บีบีซีนิวส์/รอยเตอร์ – ทีมแพทย์ รพ.ซูริก เชื่อว่าพวกเขาสามารถระบุตำแหน่งที่ทำหน้าที่ผลิตความฝันในสมองได้ หลังจากพบพื้นที่สมองส่วนที่ไม่ทำงานของคนไข้ที่ “ฝันหาย” จากอาการหัวใจวาย พร้อมขยายผลการศึกษาหวังพบตำแหน่ง “สร้างฝัน” เพื่อไขปริศนาหาประโยชน์ที่แท้จริงของ “การฝัน”
คณะวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซูริก สวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยข้อค้นพบใหม่ผ่าน “นิวโรโลจี” (Neurology) วารสารด้านประสาทวิทยา ว่าพวกเขาสามารถค้นหาตำแหน่งที่กำเนิดความฝันบนสมองได้ หลังจากรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวาย แล้วกลับฟื้นขึ้นมา แต่ว่าไม่สามารถ “ฝัน” ได้อีกต่อไป โดยพบว่าสมองส่วนหลังของคนไข้เหล่านี้ถูกทำลาย
สมองส่วนดังกล่าวคือพื้นที่ครึ่งหลังของสมอง ที่ทำหน้าที่ในการแปรสัญญาณภาพที่ตารับมาจากสิ่งต่างๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้รายงานได้ระบุว่าสมองส่วนหลังที่ถูกทำลายนี่ล่ะ คือส่วนที่ควบคุมการสร้างความฝันขึ้นมา
อย่างไรก็ดี คนไข้รายล่าสุดคือหญิงชราวัย 73 ปีที่มีอาการหัวใจวาย ส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ ซึ่งความผิดปกติส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการมองเห็น และตามเคสทั่วไปอาการเช่นนี้จะหายไปภายในไม่กี่วัน แต่สำหรับคนไข้รายนี้กลับกลายเป็น “ไม่สามารถฝันได้อีกเลย” แถมก่อนหน้าที่เธอจะเกิดอาการหัวใจวาย เธอบอกว่าฝันบ่อยถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
ทั้งนี้ การสูญเสียความสามารถที่จะ “ฝัน” นั้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรับภาพที่ไม่ชัดและถูกรบกวน โดยเป็นสภาพที่เกิดขึ้นหลังจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่เพื่อการนี้ถูกทำลาย ซึ่งเรียกอาการนี้ว่าภาวะ “ชาร์โกต์-วิลบรานด์” (Charcot-Wilbrand syndrome) ตั้งขึ้นตามนามของนักประสาทวิทยาเลื่องชื่อคือ ฌอง – มาร์แตง ชาร์โกต์ (Jean-Martin Charcot) และเฮอร์มัน วิลบรานด์ (Hermann Wilbrand) เพราะทั้ง 2 ได้อธิบายถึงกลุ่มอาการนี้เป็นครั้งแรกในช่วงปี 1880
กลุ่มอาการดังกล่าวนี้เป็นอาการที่เิกิดขึ้นได้ยากทีเดียว ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นหลังจากอาการหัวใจวายเช่นนี้ มักจะเกิดการพิการในสมองส่วนอื่นๆ มากกว่าอาการ “ฝันหาย”
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยชาวสวิสก็ได้ตัดสินใจติดตามคนไข้รายนี้ เพื่อค้นหาว่าส่วนใดของสมองที่ได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์เช่นนี้ โดยพวกเขาได้ติดตามดูรอยหยักของสมองขณะที่คนไข้วัย 73 ปีนอนหลับเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และก็พบว่าเธอหลับสบายโดยไม่มีการรบกวนใดๆ ระหว่างการนอนหลับ พร้อมทั้งค่าอาร์อีเอ็ม (REM : rapid eye movement) หรืออัตราการกรอกลูกตาขณะหลับก็อยู่ในภาวะปกติ
นี่เป็นนัยสำคัญ เพรา่ะเชื่อกันว่า “การฝัน” กับ ค่าอาร์อีเอ็มจะต้องสอดคล้องกัน ซึ่งหากค่าอาร์อีเอ็มอยู่ในระดับปกติเหมือนคนทั่วไป คนไข้รายนี้ก็ควรจะฝันได้ แม้กระนั้นก็ตามงานวิจัยชินนี้ได้ชี้ประเด็นถึงความแตกต่างของระบบการทำงานในสมองทั้ง 2 หน้าที่ โดยทีมนัีกวิจัยเปิดเผยว่าพวกเขาได้ค้นหาเพื่อที่จะยืนยืนยันว่า การฝัน และ ค่าอาร์อีเอ็มขณะหลับสั่งการโดยระบบสมองคนละส่วนกัีน
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ย้ำว่าขอบเขตของสมองส่วนนี้รวมถึงกระบวนการมองเห็นภาพใบหน้าและภาพสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับกระบวนการสร้างอารมณ์และความจำในการรับภาพ ตรรกะของระบบการทำงานในสมองสิ่งเหล่านี้จะรวมกันควบคุมภาวะแห่ง “การฝัน” ของมนุษย์ขึ้นมา
เป็นเวลาเกือบปี ที่คณะแพทย์ได้สังเกตพฤติการณ์การฝันของคนไข้รายนี้ โดยหลายครั้งที่คนไข้กำลังจะเริ่มฝันบ้างตามโอกาส แต่ว่าไม่มากเกินกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งคนไข้รายนี้ได้รายงานว่าความฝันของเธอที่เกิดขึ้นหลังอาการหัวใจวายนั้นช่างดูเลือนราง จนแทบจำไม่ได้ และมีความถี่น้อยกว่าแต่ก่อนมากนัก
ข้อเขียนในนิวโรโลจี ของ ดร.เคลาดิโอ บาสเซตติ จากแผนกประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยโรพยาบาลซูริก ผู้นำทีมวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่า ความฝันก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งภาวะอาการหัวใจล้มเหลวช่วยเปิดทางให้สามารถค้นหาคำตอบดังกล่าวได้
”ผลการศึกษาแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรก โดยลงไปในรายละเอียดว่าเนื้อเยื่อส่วนที่ฟกช้ำจากอาการหัวใจวายนั่นแหละ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฝันได้ เหมือนกับว่าสูญเสียส่วนของประสาทบางอย่างในการทำงานออกไป แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้พวกเราสามารถศึกษาหาตำแหน่งสร้างความฝันบนสมองที่ใกล้และชัดขึ้นมาอีก” บาสเซตติ กล่าว พร้อมกับเพิ่มเติมว่า ข้อสรุปเกี่ยวกับส่วนนี้ของสมอง พร้อมด้วยหน้าที่ในการผลิตความฝันนั้นจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ในระดับที่ลึกลงไปมากกว่านี้ จากผู้ป่วยที่มีอาการสมองถูกทำลายรายอื่นๆ อีก