควรนำไปตรวจเนื้อเยื่อสมอง หากตรวจไม่ได้นั้นการตรวจเช็กจะใช้วิธีเจาะเหล็กผ่านเบ้าตาเพื่อตรวจเนื้อเยื่อสมองเพื่อศึกษาภาพรวมของกลไกของลักษณะอาการ พยาธิสภาพ ลักษณะทางสรีระ และระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อนำไปใช้อธิบายสภาวะการเกิดโรค และกลไกลของโรคที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ในคนไข้โรคพิษสุนัขบ้า
"ในประเทศไทยต้องใช้วิธีเก็บเนื้อเยื่อสมองในห้องเย็นอุณหภูมิต่ำกว่าลบ 70 องศา แต่มีราคาสูงถึง 7 แสนถึง 1 ล้านบาท เราจึงได้พัฒนาวิธีการตรวจโดยการป้ายเนื้อเยื่อสมองลงบนกระดาษกรองเก็บไว้ให้แห้ง จากนั้นก็ส่งมาให้ห้องแล็บทาง ปณ.ราคาประมาณ 7.5 บาท ความพิเศษของแผ่นกระดาษกรองจะเก็บเชื้อได้นาน 222 วัน โดยคนไทยคิดค้นขึ้นเอง องค์การอนามัยโลกยังขอลิขสิทธิ์นำไปเผยแพร่ในหลายประเทศ จนวิธีเก็บเชื้อนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเสียชีวิตจากอาการสมองอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุมากถึงปีละ 3-50,000 ราย" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้กล่าวถึง การศึกษากลไกการเกิดโรค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการแปรปรวนทางสมองและเสียชีวิตเร็วมากประมาณ 5 วัน และอีกกลุ่มเสียชีวิตช้ากว่าโดยเฉลี่ย 11-15 วัน จากลักษณะที่เกิดขึ้นนั้นเกิดความผิดปกติของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ สัญชาตญาณ และความจำระยะสั้น ในขณะผู้ป่วยอัมพาตนั้นมีความผิดปกติที่ส่วนใดส่วนหนึ่งที่เส้นประสาทหรือที่เซลล์ในไขสันหลัง เราจึงต้องตรวจสอบดูว่าไวรัสกระจุกตัวตามจุดใด กลุ่มแรก น่าจะกระจุกอยู่ที่สมอง ในขณะที่ส่วนที่ 2 จะกระจุกตัวอยู่ที่ไขสันหลัง
นอกจากนั้น ยังมีการศึกษากระแสประสาทบนไฟฟ้าของกล้ามเนื้อของเส้นประสาทต่างๆ เราพบว่าในหลังของผู้ป่วยไวรัสจะมีการเดินที่เฉพาะเจาะจง เคลื่อนตัวตามไขสันหลัง ไวรัสจะเคลื่อนตัวไปตามแขนซ้ายและไปแขนขวา ในขณะเดียวกัน ไวรัสอีกกลุ่มหนึ่งจะทำให้คนไข้มีเส้นประสาทอักเสบโดยที่ไวรัสไม่ได้แตะต้องไขสันหลังเลย ลักษณะแบบนี้เราเรียกว่า "ไวรัสเลือกปฏิบัติ" ทำให้มีอาการต่างๆ กันทั้งๆ ที่ไวรัสกระจุกตัวอยู่ในที่ที่เดียวกัน และมีลักษณะของเส้นสมองเหมือนกันทุกประการในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ในขณะนี้มีการศึกษายาชนิดแคปซูลให้แก่สุนัขบ้า แล้วนำสุนัขมาตรวจด้วยสนามแม่เหล้กไฟฟ้า เพื่อดูความผิดปกติของไวรัสในสมองส่วนต่างๆ และความผิดปกติของเซลล์
ส่วนเรื่องของการเฝ้าระวังและการควบคุมโรคนั้น นพ.ธีระวัฒน์ พบว่า เมื่อมีการศึกษาไวรัสทั่วประเทศจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยการเก็บปัสสาวะ เลือดของค้างคาวที่เราศึกษา เราพบหลักฐานว่ามีการติดเชื้อของค้างคาวไทยในจังหวัดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 7.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เราคาดว่าไวรัสที่พบน่าจะเกิดขึ้นในไทย
"ตามรายงานผู้ถูกสุนัขบ้ากัด ทางไทยคิดว่าเรามีความสำเร็จอย่างแท้จริงดู เพราะเราลดจำนวนคนเสียชีวิตจาก 160 รายเหลือเพียง 20 กว่ารายใน 10 ปี แต่เมื่อดูจำนวนผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัด เราพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการฉีดวัคซีนในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนราย ทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,200 ล้านบาท เราจึงเห็นได้สิ่งที่เราทำผ่านมาไม่เป็นผลไม่สำเร็จเท่าไร สาเหตุที่แท้จริงที่ต้องแก้ไข คือการควบคุมสุนัข โดยเฉพาะสุนัขในแหล่งท่องเที่ยว" นายแพทย์ ธีระวัฒน์ กล่าว
ขณะนี้วิธีที่ดีที่สุด คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่ใช่เป็นการถมงบประมาณเพื่อฉีดยาเพื่อควบคุมในบางพื้นที่ ส่วนคณะบุคคลที่เข้ามาช่วยประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ สถานเสาวภา รพ.รามาฯ รพ.จุฬาฯ แต่ทุกๆ คนต้องร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล การฆ่าสุนัขไม่ใช่ทางออก ขณะเดียวกันทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ควรมีสินบน
โดยเลือกจังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ศึกษา เพราะข้อมูลพันธุกรรมไวรัสบอกให้รู้ว่าพื้นที่นี้มีไวรัสสายพันธุ์เดี่ยว ขณะที่ภูมิประเทศเป็นภูเขาส่งผลให้ไม่มีการโคจรของสุนัขเข้าออกมาก อีกทั้งอาสาสมัครหมู่บ้านก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการเฝ้าระวังและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในครั้งนี้ และเชื่อว่าหากสำเร็จสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วโลก โดยจัดให้มีสัปดาห์สุนัข ทั้งนี้มีเป้าหมายว่าจะมีการฝึกอบรมอาสาสมัครหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นรายให้อาสาสมัครรู้จักสำรวจประชากรสุนัข รู้วิธีฉีดวัคซีน การทำหมันสุนัข เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์นำความรู้มาใช้ในการวิจัย ทดลองให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมสุนัข ให้อยู่ร่วมกับประชาชนได้ และก็ถึงเวลาแล้วที่ทุกๆ คนต้องควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และควบคุมประชากรสุนัขที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้