บีบีซีนิวส์ – หน้าต่างบานใหญ่ที่สุดสำหรับสถานีอวกาศนานาชาติกำลังจะสร้างขึ้นเสร็จสมบูรณ์ เพื่อจะได้ให้นักบินอวกาศที่ประจำการอยู่บนสถานีได้มีโอกาสมองเห็นการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกสถานี
หน้าต่างบานกว้างขนาด 80 เซนติเมตร เป็นหนึ่งในหน้าต่าง 7 บานที่จะนำไปติดตั้งในโดมสังเกตการณ์ที่มีชื่อว่า “คูโปลา” (Cupola) โดยเป็นส่วนที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ในเดือนมกราคม 2009
คูโปลามีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีหน้าต่างล้อมรอบ 6 ข้าง พร้อมด้วยกระจกบานใหญ่เป็นยอดโดม และวางลงบนฐานวงกลม ซึ่งโดมหลังนี้ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้นักบินได้มองเห็นสภาพรอบนอกสถานีอวกาศ ขณะที่ควบคุมแขนยนต์ให้ออกไปทำหน้าที่นอกสถานีอวกาศ
โดมคูโปลาหลังนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร และสูง 1.5 เมตร โดยจะนำไปติดตั้งไว้กับโนด-3 (Node-3) ก่อนสิ้นปี 2010 ซึ่งโนด-3 นี้เป็นโมดูล หรือพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อสถานีอวกาศนานาชาติโดยเฉพาะ และปัจจุบันก็มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่างๆ ภายในสถานี
ส่วนหน้าต่างของโดมอันใหม่แต่ละบานนั้น จะมีความหนาถึง 10 เซนติเมตร พร้อมทั้งฉาบด้วยชนวนซิลิกาถึง 4 ชั้น โดยชั้นในสุดซึ่งต่อกับด้านในของห้องนักบินนั้นจะเป็นกระจกทนแรงกระแทกทั้งจากรองเท้าบูทและเครื่องมือต่างๆ ของนักบิน ส่วน 2 ชั้นกลางถัดมาจะทำหน้าที่ต้านความดันด้านในตัวโดม
ชั้นนอกสุดของกระจกสำคัญที่สุด เพราะมีคุณสมบัติป้องกันการกระแทกจากวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ไม่พึงประสงค์บนอวกาศ รวมถึงเศษเหล็กจากซากดาวเทียมปลดระวางที่วิ่งด้วยความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อวินาที ทั้งเร็วและแรงกว่ากระสุนปืนไรเฟิลเสียอีก
โครงการ “คูโปลา” เริ่มขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กับบริษัทการบิน “โบอิง” (Boeing) แต่ภายหลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ โบอิงจึงถอนตัวออกไป และประจวบเหมาะกับที่อีซา หรือองค์การอวกาศยุโรป (European space agency : ESA) เริ่มตั้งขึ้นในปี 1998 และนาซาเริ่มติดต่อแลกเปลี่ยนการพัฒนาอุปกรณ์กัน อีซาจึงรับมอบโครงการนี้ต่อ
”คูโปลา” น้ำหนัก 1.8 ตันนี้สร้างขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอิตาเลียน “อเลนเนีย สปาซิโอ” (Alenia Spazio) และจะส่งมอบสู่ศูนย์กลางการบินอวกาศเคเนดี ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เพื่อทดสอบก่อนที่จะส่งไปประจำการคู่กับสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2009 ตามกำหนด