xs
xsm
sm
md
lg

ม.เกษตร-ไบโอเทค พัฒนา “อ้อยยักษ์” พันธุ์ใหม่ ไม่ต้องใช้จีเอ็มโอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัย ม.เกษตรฯ ผสมพันธุ์อ้อยด้วยเทคนิคดั้งเดิมจนได้พันธุ์ใหม่ที่ทั้งหวานและเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อม ทางไบโอเทคพร้อมช่วยขยายผลกระจายพันธุ์ทั่วประเทศ พร้อมแจงพืชหลายชนิดรวมถึง "อ้อย" มีความหลากหลายทางพันธุกรรมไม่ต้องจำเป็นต้องจบที่ "จีเอ็มโอ" ด้านเกษตรกรในพื้นที่เต็มใจให้ทดลองปลูกจับตาดูผลผลิตเวิร์กไม่เวิร์ก ต้นปีหน้ารู้กัน

จากการปะปนของมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเกษตรกร ทำให้จีเอ็มโอกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังจากที่เคยเป็นข่าวคราวใหญ่โตเมื่อ 4-5 ปีก่อน และก็ยังคงมีความขัดแย้งของฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้น ตอนนี้เราไม่อาจฟันธงลงไปทีเดียวว่าจีเอ็มโอคือผู้ร้าย เพราะยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกมาก แต่การปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการดั้งเดิมยังเป็นทางออกที่ดีสำหรับสถานการณ์ที่ยังคลุมเครือนี้ และเมื่อไม่นานนักวิชาการไทยได้ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็วในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้มีขนาดใหญ่และมีความหวานมากกว่าขึ้นโดยอาศัยวิธีการผสมข้ามพันธุ์แบบดั้งเดิม

วิกฤติของเกษตรกรกับภารกิจนักวิจัย

ในช่วงปี พ.ศ.2541-2542 ประเทศไทยประสบวิกฤติในการผลิตอ้อยให้มีประสิทธิภาพ คือได้ผลผลิตอ้อยไม่คุ้มทุน เนื่องจากพันธุ์อ้อยที่ปลูกไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพของท้องถิ่นได้ กอปรกับปัญญาราคาน้ำตาลโลกตก เกษตรกรจึงประสบภาวะขาดทุน ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ประชุมเพื่อหาทางออกให้กับเกษตรกร และมอบหมายงานให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยพัฒนาสายพันธุ์อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยให้ได้ในเวลา 5 ปี

รศ.ประเสริฐ ฉัตรวชิระวงษ์ อาจารย์จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโครงการ “ปรับปรุงพันธุ์อ้อยสำหรับเขตสภาพแวดล้อมเฉพาะ” จาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเขาต้องรับผิดชอบในการพัฒนาพันธุ์อ้อยที่สามารถปรับตัวได้ดีในแต่ละท้องถิ่นของประเทศ ภายในระยะเวลาที่เร่งรัด

5 ปีได้อ้อย “พันธุ์ยักษ์”

ผลจากการดำเนินการที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ของคณะทำงาน ทำให้ปัจจุบันมีพันธุ์อ้อยที่เป็นความหวังของเกษตรกรทั่วประเทศคือ พันธุ์อ้อยชุดเกษตรศาสตร์ 60 (มก.60) แบ่งออกเป็น 3 พันธุ์ ได้แก่ เกษตรศาสตร์ 60-1 (มก.60-1),เกษตรศาสตร์ 60-2 (มก.60-2) และเกษตรศาสตร์ 60-3 (มก.60-3) ลักษณะเด่นของ มก.60 คือ มีขนาดใหญ่กว่าอ้อยพันธุ์เดิม 3-4 เท่า และให้น้ำตาลมากกว่าเดิม โดยจะวัดเป็นน้ำตาลต่อไร่ รวมทั้งทนแล้งได้ดี พร้อมกันนี้มีอ้อยอีก 1 พันธุ์ที่จะพร้อมส่งเสริมให้กับเกษตรกรคือ TBy20-0663 ที่มีลักษณะเด่นคือเติบโตเร็ว

