xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิทย์ดีเด่น” วอนปั้นเด็กเสียแต่วันนี้อีก 20 ปีอาจไปไกลถึง “โนเบล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” เจ้าของโครงการ “โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย” ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2547 เผยถึงเวลาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อย่ามองแต่ภาพรวม ยกเรื่องพิษสุนัขบ้าเป็นตัวอย่างอย่าใช้แต่งบคุมปริมาณให้หมดเพียงชั่วเวลาหนึ่ง แนะให้นำชุมชนมีส่วนร่วม พร้อมเตรียมเผยแพร่วิธีทำหมันสุนัขใช้เวลาเพียง 2 นาที นำร่องในจังหวัดกาญจนบุรี เรียกร้องสังคมอดทน ใช้เวลาสร้างเด็กเป็นนักวิทย์ ไม่เช่นนั้น ในอนาคตเด็กไทยจะแห่เป็นนักร้องกันทั้งประเทศ

เช้าวันนี้ (4 ส.ค.) มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แถลงข่าวและแนะนำรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2547 โดยรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในปีนี้ คือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยมากว่า 20 ปี จนทำให้องค์การอนามัยโลกยอมรับเกณฑ์การรักษาโรคพิษสุนัขบ้าของไทย และนำไปประกาศใช้ทั่วโลก และงานวิจัยชิ้นล่าสุดก็คือ “ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน”

ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อีก 6 คน ได้แก่ 1.ดร.จินตมัย สุวรรณประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยศึกษาวัสดุเชิงประกอบประเภทพาร์ทิคูเลต ของพอลิเอทิลีน ทำให้ได้วัสดุประเภทใหม่ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนไป 2.ดร.เทียนทอง ทองพันชั่น ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยศึกษาและพัฒนาปฏิกิริยาทางเคมีอินทรีย์ ใช้ในการสังเคราะห์สารที่มีคุณสมบัติน่าสนใจตามต้องการ

3.ผศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ วิจัยการออกแบบรูปแบบยา หรือระบบนำส่งยาแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตยาที่ไม่ซับซ้อน 4.ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. วิจัยการนำเทคโนโลยีแสงและอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่าง ๆ 5.ผศ.ดร.สุพล อนันตา ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิจัยและพัฒนาการผลิตผงและเซรามิกคุณภาพสูงต้นทุนต่ำ และ 6.ผศ.ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิจัยศึกษาด้านพฤติกรรมสัตว์และนิเวศวิทยา

ทางด้าน ศ.ดร.ธีระวัฒน์ เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า แรงบันดาลใจอยากจะบอกให้เด็กๆ รุ่นหลังรู้ถึงเหตุผลที่มาทำโรคที่ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าใดนัก นั่นก็คือ “โรคพิษสุนัขบ้า” และโรคสมองอักเสบทั้งหลาย เพราะจริงๆ แล้วในประเทศไทยเวลาเราดูปัญหา เราดูจากแค่สิ่งที่เห็น แต่เล็กๆ น้อยๆ ไม่เคยดู

เราดูแค่ว่า ปีหนึ่งมีคนตายเพราะหมาบ้ากัดมากไหร่ แต่เราไม่เคยคิดเลยว่าถ้าลูกหลานเราถูกหมากัด แล้วเรากังวลมากแค่ไหน เพราะระยะฟักตัวมันเป็นปี แต่เคยรู้ไหมว่า 10 วันก่อนที่หมาจะแสดงอาการ เขาก็แพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าได้แล้ว และรู้ไหมว่าอีก 4 แสนคนต่อปีต้องฉีดวัคซีนหลังถูกหมากัด สิ่งที่รัฐบาลเสีย 300 ล้านบาทต่อปีเป็นค่าวัคซีน แต่ที่จริงแล้วค่าใช้จ่ายที่ต้องควบคุมหมาทั้งหมดตก 1,300 ล้านบาทต่อปี เราไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย แต่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหา เช่น ประชุมเอเปกทีนึงก็ขนหมาไปไว้ที่อื่นๆ บอกว่าหมาไม่มีปัญหา แต่ขนไปไว้ที่อื่น พอประชุมเสร็จก็ขนมาไว้ที่เดิม อย่างนี้เป็นต้น

พวกเราก็ไม่เคยรู้ว่า 3% ของหมาที่ส่งมาตรวจที่แล็บของเราหรือที่สถานเสาวภามีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่ แม้กระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายนนี่เอง มีแหม่มคนหนึ่งไปเที่ยวที่เพชรบูรณ์นำหมากลับสหรัฐฯ ไปด้วย ปรากฎว่าหมาตัวนั้นมีเชื้อพิษสุนัขบ้า ทางซีดีซี (องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ) ต้องติดต่อผู้โดยสารเที่ยวบินนั้นซึ่งกระจายอยู่ 3 มลรัฐไล่ฉีดยาหมดทั้ง 3 รัฐ พร้อมทั้งแจ้งให้ฉีดยากันโรคในกรุงเทพฯ และเพชรบูรณ์ แหล่งที่นำหมาเพื่อป้องกัน”

