ภาพที่เห็นสวยๆ อย่างนี้คือภาพของกาแล็กซีรูปกังหันที่มีชื่อว่า "เซนทอรัสเอ" ซึ่งมีพลังงานมหาศาลอันเนื่องมาจากหลุมดำที่ใจกลางของมัน คอยกลืนกินกาแลกซีน้อยใหญ่รอบๆ ตัวเป็นอาหาร
ซากฝุ่นที่เหลืออยู่ของดิสก์กาแลคซีรูปกังหันซึ่งขดโค้งที่ใจกลางของกาแลคซีทรงกลมขนาดใหญ่และเป็นแหล่งคลื่นวิทยุที่สว่างมากที่เรียกกันว่า เซนทอรัสเอ (Centaurus A หรือ NGC5128) ดิสก์ฝุ่นถูกค้นพบโดยทีมนักดาราศาสตร์ที่นำโดยโจซีลีน คีน (Jocelyn Keene) จากห้องทดลองจรวดขับดัน (JPL) ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ที่มีความไวในช่วงอินฟราเรด
เซนทอรัสเออยู่ไกลจากโลก 14 ล้านปีแสง ในช่วงตาเห็น มันจะแสดงแถบมืดพริ้วพาดผ่านใจกลาง แต่ในภาพที่ได้จาก Infrared Array Camera (IRAC) ของสปิตเซอร์ดูเหมือนจะมองข้ามรายละเอียดจากช่วงแสงตาเห็นและพบโครงสร้างแผ่นฝุ่นที่บิดอยู่ภายในใจกลาง แหล่งฝุ่นที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือกาแลคซีกังหันแห่งหนึ่งที่พุ่งเข้ามาโดยแรงโน้มถ่วงของเซนทอรัสเอ การชนเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน ซึ่งคีนได้เสนอว่าดาวฤกษ์อายุเก่าแก่กว่าที่เคยเป็นของกาแลคซีกังหันถูกดึงออกมาอยู่ส่วนนอกของเซนทอรัสเอ ขณะที่ฝุ่นและก๊าซในดิสก์กังหันจมลงสู่ใจกลางกาแลคซีใหญ่ และในที่สุด สิ่งที่เหลืออยู่ของกาแลคซีกังหันก็จะถูกกลืนกินโดยเซนทอรัสเอจนหมด
กาแลคซีทรงกลมขนาดใหญ่ยักษ์แห่งนี้เป็นหนึ่งในแหล่งวิทยุที่ทรงพลังที่สุดในท้องฟ้า ซึ่งนักดาราศาสตร์บอกว่ามันเป็นผลมาจากหลุมดำมวลมหาศาลแห่งหนึ่งที่มีมวลประมาณ 1 ร้อยล้านเท่าดวงอาทิตย์ในใจกลางเซนทอรัสเอ สสารที่หมุนวนรอบหลุมดำจะถูกทำให้ร้อนขึ้นจนมีอุณหภูมิสูงมากก่อนที่จะหายไปในขอบฟ้าเหตุการณ์ (event horizon) ของหลุมดำ นักดาราศาสตร์คิดว่าเซนทอรัสเอเจริญเติบโตโดยการกลืนกินกาแลคซีที่มีขนาดเล็กกว่าเรื่อยๆ มา
ข้อมูลจากดาราศาสตร์ดอทคอม