รศ.ประเสริฐ กล่าวว่าการพัฒนาสายพันธุ์อ้อยภายในเวลา 5 ปีนั้น ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ทำงานเพราะปกติแล้วการพัฒนาพันธุ์อ้อยต้องใช้เวลาถึง 10-12 ปี โดยการพัฒนาเริ่มที่การผสมเกสรเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่บ้านพุเย อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ในปีแรก จากนั้นอีก 2 ปี ทดลองปลูกในสถานี ก่อนที่จะนำไปทดลองปลูกตามแปลงเกษตร ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 8 ล้านบาท และยังต้องทำโครงการร่วมกันอีก 3-4 โครงการ เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยดังกล่าว

ข้อมูลอ้อยพันธุ์ มก.60

พันธุ์อ้อยมก.60-1มก.60-2มก.60-3
ผลผลิต(ตัน/ไร่)15-1816-1814-16
ความหวาน(ซีซีเอส)12-1312-1312-14
ขนาดลำต้น(ซม.)ปานกลาง-ใหญ่ (3.3-3.6)ปานกลาง(3.3-3.4)ปานกลาง(2.8-3.3)
ลักษณะเด่นไว้ตอ ไม่หักล้มง่าย ลอกกาบใบง่ายเจริญเติบโตเร็วทิ้งกาบใบ ต้านทานโรค จุดเหลืองและราสนิม
เพิ่มเติมเหมาะกับดินร่วน/เหนียว และเขตชลประทานเหมาะกับดินร่วน/ทรายเหมาะกับดินร่วน/ร่วนทราย/ร่วนเหนียว


ของเก่ายังดีอยู่ ไม่ต้องเสี่ยงทำจีเอ็มโอ

ความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์อ้อยครั้งนี้ไม่ได้มาจากการใช้เทคโนโลยีจีเอ็มโอ ซึ่ง ดร.ประเสริฐย้ำแนวคิดนี้ว่า ยังไม่มีความสำคัญที่ไทยจะต้องใช้จีเอ็มโอในการพัฒนาพันธุ์อ้อย เพราะไทยมีความหลากหลายทางด้านพันธุกรรมอ้อยอยู่มาก จึงมีศักยภาพที่จะใช้การปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยการผสมข้ามพันธุ์ตามปกติ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้ความเห็นว่าการจะทำจีเอ็มโอนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุ์ที่ต้องการ

“มีความจำเป็นต้องการทำจีเอ็มโอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลักษณะที่เราต้องการ ไม่ได้หมายว่าพืชทุกอย่าง ลักษณะที่ต้องการทุกอย่าง เราจะต้องทำจีเอ็มโอ ถ้าเรามีความหลากหลายอยู่เยอะ สมมติว่าเรามีอ้อยหรือมีพันธุ์ที่มีความใกล้เคียงกับอ้อย แล้วเราต้องการคุณสมบัติในการให้น้ำตาลสูง แล้วมันอยู่ในอีกพันธุ์นึง เราก็เอามาผสมพันธุ์ตามปกติและใช้วิธีการคัดพันธุ์ได้” ดร.มรกต ให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นการทำจีเอ็มโอ

นอกจากนี้ ผอ.ไบโอเทคยังให้ความเห็นอีกว่าหากหาลักษณะพันธุ์ที่เราต้องการไม่ได้ เนื่องจากมีความหลากหลายของพันธุ์อยู่น้อย อาจมีความจำเป็นต้องทำจีเอ็มโอ สำหรับในอ้อยอาจต้องทำจีเอ็มโอหากไม่สามารถหาพันธุกรรมที่ต้านทานโรคหนอนเจาะกอได้ตามธรรมชาติ แต่ในตอนนี้อยู่ระหว่างการหาลักษณะพันธุ์ที่ต้านทานโรค

ณ ตอนนี้ การปลูกอ้อยด้วยการผสมข้ามพันธุ์ตามวิธีการดั้งเดิมก็ได้ผลที่ชัดเจนอยู่แล้ว การทำอ้อยจีเอ็มโอจึงยังไม่มีความจำเป็น

