xs
xsm
sm
md
lg

”เวอร์จิน” ลั่นทัวร์อวกาศไฟลท์แรกเริ่มบินปี 2007 !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/รอยเตอร์ - “บรานสัน” เจ้าพ่ออาณาจักร “เวอร์จิน” ประกาศเอาแน่ตั้ง “เวอร์จิน กาแล็กติก” ซื้อเทคโนโลยี “เสปซชิปวัน” สร้างแคปซูลอวกาศขนาด 3 ที่นั่งพานักท่องเที่ยวทะยานทะลุฟ้าชมอวกาศานาน 3 ชั่วโมง ตั้งเป้าไฟลท์แรกปี 2007 ประเดิมตัวเองขอเป็นผู้โดยสารรายแรก

เจ้าพ่อสายการบินและนักผจญภัยชื่อก้อง “ริชาร์ด บรานสัน” (Richard Branson) ประกาศแผนการอันอาจหาญว่า เขาจะเดินทางไปท่องเที่ยวอวกาศ ที่ที่ซึ่งไม่เคยมียานพาหนะของเอกชนรายได้ย้ำกรายออกไปได้มาก่อน โดย “เวอร์จิน กรุ๊ป” ของบรานสันมีเป้าหมายจะจัดทัวร์อวกาศได้ภายในปี 2007 และมีบรานสันเจ้าของกิจการจะเป็นผู้ประเดิมเดินทางเป็นรายแรก

ทั้งนี้ “บรานสัน” วัย 54 ปีได้ประกาศซื้อลิขสิทธิ์เทคโนโลยีจาก “โมฮาวี่ แอร์สเปซ เวนเจอร์ส” (Mojave Aerospace Ventures) ของพอล อัลเล็น (Paul Allen) ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟต์และสนับสนุนเงินทุนให้กับ “สเปซชิปวัน” (SpaceShipOne) เครื่องบินของเอกชนที่สร้างเที่ยวบินประวัติศาสตร์ ด้วยการบินอยู่นอกโลกได้นานถึง 90 นาที ในระดับความสูงกว่า 62 ไมล์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นเขตอวกาศ

ส่วนเครื่องบินที่จะท่องอวกาศของ “เวอร์จิน” นั้น ผู้ออกแบบหลักคือ “เบิร์ต รูทาน” (Burt Rutan) ซึ่งได้ออกแบบ “สเปซชิปวัน” จรวดขนาดเล็กบรรทุกผู้โดยสารได้ 2 คนพร้อมนักบินอีก 1 นายทะยานทะลุฟ้า โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีมนุษย์บินออกนอกโลกด้วยยานเอกชน และไม่ใช่เพื่อการศึกษาค้นคว้าขององค์กรอวกาศชาติใดๆ

”เวอร์จินจะต้องคุยกับพอล อัลเล็น และเบิร์ตตลอดปีนี้ และก่อนวันเสาร์ (26 ก.ย.) ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาแห่งประวัติศาสตร์ ในการนำลิขสิทธิ์เทคโนโลยี “สเปซชิปวัน” ไปสร้างยานอวกาศเอกชนลำแรก ที่จะออกสู่นอกโลกเพื่อบริการทางการพาณิชย์” บรานสันแถลง และเผยว่าสัญญาที่เขาจ่ายให้กับโมเจฟนั้นมีมูลค่ากว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจมีระยะเวลาการทำงานร่วมกันนานกว่า 15 ปี โดยขึ้นอยู่กับจำนวนจรวดอวกาศที่สร้างเสร็จออกมา

ทั้งนี้ ทางเครือเวอร์จินได้เปิดเผยแผนการสร้างจรวดท่องอวกาศว่า จะเริ่มจากโครงสร้างภายในก่อนภายในปีหน้า จากนั้นจะพัฒนาจนสามารถท่องอวกาศได้จริงในปี 2007 โดยใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมด 108 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งลำตัวยานและอุปกรณ์ภาคพื้นดิน

สำหรับบริการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้น บรานสันได้ตั้งชื่อกิจการไว้แล้วว่า “เวอร์จิน กาแล็กติก" (Virgin Galactic) โดยคาดว่าจะพานักบินอวกาศหน้าใหม่ขึ้นแตะขอบอวกาศได้ถึง 3,000 รายในรอบ 5 ปีแรกของการดำเนินกิจการ ซึ่งค่าโดยสารสู่อวกาศจะเริ่มที่ 208,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือราวๆ 8,528,000 บาท) สำหรับการเดินทางในวงโคจรของโลกประมาณ 2-3 ชั่วโมงพร้อมทั้งครอสเตรียมพร้อมก่อนบินอีก 3 วัน

เที่ยวบินอวกาศนี้ จะไต่ระดับเหนือพื้นโลกขึ้นสูงถึง 130 กิโลเมตร สูงกว่าเครื่องบินบนท้องฟ้าทั่วไปถึง 6 เท่า โดยจะเข้าสู่สภาวะไร้น้ำหนักประมาณ 4 นาที และขณะที่ชมวิวที่เส้นขอบฟ้านั้น ก็อาจจะมีจินและโทนิกเสิร์ฟให้ผู้โดยสารดื่มด่ำกับบรรยากาศ แต่คงจะต้องขอใบอนุญาตเรื่องแอลกอฮอล์เสียขณะบินเสียก่อน

”ผมจะอยู่เหนือพระจันทร์ เป็นนักบินอวกาศริชาร์ด บรานสัน ย่อมดีกว่าเป็นเจ้าของกิจการบรานสันธรรมดาเป็นไหนๆ” บรานสันกล่าวชวนฝัน โดยประกาศก้องว่า ”ผมหวังว่าเวอร์จิน กาแล็กติก และกองทัพเครื่องบินอวกาศของพวกเรา จะทำให้เด็กๆ ทั่วโลกประหลาดใจว่า ทำไมพวกเราถึงคิดว่าการท่องอวกาศเป็นความฝันที่ได้จากการอ่านหนังสือเพียงเท่านั้น”

ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยเดินทางท่องเที่ยวอวกาศ คือ “เดนนิส ติโต” นักธุรกิจชาวอเมริกัน และ “มาร์ก ซัตเตอร์เวิรธ” เศรษฐีจากแอฟริกาใต้ โดยทั้งคู่ได้จ่ายไป 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมสถานีอวกาศนานาชาติ ด้วยจรวดของรัสเซีย ซึ่ง “สเปซ แอดเวนเจอร์ส” (Space Adventures) บริษัทที่จัดทัวร์อวกาศครั้งนั้น ก็เตรียมที่จะจัดทัวร์ท่องไปตามวงโคจรของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ “บรานสัน” เป็นนักผจญภัยตัวยง โดยเขาเป็นคนแรกที่สามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกด้วยบอลลูนอากาศ แถมยังพยายามอยู่หลายครั้งหลายคราในการเดินทางรอบโลกด้วยบอลลูนโดยไม่หยุดพัก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ และยังได้รับการบันทึกสถิติขับสปีดโบ้ทเข้าสู่บริเวณทรานส์-แอตแลนติกในปี 1986 และที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ ในเดือนมิถุนายนเขาก็ทุบสถิติขับเรือสะเทินน้ำสะเทินบกผ่านช่องแคบอังกฤษระยะทาง 22 ไมล์ด้วยเวลาเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาทีกับอีก 6 วินาที

สำหรับตัว ”บรานสัน” แล้วเขาเริ่มต้นทำมาหากินด้วยการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับวัยรุ่น และอัดเพลงขาย ซึ่งนิตยสารฟอรบส์(Forbes) ตีมูลค่าธุรกิจทั้ง 2 ของเขาว่ามีมากกว่า 2.2 พันล้านเหรียญ โดยเครือ “เวอร์จิน กรุ๊ป” ของเขาเป็นที่รู้จักจากกิจการอัดเสียง ต่อมามีกิจการรถไฟ รวมถึงเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แถมยังมีธุรกิจการบินหลายสาขาไม่ว่าจะเป็น “เวอร์จิน แอตแลนติก” (Virgin Atlantic) ที่มีฐานอยู่ที่อังกฤษ และใช้เงินอีกส่วนหนึ่งดำเนินการ “เวอร์จิน เอ็กซ์เพรส” (Virgin Express) ในยุโรป “เวอร์จิน บลู” (Virgin Blue) ในออสเตรเลีย และยังจะมีแผนทำสายการบินราคาถูกในสหรัฐฯ ในปีหน้าอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น