บีบีซีนิวส์ – อาการ “กลัว” หรือผวากับสิ่งต่างๆ รอบตัว ดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญของมนุษย์ โดยเฉพาะการ “กลัวอย่างไร้เหตุผล” ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กสามารถระบุตำแหน่งบนสมองที่ช่วยพวกเราลบ “ความกลัว” ที่มีอยู่ออกไปได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) เปิดเผยผ่านวารสารทางด้านประสาทวิทยา “นิวโรน” (Neuron) ว่าในมนุษย์ก็มีต่อมลบอาการกลัวได้ เช่นเดียวกับสัตว์ โดยเชื่อว่าต่อมดังกล่าวอยู่ในสมองบริเวณที่เดียวกับที่เราบันทึกความกลัวลงไป
บริเวณที่ลบหรือลืมความกลัวดังกล่าวเรียกว่า “อไมกดาลา” (amygdala) พื้นที่ขนาดเท่าเมล็ดอัลมอนด์ ฝังอยู่บริเวณซีรีบรัม โดยเชื่อมต่อกับไฮโปธารามัส ซึ่งสมองตรงอไมกดาลาทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมเหตุผลและอารมณ์
ที่สำคัญกลไกทำงานลืมความจำของ “อไมกดาลา” นี้พบอยู่ในสมองสัตว์ แต่ยังไม่เคยมีผู้ใดพบในสมองของมนุษย์มาก่อน และการค้นพบกลไกของ “อไมกดาลา” ที่ช่วยให้ลืมกลัวแบบเดียวกับสัตว์ในสมองมนุษย์นี้ จะช่วยทุ่นแรงให้บรรดาหมอๆ ทั้งหลายในการรักษาอาการจิตประสาท หรือ “โฟเบีย” ของคนไข้ได้
ดร.อลิซาเบธ เฟลปส์ และทีมงาน จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เปิดเผยว่า การค้นพบตำแหน่งลืมความกลัวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นโอกาสได้ศึกษาว่าอาการกลัวในมนุษย์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะดูแลมันอย่างไร แต่งานวิจัยน้อยชิ้นนักที่จะเข้าใจถึงวิธีการลดความกลัวให้น้อยลง
“ยกตัวอย่าง เด็กๆ หลายคนกลัวความมืดเมื่อตอนวัยเยาว์ แต่พอโตขึ้นพวกเขาก็จะเลิกกลัวความมืด หรืออาจจะมีแต่น้อยลง” ดร.เฟลปส์ กล่าว โดยเธอและทีมงานพยายามศึกษาหากลไกลดความกลัวในสมอง โดยนำอาสาสมัครมาทดลองสร้างและลดความกลัว พร้่อมทั้งสังเกตดูว่า สมองส่วนใด ตรงไหนที่ทำงานในขณะนั้น
ทีมงานของ ดร.เฟลปส์ใช้การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI - magnetic resonance imaging) เพื่อเข้าไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสมองในช่วงระหว่างที่เราเริ่มเลิกกลัว สิ่งที่เคยกลัว โดยพวกเขาได้ให้อาสาสมัครดูภาพสี่เหลี่ยมจตุุรัสที่ระบายสีไว้ พร้อมทั้งช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จะทำให้เกิดสภาวะกลัว เหมือนๆ กับอาการจิตประสาท หรือโฟเบีย
เมื่ออาสาสมัครมองภาพสี่เหลี่ยมที่ระบายสีครั้งต่อๆ ไปจะทำให้เกิดอาการกลัวๆ กังวล จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ทำให้เลิกกลัวด้วยการ ย้อนคือเหตุการ คือ ให้อาสาสมัครดูภาพสีเหลี่ยมระบายชุดเดิม (ที่กลัวไปแล้วเพราะโดนช็อต) พร้อมทั้งช็อตกระแสไฟเข้าไปอีกรอบในปริมาณเท่าเดิม และค่อยลดๆ ลงจนอาสาสมัครดูภาพแบบปกติโดยไม่มีกระแสไฟช็อต ก็จะทำใ้ห้อาการกลัวภาพนั้นหายไป
อย่างไรก็ดี เมื่อคณะวิจัยดูผลจากการสแกนสมองขณะอาสาสมัครถูกกระตุ้นให้กลัวจนหายกระทั่งหายกลัวแล้วพบว่า ตำแหน่งของ “อไมกดาลา” นั้นทำงานขณะที่กำลังบันทึกความกลัวเข้าสู่หัวสมอง และทำงานอีกเมื่ออาสาสมัครคลายความกลัวของพวกเขาลงไป พร้อมกับสมองอีกส่วนหนึ่ง
การค้นพบเหล่านี้สนับสนุนงานวิจัยชิ้นก่อนๆ ที่อธิบายกันมาว่าในสัตว์มีระบบการแก้ไขความวิตกกังวลหรือความกลัวอย่างผิดปกติได้ โดย ดร.เฟลปส์กล่าวว่า หากในมนุษย์ก็มีกลไกนี้เช่นกัน ก็จะง่ายต่อการหายารักษาที่ตรงจุด
“ขณะนี้พวกเราทั้งหมดเริ่มมองหาสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิมเพื่อที่จะรักษาอาการกลัว ในมนุษย์พวกเราพยายามที่จะควบคุมอาการกลัว บางสถานการณ์พวกเรารู้ว่าไม่แสดงอาการกลัวออกมา แต่บางสถานการณ์กลับแสดงออกมา”
“อย่างเช่น คนทั่วไปกลัวเสือ แต่เมื่อไปดูเสือในสวนสัตว์ เราก็จะไม่กลัวมัน สิ่งนี้เป็นคำตอบว่า ร่างกายของเราจัดการกับความกลัวได้ แต่จะจัดการอย่างไร” ดร.เฟลปส์อธิบาย