อ้อยพันธุ์ดี ต้องปลูกให้ถูกที่ถูกทาง

ในการพัฒนาสายพันธุ์อ้อยเพื่อให้ทันตามเป้าหมายนั้นต้องลดเวลาในขั้นตอนที่ไม่จำเป็น รศ.ประเสริฐ หัวหน้าโครงการพัฒนากล่าวว่าใช้วิธีปกติในการพัฒนาคือการผสมข้ามพันธุ์ตามวิธีดั้งเดิม แต่ที่ต่างไปคือไม่ใช้วิธีสุ่มเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะทำให้เสียเวลาอย่างมาก สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้จักพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูกว่าเป็นดินประเภทไหน มีสภาพอากาศอย่างไร และต้องรู้เรื่องพันธุ์อ้อยเป็นอย่างดี โดยประสบการณ์ของ รศ.ประเสริฐ นั้น คร่ำหวอดอยู่กับอ้อยมาสิบกว่าปี เริ่มศึกษาอ้อยตั้งแต่ปี 2537

อ้อยแต่ละพันธุ์จะมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป เช่น อ้อยบางพันธุ์เมื่อปลูกในภาคกลางจะประสบปัญหากับโรคเหี่ยวเน่าแดงแต่เมื่อนำไปปลูกในภาคอีสานกลับต้านทานโรคแส้ดำได้ เป็นต้น ทำให้ไม่มีสุดยอดพันธุ์อ้อย วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งตรงนี้นำไปสู่โครงการปรับปรุงพันธุ์อ้อยเฉพาะถิ่น

ในการศึกษาพื้นที่ รศ.ประเสริฐ ลงทุนเดินทางสำรวจดินทั่วประเทศเป็นระยะทางกว่า 200,000 กม. ทั้งยังต้องใช้ความรู้ด้านธรณีวิทยา ทำงานร่วมกับหมอดินและใช้ข้อมูลจีไอเอส เพื่อจำแนกประเภทของดินที่สามารถแทนประเภทของดินในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ ขั้นตอนการลงไปสัมผัสกลิ่นดินของ รศ.ประเสริฐนี้ จะทำให้ใช้แปลงทดสอบน้อยลง อันจะทำให้การคัดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมเฉพาะถิ่นมีความง่ายขึ้น

อ้อยใหม่ลุยแปลงพิมาย

การพัฒนาพันธุ์อ้อยไม่จบเพียงได้พันธุ์อ้อย แต่ยังต้องทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหวาน ผลผลิตและการปรับตัวในพื้นที่ของอ้อย จึงต้องนำอ้อยไปปลูกตามแปลงทดลองในพื้นที่ทั่วประเทศที่สามารถเป็นแปลงสาธิตของดินแต่ละประเภท เพื่อดูความเหมาะสมในการนำอ้อยไปปลูกตามท้องถิ่นต่างๆ โดยอ้อยชุด มก.60 ได้รับคัดเลือกจากทางไบโอเทคนำไปปลูกยังแปลงสาธิต ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ แปลงสาธิต เนื่องจากไบโอเทคมีโครงการในการนำอ้อยพันธุ์ดีเด่นจากมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมเกษตรไปปลูกยังจุดต่างๆ ทั่วประเทศ

แปลงสาธิตนี้เป็นของนายฉัตร พันธุ์ดี อดีตกำนัน ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ที่ได้อนุญาตให้ทดลองอ้อยพันธุ์ใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 ซึ่งได้ปลูกอ้อยชุด มก.60 จำนวน 4 พันธุ์ ปลูกควบคู่ไปกับอ้อยพันธุ์มาตรฐานเดิม คือ พันธุ์ 91-2-056 มาเป็นเวลา 5 เดือน แต่ละพันธุ์ใช้พื้นที่สำหรับปลูก 800 ตร.เมตร จะมีกำหนดตัดเดือนที่ 8 คือประมาณ เดือนกุมภาพันธุ์ 2548 เมื่อถึงเวลานั้นจะได้รู้กันว่าอ้อยพันธุ์นี้จะสามารถมาทดแทนอ้อยพันธุ์เดิมได้หรือไม่