ศ.ดร.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบันที่ทำกันอยู่ คือ ใช้งบประมาณที่มีให้หมด ทั้งที่ควรมีการวางแผนที่ดี และมีพื้นฐานข้อมูลปัญหา ทัศนคติของประชาชน รวมทั้งต้องรู้ว่าพื้นที่นั้น ๆ มีความหลากหลายพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ใน กทม. และปริมณฑล 5 จังหวัด มีความหลากหลายพันธุกรรมของไวรัส วิ่งเข้า-ออก ตลอดเวลา การจะลงไปพื้นที่เดียวเพื่อควบคุมประชากรสุนัข หรือให้วัคซีนสุนัขจรจัดไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น ต้องค่อย ๆ เข้าควบคุมพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีความหลากหลายของพันธุกรรมไวรัสก่อน

"ผมจึงอยากเสนอไปถึงผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ว่าการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดไม่ใช่เพียงแค่มีงบฯ แล้วใช้งบฯ ให้หมด ต้องมีการประเมินผล และมีข้อมูลพื้นฐานที่ดี ดูวิธีการที่เหมาะกับพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่” นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวพร้อมทั้งย้ำว่า สิ่งที่สำคัญในการป้องกันและแก้ปัญหาแบบยั่งยืนต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้เขาและคณะ กำลังจะสร้างระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนนำร่องในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยจะทำหมันสุนัขใช้เวลาเพียง 2 นาที เท่านั้น ขณะนี้การวิจัยสารเคมีที่ใช้ฉีดเข้าไปเพื่อทำลายเซลสร้างสเปิร์มในสุนัขสำเร็จแล้วร้อยละ 70 อยู่ในระหว่างรอดูผลว่าจะควบคุมได้นานเพียงใด หากการควบคุมสุนัขที่จังหวัดกาญจนบุรีได้ผล จะได้เป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระพัฒน์ ยังได้ยกตัวอย่างกรณีที่เขาและทีมงานคิดพัฒนาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข้าทางผิวหนัง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีก โดยองค์การอนามัยโลกได้รับไปเผยแพร่เมื่อ 10 ปีที่แล้วทั่วโลก แต่ว่าประเทศไทยกลับใช้ไม่ถึงร้อยละ 20 เชื่อว่าถ้านำไปใช้จะประหยัดถึง 220 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้ผสานงานทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหางานทางสาธารณสุขได้ โดยมุ่งแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาจริงๆ นำความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ไทยคิด ออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ ซึ่งกระบวนการเลือกใช้วิทยาศาสตร์ในขณะนี้ คือการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแก้ปัญหาให้ตรงจุด

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นได้กล่าวอีกว่า ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนต่างก็มักคิดว่านักวิทยาศาสตร์คือพวกบุคคลที่พูดภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน ซึ่งที่ต้องพูดศัพท์เทคนิกเหล่านั้นก็เพราะเวลาอ้างอิงต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่พูดเพื่อให้ดูเก่งมีความรู้ แต่กว่าที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถได้ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี หากไม่ได้รับการสนับสนุน

“ขณะนี้ประเทศไทยเราไม่มีรากฐาน และถ้าหากว่าเราอยากจะสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีสมองดีเลิศในทุกๆ ด้านให้แข็งแกร่ง เราต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ต้องเริ่มตั้งแต่อนุบาล ประถม ขึ้นมา ถ้าเริ่มต้นวันนี้อีก 20 ปีก็จะได้นักวิทยาศาสตร์ที่ดี เป็นนักวิศวกร เป็นอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย พร้อมทั้งการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวพร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ที่เคยตามหลังเราเป็น 20 ปี แต่ปัจจุบันนักเรียนของเขาสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักวิทยาศาสตร์เกือบจะถึงระดับโลกได้แล้ว และอาจจะได้ถึงรางวัลโนเบลถ้าเราเริ่มต้นตอนนี้ หวังว่าเราคงจะไม่ได้แต่นักร้องในรอบ 20 ปีนี้ ค่ายเพลงต่างๆ สามารถดึงเยาวชนไปได้ง่ายมากกว่า

ทั้งนี้ โครงรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จัดขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อค้นหาและสนับสนุนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งรางวัลนี้ได้มอบกันมาตั้งแต่ปี 2525 โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมโดยให้สถานศึกษา องค์กร และบุคคลในวงการวิทยาศาสตร์เสนอชื่อ เพื่อสร้างความตื่นตัวและความภูมิใจในความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทย ขณะเดียวกัน ได้คำนึงถึงการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ให้สนใจการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อเป็นกำลังสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงริเริ่มให้มีรางวัล นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 2534 โดยเลือกบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี ที่มีความสามารถด้านวิจัย เพื่อเป็นกำลังใจมุ่งมั่นสร้างผลงานวิจัยให้ดีเด่นและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น