xs
xsm
sm
md
lg

'ฟรานซิส คริก' เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ค้นพบ "เกลียวคู่แห่งชีวิต"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่ฉลองครบรอบ 50 ปีของการค้นพบโครงสร้างของดีเอ็นเอไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา "ฟรานซิส คริก" นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ค้นพบเกลียวคู่ของดีเอ็นเอก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ในวัย 88 ปี หลังจากที่เผชิญกับโรคร้ายมานาน

ฟรานซิส แฮร์รี่ คอมพ์ตัน คริก (Francis Harry Compton Crick ) เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2449 ที่เมืองนอร์ทติงแฮม ประเทศอังกฤษ เข้าเรียนวิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และยังได้สร้างทุ่นระเบิดใต้น้ำ ให้แก่กองทัพเรืออังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากสงครามสิ้นสุดลง คริก สนใจในความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จึงตัดสินใจทุ่มเทหาความรู้เกี่ยวกับวิชาชีววิทยาและเคมี จนสามารถค้นพบรหัสความลับแห่งชีวิตได้ในปี 2496 ร่วมกับ เจมส์ วัตสัน (James Dewey Watson)

วัตสันและคริกได้ตีพิมพ์แนวคิดของพวกเขาเกี่ยวกับโครงสร้างของดีเอ็นเอในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2496 ในวารสารฉบับเดียวกันยังได้ตีพิมพ์ผลการทดลองของมัวริส วิลคินส์ (Maurice Hugh Frederick Wilkins) และโรสลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) จากมหาวิทยาลัยลอนดอนด้วย

วัตสันและคริกได้ทำนายโครงสร้างของดีเอ็นเอว่า น่าจะมีลักษณะเป็นเกลียว และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ต้องเป็น “เกลียวคู่” (double helix) โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายๆ กับ “บันไดเวียน” โดย A (อะดีนีน : Adenine) เกาะกับ T (ไทมีน : Thymine) และ C (ไซโทซีน : Cytosine) เกาะกับ G (กัวนีน : Guanine)

ไม่เพียงแต่ได้ทำนายโครงสร้างของดีเอ็นเออย่างถูกต้องเท่านั้น ข้อความสำคัญย่อหน้าสุดท้ายของผลงานชิ้นดังกล่าวยังได้กลายเป็น “วรรคทองทางวิทยาศาสตร์” ที่ได้กรุยทางใหม่สู่การทำความเข้าใจโลกของสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ที่วัตสันและคริกเขียนไว้ก็คือ “มันไม่ได้รอดพ้นไปจากการสังเกตของเราว่า การจับคู่อย่างจำเพาะที่เราได้คาดคะเนไว้ ได้แนะนำเราในทันทีเช่นกันถึงความเป็นไปได้ของกลไกการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม”

วัตสันและคริกได้ตีพิมพ์ทฤษฎีการเพิ่มปริมาณตัวเองของดีเอ็นเอ ตามออกมาในเวลาห่างกันเพียงหนึ่งเดือน พวกเขาจินตนาการและคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่า สายดีเอ็นเอแต่ละสายจะทำหน้าที่เป็นต้นแบบสำหรับการสร้างดีเอ็นเอสายใหม่ที่จะจับกับตัวมันเองต่อไป ทฤษฎีของเขาได้รับการพิสูจน์ด้วยการทดลองในเวลาต่อมาว่าถูกต้อง

และต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ทั้งวัตสันและคริกก็ได้รับรางวัลโนเบลด้านสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับวิลคินส์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน โดยพบว่าดีเอ็นเอน่าจะจับกันมากกว่าหนึ่งสายและมีโครงสร้างเป็นรูปซ้ำๆ (ตอนนั้นคาดกันว่าน่าจะเป็นสามหรือสี่สาย) นอกจากนี้ยังอาจจะมีรูปแบบการจับกันมากกว่าหนึ่งแบบอีกด้วย (ส่วนแฟรงคลินซึ่งเป็นคู่หูของวิลคินส์ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ไม่เช่นนั้นอาจจะได้รางวัลโนเบลเช่นกัน)

หลังจากการค้นพบของคริกและวัตสันโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีชีวภาพ เป้าหมายยิ่งใหญ่คือ การหาลำดับเบสของมนุษย์ (A,T,C,G) ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าในร่างกายของมนุษย์มีการเรียงตัวของเบสทั้งสี่อย่างไร การเรียงตัวที่แตกต่างกันไปของแต่ละคนก่อให้เกิดความแตกต่างอะไรบ้าง การเรียงตัวแบบไหน คือบ่อเกิดของความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย แล้วแผนที่ในร่างกายของมนุษย์เราเป็นแบบไหน

อย่างไรก็ดี การค้นพบดังกล่าวทำให้วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเพาะมะเขือเทศลูกโตเท่ากับลูกฟุตบอล และยังทำให้แพทย์ใช้ยีนรักษาคนไข้ หรือแม้แต่ตำรวจก็สามารถนำดีเอ็นเอมาเป็นหลักฐานสำคัญในการสืบเสาะจับผู้ร้าย รวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมทั้งการผลิตยาและวัคซีนเพื่อรักษาโรคต่างๆ นอกจากนี้เกษตรกรกว่า 18 ประเทศต่างก็เพาะปลูกพืชผลด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี พร้อมทั้งลดปริมาณการใช้สารเคมี

คริกใช้ชีวิตไม่เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่ขลุกอยู่แต่ในห้องทดลอง หรือคร่ำเคร่งกับการสอนหนังสือ แต่ได้ทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับการอ่านและครุ่นคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบ และเขายังได้เขียนหนังสือเรื่อง "โมเลกุลและมนุษย์" (Molecules and Men) ในปี 2509 เรื่อง "Life Itself" ในปี 2524 และหนังสือ "The Astonishing Hypothesis, The Scientific Search for the Soul" ในปี 2537 ก่อนที่จะสิ้นใจด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่โรงพยาบาลในซานดิเอโก เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา




กำลังโหลดความคิดเห็น