ด้านกำนันฉัตรเปิดเผยว่า ที่อนุญาตให้มีการทดลองในไร่ของตนเนื่องจากต้องการได้อ้อยพันธุ์ใหม่มาทดแทนอ้อยพันธุ์เก่าที่ใช้มานานแล้ว และหากประสบความสำเร็จจะสามารถกระจายพันธุ์ให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ ได้ ส่วนความเห็นต่ออ้อยจีเอ็มโอ กำนันฉัตรให้ความเห็นว่าไม่ได้ใส่ใจกับประเด็นตรงนี้ และไม่คิดว่าอ้อยที่ตนปลูกจะเป็นจีเอ็มโอหรือไม่

ผลจากการติดตามความหน้าในช่วง 5 เดือนพบว่าอ้อยมีการเจริญเติบโตดี โดยเฉพาะ มก.60-3 นับว่าเป็นพันธุ์อ้อยที่เหมาะกับภาคอีสานมากที่สุดเนื่องจากปลูกได้ดีในดินที่มีลักษณะเป็นทราย และมีสภาพอากาศแล้ง ซึ่งดินในไร่ของกำนันฉัตรก็เป็นดินร่วนปนทราย ไม่มีชลประทาน ลักษณะที่สำคัญคือให้ความหวานสูง นอกจากนี้จะทิ้งกาบใบเมื่อใกล้เวลาเก็บเกี่ยว ทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว เนื่องจากบางครั้งที่ใบอ้อยหนามากๆ เกษตรกรก็จะเผาก่อนเก็บเกี่ยว จึงมีชื่อเรียก มก.60-3 ว่า “สาวน้อยเปลื้องผ้า”

เกษตรกรจับตาดูผลการผลิตอ้อยยักษ์

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับอ้อยพันธุ์ใหม่ และตั้งตารอดูว่าจะได้ผลผลิตดีหรือไม่ เพื่อจะได้เปลี่ยนมาใช้อ้อยพันธุ์ใหม่นี้ ด้านความเห็นของเกษตรกรไร่อ้อยในพื้นที่ 3 คน คือ นายเฉิดฉาย อิสรา นายจันทร์ แก้ววิจิตรและนายสงวน งามพิมาย กล่าวว่าอย่างไรก็ต้องลองใช้อ้อยพันธุ์ใหม่

“ตัวนี้มันมาใหม่ ยังไม่รู้หรอก กำนันแกเอามาใหม่ แต่ก็ต้องลองอยู่แล้ว พอถึงกำหนดก็จะให้ผลดีอยู่หรอก” เกษตรกรทั้ง 3 ให้ความเห็นตามประสบการณ์ในการปลูกอ้อย ที่เมื่อเปลี่ยนพันธุ์แล้วจะได้ผลผลิตดีขึ้น

นายสงวนกล่าวต่อว่าโดยปกติจะตัดอ้อยส่งโรงงานช่วงอ้อยอายุประมาณ 11 เดือน หากตัดเร็วกว่านั้นจะทำให้ได้ความหวานต่ำทำให้ราคาต่ำด้วย จึงไม่ทราบว่า มก.60 นั้นจะดีหรือไม่ สำหรับปีนี้ได้รับการประกันราคาที่ 600 บาท/ตัน โดยปีที่ผ่านมาได้ 480 บาท/ตัน ส่วนผลผลิตนั้นไม่แน่นอน เคยได้สูงสุด 18 ตัน/ไร่ บางครั้งก็เคยได้ 3 ตัน/ไร่ ทำให้ประสบปัญญาหาขาดทุน

นายจันทร์เปิดเผยว่าทำไร่อ้อยมาตั้งแต่มีการตั้งโรงงานน้ำตาล คือตั้งแต่ปี 2534 ปกติปลูกอ้อย 60-70 ไร่ แต่ปีนี้หันมาปลูกมันสำปะหลังเพิ่ม จึงเหลือพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 30 ไร่ ส่วนลุงเฉิดฉายเพิ่งหันมาปลูกอ้อยได้ 3-4 ปี ปลูกอ้อย 12 ไร่ เหตุผลที่ลุงเฉิดฉายหันมาปลูกอ้อยเนื่องจาก เดิมเคยปลูกมันสำปะหลัง แต่ประสบปัญญาน้ำขังทำให้หัวมันเน่า

