เอ็มเทคเสนอแนวทางเพื่อรับมือกับระเบียบ RoHs ที่ทางสหภาพยุโรปหรืออียูออกกฏว่า ตั้งแต่ 1 ก.ย. 49 ผลิตภัณฑ์ต้องห้าม 6 ชนิดจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะไม่สามารถส่งออกไปยังยุโรปได้ ทั้งยังจัดตั้ง TEA - Lab ซึ่งเป็น “ one stop service ” เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค
รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ ( เอ็มเทค ) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติเกี่ยวกับระเบียบ RoHS ( The Restriction of the use of certain Hazardous Substance in electrical and electronic equipment ) ในงานสัมมนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้น ในหัวข้อ “การรับรองสินค้าปลอดสารพิษตามระเบียบ RoHS ของสหภาพยุโรปและโครงสร้างที่ต้องเร่งพัฒนาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้ทางสหภาพยุโรปออกกฎเพื่อให้ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกมีส่วนรับผิดชอบต่อมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิต
ทางด้านสหรัฐ ฯ จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2550 หรือวันที่ EU’s RoHS มีผลบังคับใช้หากเกิดอาการเลื่อนในสหภาพยุโรป ทางด้านจีนจะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2549 ก่อนสหภาพยุโรป ประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทย กำลังพิจารณาการห้ามใช้ ซึ่งต้องนำมาพิจารณากันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่ทันกำหนด
“ สถานการณ์ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไทยในขณะนี้ สามารถนำรายได้เข้าประเทศถึง 2.5 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการทางตรงกว่า 3 พันราย เป็นฐานความรู้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การนำเข้าชิ้นส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะเราสามารถผลิตเองได้ในประเทศ “ รศ.ดร.ปริทรรศน์ กล่าว
ส่วนระเบียบฯ สำคัญอื่นที่เกี่ยวข้องก็ได้แก่ ระเบียบบรรจุภัณฑ์ ( 94/62/EC ) บังคับให้มีการรีไซเคิล ทำเครื่องหมาย และจำกัดการใช้สารต้องห้ามในบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด เริ่มมีผลบังคับใช้ 30 มิ.ย. 2539 และระเบียบ WEEE : Waste Electrical and Electronic Equipment ( 2002 / 96 / EC ) ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการรีไซเคิลและจัดการซากผลิตภัณฑ์ตามสัดส่วนที่กำหนด เริ่ม 13 ส.ค. 2548 ( แสดงหลักฐานค้ำประกัน ) เป็นต้น
รศ.ดร.ปริทรรศน์ กล่าวถึงพันธกิจหลักของทางเอ็มเทค นั่นคือ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ ให้บริการเทคนิค เช่น การวิเคราะห์ตรวจสอบ ให้คำปรึกษา/แก้ปัญหาการผลิต และถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเอ็มเทคจะเป็นตัวเชื่อมต่อศูนย์กับมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยกับเอกชนที่จะแปรการวิจัยมาเป็นเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์
ทางด้านการดำเนินงานในเรื่อง RoHS ทางเอ็มเทคจะศึกษาวิจัยเพื่อประเมินการใช้วัสดุต้องห้ามและการกลับมาใช้ใหม่ตามระเบียบ WEEE และ RoHS ของสหภาพยุโรป ในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ตามขั้นตอนดังนี้ 1. เตรียมความพร้อม ( เริ่ม 2544 ) ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบและหาแนวทางปฏิบัติ จากนั้นจึงเผลแพร่ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ
2. ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการปรับตัว โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติด้านวิเคราะห์ / ทดสอบปริมาณสารปนเปื้อนในวัสดุ Trace Element Analysis Lab ( TEA – Lab ) และ 3. เตรียมแผนดำเนินการเชิงรุก ด้วยเครือข่ายเพื่อการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม โดยประเด็นปัญหาที่จะนำมาศึกษาจะได้แก่ ความพร้อมของผู้ประกอบการ ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัว ปัญหาด้านเทคนิค โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
“ เนื่องจาก ความหลากหลายของชิ้นงานทดสอบ ทำให้เทคนิคมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ออกแบบสำหรับการทดสอบชิ้นงานประเภทนี้ จึงเปิดโอกาสให้มีข้อโต้แย้งได้สูง อีกทั้งต้นทุนค่าทดสอบสูงมากเพราะการทดสอบที่มีความแม่นยำสูงปราศจากข้อโต้แย้งสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้การทดสอบสารต้องห้ามที่ปนเปื้อนในวัสดุ ( RoHS/ ELV Compliance Test ) มีความยุ่งยากนัก “ รศ.ดร.ปริทรรศน์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาสำหรับการตรวจสอบ RoHS / ELV Compliance Tests ต่อผู้ประกอบการ ในส่วนของเจ้าของผลิตภัณฑ์ ปัญหาก็คือ จะเอาข้อมูลอะไรจากผู้ผลิตดี กรณีเกิดข้อพิพาท ข้อมูลก็อาจจะไม่ครบเพราะผู้ขายรายใหญ่ไม่ยอมให้ข้อมูล ผู้ขายรายย่อยไม่สามารถหาข้อมูลมาให้ได้ จะต้องตรวจสอบมาก / น้อย เพียงใด ละเอียดแค่ไหน ? จะจัดการอย่างไรกับข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด เป็นปัญหาที่เจ้าของผลิตภัณฑ์อาจจะต้องประสบ ทางด้านปัญหาของซัพพลายเชน ( supply chain ) นั้น ซัพพลายเชนจะกรอกข้อมูลที่ลูกค้าต้องการได้อย่างไร ข้อมูลที่ให้จะผูกมัดหรือไม่ เพราะไม่สามารถทดสอบข้อมูลนั้นได้ อีกทั้งลูกค้าแต่ละรายต้องการข้อมูลไม่เหมือนกัน และผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย ( SMEs) ไม่มีกำลังเท่าบริษัทใหญ่จึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ
“ ตะกั่วและพีบีดีอี ( PBDE : Polybrominated diphenylethers : โพลีโบรมิเนท ไดฟีนิลอีเทอร์) จะเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องตรวจสอบและหาสารทดแทนให้ได้ และปัญหาหลัก ๆ ที่มีก็คือ ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี กลไกการรับรองสินค้าปลอดสารพิษ ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยจะสูงกว่าประเทศคู่แข่ง หากโครงสร้างในประเทศไม่อำนวย ” รศ.ดร.ปริทรรศน์ กล่าว
รศ.ดร.ปริทรรศน์ เสนอทางออกให้กับผู้ประกอบการ คือ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ( Clustering ) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการสนับสนุนการแก้ปัญหาโดยการใช้เทคโนโลยีที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ( Green Procurement / Green Partner ) และจัดตั้งห้องปฏิบัติด้านวิเคราะห์ / ทดสอบปริมาณสารปนเปื้อนในวัสดุ TEA - Lab ซึ่งเป็น “ one stop service ” สำหรับ RoHS / ELV ทุกชนิด ด้วยการให้คำปรึกษาเทคนิค แก้ปัญหาอุตสาหกรรม รับวางแผนและพัฒนาระบบการตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องวัด รับผลิตชิ้นส่วนมาตรฐาน และจัดฝึกอบรม เพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่พนักงาน และสุดท้ายคือ การวางแผนพัฒนาเครือข่ายรัฐวิสาหกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รายละเอียดเกี่ยวกับข้อคิดเห็นและระเบียบ RoHS