xs
xsm
sm
md
lg

“ศ.นพ.ธีระวัฒน์” นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2547

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2547 เจ้าของผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จนสามารถนำมาแก้ปัญหาสาธารณสุขไทย โดยศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพิษสุนัขบ้ามากว่า 20 ปี จนสามารถเข้าถึงปัญหาได้อย่างแท้จริง โดยมีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง การเก็บตัวอย่างเชื้อให้ได้นานมากขึ้นกว่าเดิมด้วยกระดาษกรอง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมาะจุฑา อายุ 49 ปี เกิดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายแพทย์จิตต์ และนางไพโรจน์ เหมาะจุฑา สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้นจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรกรรม และสาขาอายุรกรรมประสาท ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากนั้นได้รับทุน Fogarty Fellowship จาก National Institute of Health (USA) เพื่อฝึกอบรมสาขา Neurology และ Neuroimmunology ณ สถาบัน Johns Hopkins University School of Medicine กับ Prof. Richard T. Johnson และ Prof.Dian E. Griffin

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 จากนั้นในปี พ.ศ.2528 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และในปี พ.ศ.2532 ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ ต่อมาในปี พ.ศ.2540 ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 นอกจากภาระหน้าที่อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์แล้ว ยังได้ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ เช่น กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ อนุกรรมการจริยธรรม แพทยสภา และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในระดับนานาชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2533 – 2536 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ WHO Collaborating Center for Research on Rabies Pathogenesis and Prevention และในปี พ.ศ.2533 ถึงปัจจุบันเป็น Member of WHO Expert Advisory Panel on Rabies และตั้งแต่พ.ศ. 2543 ได้รับคัดเลือกเป็น Member of American Neurological Association และล่าสุด พ.ศ. 2547 เป็น Member of Scientific Committee จากสถาบันปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ทำวิจัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบัน ผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ส่งผลให้ได้รับรางวัลต่างๆ เช่น ผลงานวิจัยดีเด่น จากสภาวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ.2535) รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมเจ้าฟ้ามหิดล-บีบราวน์ (พ.ศ.2536) นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ (พ.ศ.2537) และงานวิจัยได้รับการคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยดีเด่น 1 ใน 10 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยประจำปี พ.ศ.2546

ผลงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คือ จากองค์การอนามัยโลก ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค การสนับสนุนให้ยุติการใช้วัคซีนจากสมองสัตว์และเสนอวิธีทดแทนด้วยการใช้วัคซีนที่ปลอดภัย โดยการฉีดแบบประหยัด ซึ่งมีผลงานมากมาย รวมถึงงานทางด้านการวินิจฉัย พยาธิกำเนิดของโรค ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแพทย์ชั้นนำของโลก เช่น New England Journal of Medicine, Lancet, Lancet Neurology, Lancet Infectious Diseases, Neurology, Journal of Infectious Diseases, Annals of Neurology, Clinical Infectious Diseases และอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เขียนบทความในตำราต่างประเทศหลายเล่ม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ McGraw-Hill, Butterworth-Heinemann, Raven Press, Lippincott Williams and Wilkins และวารสาร Lancet Neurology และ Lancet Infectious Diseases เป็นต้น อีกทั้งยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในการประชุมโรคติดเชื้อ และโรคสมองที่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นต้น พร้อมทั้งวารสาร Lancet ของอังกฤษเคยลงสัมภาษณ์ประวัติส่วนตัว

งานวิจัยของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เกี่ยวข้องกับการศึกษาโรคสมองอักเสบทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะจากพิษสุนัขบ้า และสมองอักเสบจากภาวะแปรปรวนทางระบบภูมิคุ้มกัน โดยเป็นการศึกษาแบบครบวงจร ตั้งแต่ลักษณะอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคด้วยวิธีใหม่ การเก็บส่งตัวอย่างเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ต้องใช้ตู้เย็น ลักษณะพิเศษของเชื้อ กลไกการเกิดโรคและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสมอง

อีกทั้งการศึกษาสายพันธุ์ของไวรัสพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ และการแบ่งกลุ่มของไวรัสที่มีความจำเพาะกับพื้นที่ รูปแบบการกระจายและทิศทางการแพร่ของเชื้อโรค เพื่อนำไปสู่การป้องกันและรักษา โดยศึกษาวางระบบแบบแผนการปฏิบัติเมื่อสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ศึกษาผลแทรกซ้อนของวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่ทำจากสมองสัตว์ซึ่งควรยกเลิกและทดแทนด้วยวัคซีนอื่น และการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 80% โดยได้ผลักดันผลงานด้านการป้องกันและรักษาทั้งหมด จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จนถึงปัจจุบัน

การศึกษาพาหะนำโรคที่สำคัญอีกชนิด คือ ค้างคาว ขณะนี้ได้มีการสำรวจค้างคาวใน 8 จังหวัด และมีเป้าหมายที่จะสำรวจให้ครอบคลุมทั้งประเทศไทย เพื่อศึกษาสภาวะการติดเชื้อ และความสามารถของค้างคาวที่จะนำและแพร่เชื้อไวรัสในตระกูลพิษสุนัขบ้า และไวรัสนิปาห์ซึ่งเคยเกิดระบาดครั้งใหญ่ในประเทศมาเลเซียและออสเตรเลียมาแล้ว

นอกจากงานวิจัยในด้านสมองอักเสบ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้ทำงานด้านเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้อง อันตรายเกี่ยวกับกาใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมและมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง การพัวพันของผู้รักษากับผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยา อันอาจนำมาสู่การเบี่ยงเบนประเด็นในด้านการตัดสินใจในการรักษาและป้องกันโรค

อย่างไรก็ดี อีกผลสำเร็จของการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี จึงทำให้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมาะจุฑาได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2547 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหวังจะเป็นแบบอย่างและกำลังใจแก่ตัวของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์เอง และนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น