“บ้านนี้เขาปลูกพืชหลายอย่าง ไม่ใช่พืชเดียว”ลุงจันทร์กล่าว
“ที่ไหนสูงขึ้นมาเขาก็ใส่มันเขา (มันสำปะหลัง) ที่ไหนมันชุ่มมันแฉะ เขาก็ใส่อ้อยเพราะไม่เน่า ใส่มันเขาจะเน่า ถ้าแล้งอ้อยจะตาย” ลุงเฉิดฉายเสริม

การปลูกอ้อยส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน หากฝนแล้งก็จะให้อ้อยมีความหวานต่ำ แต่ถ้าฝนดีจะได้อ้อยที่มีความหวานดี เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรก็จะขนอ้อยไปส่งโรงงานเอง ส่วนผลผลิตจากการปลูกอ้อยพันธุ์เดิมๆ เกษตรกรทั้งสามให้คำตอบคล้ายกันคือ จะได้ผลผลิตลดลงทุกปี การทดลองปลูกอ้อยพันธุ์ในครั้งนี้จึงเป็นความหวังของเกษตรกรที่จะได้เปลี่ยนพันธุ์ใหม่และมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น


ก้าวต่อไปของสายพันธุ์อ้อย

ในการพัฒนาสายพันธุ์อ้อยต่อไปนั้น ดร.มรกต กล่าวว่าจะใช้การประเมินพันธุกรรม หาคุณลักษณะต่างๆ เช่น ทนแล้งหรือทนหนอนอะไรได้บ้าง จากนั้นจะหาเครื่องหมายพันธุกรรมหรือ ยีนมาร์กเกอร์ (marker) ที่ควบคุมคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น ยีนมาร์กเกอร์ควบคุมความหวาน ซึ่งจะสามารถนำมาตรวจหาคุณลักษณะในรุ่นลูกโดยที่ไม่ต้องรอปลูกลงดินจนโต เทคนิคเหล่านี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา หากประสบความสำเร็จจะช่วยให้เกิดความสะดวกในการคัดพันธุ์มากขึ้น

สำหรับอนาคตนั้น มก.60 ยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไป พร้อมๆ กับสายพันธุ์ที่ยังไม่ได้ขยายสู่ชุมชน และ รศ.ประเสริฐก็มีโครงการที่จะพัฒนาอ้อยพลังงาน ซึ่งเป็นอ้อยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยจะพัฒนาให้มีเส้นใยสูงเพื่อให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก ทางด้านไบโอเทคก็มีโครงการขยายพันธุ์อ้อยด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาโรคใบขาวและการขยายพันธ์โดยใช้ท่อนพันธุ์

“ตอนนี้เรากำลังขยายพันธุ์อีก 12 พันธุ์และจะนำไปปลูกทั่วพื้นที่อีสาน แถว บุรีรัมย์ อุดร หนองคาย ดูว่าแต่ละพื้นที่มีการตอบสนองยังไง เพราะฉะนั้นแต่ละพื้นที่ก็สามารถใช้สายพันธุ์ต่างกัน ได้ไม่จำเป็นต้องใช้สายพันธุ์เดียวกัน” ผอ.ไบโอเทคกล่าว

โดยปกตินั้นการขยายพันธุ์อ้อยจะอาศัยการขยายด้วยท่อนพันธุ์ แต่ 12 พันธุ์ได้รับการเพาะเลี้ยงด้วยเนื้อเยื่อ เนื่องจากทางไบโอเทคต้องการจะดูว่าอ้อยที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นจะสามารถแตกกอได้ดีหรือไม่ โดยจะเริ่มนำอ้อยทั้ง 12 สายพันธุ์ลงพื้นที่ราวเดือน พฤศจิกายนนี้ ในสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ขณะนี้กำลังเตรียมพันธุ์อยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ สวทช.

มาถึงจุดนี้ผลการทำงานของนักวิจัยไทยช่วยตอบบางประเด็นให้แก่เราได้ว่า หากเราความมีเข้าใจด้านพันธุศาสตร์อย่างถ่องแท้ บวกกับความโชคดีที่ประเทศเรามีความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นจะส่งให้เรามีความแข็งแกร่งด้านเกษตรกรรม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่เราไม่อาจคาดเดาปลายทางได้

กำลังโหลดความคิดเห็น