รอยเตอร์ - นกไดโนเสาร์ "อาร์คิออปเทอริกซ์" ซึ่งเป็นนกโบราณที่สุดเท่าที่มีหลักฐานปรากฏ โดยมีชีวิตอยู่ในโลกเมื่อ 147 ล้านปีมาแล้วนั้น ปรากฏว่ามีสมองลักษณะคล้ายคลึงกับนกอินทรีและนกแก้วในยุคปัจจุบัน อีกทั้งมีโครงสร้างและความสามารถในการมองเห็นและการได้ยิน ที่น่าเชื่อว่ามันสามารถบินได้จริงๆ ทั้งนี้เป็นข้อสรุปของคณะนักวิจัยจากอังกฤษและอเมริกัน ซึ่งตีพิมพ์ใน "เนเจอร์" วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังฉบับล่าสุด
ซากฟอสซิลของอาร์คิออฟเทอริกซ์ (Archaeopteryx) บ่งชี้ให้เห็นว่ามันมีหางกระดูกและฟันแบบไดโนเสาร์ ทว่ามีขนและปีกแบบนก แต่จะสามารถบินได้หรือไม่ เท่าที่ผ่านมายังไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้จนกระทั่งเร็วๆ นี้ เมื่อคณะนักวิจัยในอังกฤษและสหรัฐฯได้ใช้เทคโนโลยีสร้างภาพสลับซับซ้อนด้วยคอมพิวเตอร์ มาสร้างภาพส่วนสมองของอาร์คิออฟเทอริกซ์ จากฟอสซิลนกไดโนเสาร์ชนิดนี้ซึ่งค้นพบในเยอรมนีตั้งแต่ปี 1861 และมีข้อสรุปว่ามันมีลักษณะทุกอย่างรวมทั้งพลังสมองครบครันที่จะโบยบินเหนือท้องนภาได้
"สมองของอาร์คิออฟเทอริกซ์ ประสาทสัมผัสของมัน และหูของมัน ล้วนปรากฏว่าช่างเหมือนกับของนกยิ่งกว่าที่พวกเราเคยคิดกันไว้อย่างน่าฉงน" ดร.แองเจลา มิลเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์โบราณแห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในกรุงลอนดอน กล่าวในการให้สัมภาษณ์รอยเตอร์
"มันจัดเป็นนกดึกดำบรรพ์ที่สุดเท่าที่เราเคยรู้จักกัน และโครงกระดูกของมันก็แทบจะเป็นแบบไดโนเสาร์ทั้งหมด ยกเว้นแต่มันมีขนแบบขนนกและมีปีก ดังนั้นเราจึงประหลาดใจเมื่อปรากฏว่าสมองของมัน อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับสมองของสัตว์ที่พัฒนาเป็นนกเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปทรงของสมอง, หูส่วนในของมันซึ่งเชื่อมต่อกันอย่างมีสมดุล, และความสามารถในการรับประสาทสัมผัสของมัน คือสิ่งซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยแน่ใจว่ามันสามารถบินได้จริงๆ"
อาร์คิออฟเทอริกซ์เป็นสัตว์ขนาดเล็ก โดยตัวโตพอๆ กับนกกางเขนยุโรปเท่านั้น และจากหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่ามันสามารถบินได้เช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของสัตว์บินได้
มิลเนอร์อธิบายว่า เนื่องจากอาร์คิออฟเทอริกซ์มีสมองซึ่งพร้อมเต็มที่สำหรับการบิน นั่นคือมีสมองแบบนกแล้ว จึงเป็นเรื่องชัดเจนว่าแนวโน้มวิวัฒนาการของสัตว์บินได้ จะต้องสาวย้อนให้ไกลออกไปจากที่เราเคยคิดกัน
สำหรับการใช้คอมพิวเตอร์สร้างสมองอาร์คิออฟเทอริกซ์คราวนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอนดอน ได้ตัดเอาส่วนโพรงสมองยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ออกจากฟอสซิลที่ค้นในเยอรมนีดังกล่าว และร่วมมือประสานงานกับคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทกซัส วิทยาเขตออสติน ซึ่งเป็นผู้ใช้ภาพคอมพิวเตอร์มาสร้างแบบจำลองสามมิติ
ในอดีตที่ผ่านมา การศึกษาหาร่องรอยว่านกดึกดำบรรพ์บินได้ไหม นิยมพิจารณากันที่โครงสร้างของปีกและขนนก ทว่าการวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นหลักหมายสำคัญ ในแง่ที่ชี้ให้เห็นว่า ความสามารถในการมองเห็นและพลังสมองในการประสานข้อมูลที่ได้รับจากตาและหู คือสาระสำคัญในการบินของสัตว์