เดือนกรกฎาคมของปี 47 นี้มีปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้ง 2 ครา ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนผ่านไป และครั้งที่ 2 ในคืนวันอาสาฬหบูชาที่กำลังจะมาถึง แต่ทว่าฟูลมูนครั้งหลังของเดือนไม่ใช่การเต็มดวงธรรมดา เพราะนั่นคือปรากฎการณ์ “พระจันทร์สีน้ำเงิน” หรือว่า บลูมูนที่ใครๆ เฝ้าฝันถึง
เมื่อเอ่ยถึงสำนวนที่ว่า “วันซ์อินอะบลูมูน….” (Once in a Blue Moon…) สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษย่อมรู้แน่ว่ามันหมายถึง “เป็นไปได้ยาก” หรือนานทีจะมีสักครั้งหนึ่ง หรือยากเสียจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องไร้สาระหรือไม่น่าจะเป็นไปได้เสียแทน
แต่ว่า “พระจันทร์สีน้ำเงิน” เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง (และนานๆ ทีตามที่สำนวนว่า) แล้วมีใครที่เคยเห็นหรือยัง ถ้าเคยครั้งล่าสุดที่เห็นเมื่อไหร่? แต่ถ้าไม่เคย....รู้ไหมว่าวันที่ 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เราจะได้ยล “บลูมูน” บนท้องฟ้ากัน
จาก “ฟูลมูน” เป็น “บลูมูน”
ตามแนวคิดใหม่ “พระจันทร์สีน้ำเงิน” คือ พระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบเดือนปฏิทิน หรือเรียกง่ายๆ ว่าถ้าเดือนไหนมีพระจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 นี่ล่ะ จะเรียกว่า “บลูมูน” เพราะปกติใน 1 เดือนจะเกิดปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงได้เพียงแค่ 1 ครั้ง และมีบางคราวที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือนจะแอบแทรกตัวขอเกิดขึ้นอีกหน ซึ่งพระจันทร์เต็มดวงหรือฟูลมูน (Full Moon) จะเกิดขึ้นประจำทุกเดือน
แม้ว่าใน 1 ปีมี 12 เดือน และ 1 เดือนมี 30 และ 31 วันแต่รอบของดวงจันทร์ก็มีแค่เพียง 29.53059 วันต่อเดือน และใน 1 ศตวรรษจะมีเดือนทั้งหมด 1200 เดือน ทั้งนี้ ในศตวรรษเดียวกันจะเกิดพระจันทร์เต็มดวงได้ถึง 1236.83 ครั้ง แต่จะเป็นเพียงพระจันทร์สีน้ำเงินแค่ 36.83 ครั้งหรือ 2.72 ปีต่อครั้ง แต่มีที่พิเศษกว่านั้นเข้าไปอีกคือจะมีการเกิดบลูมูนปีละ 2 ครั้งในทุกๆ 19 ปี ซึ่งปีล่าสุดที่เกิดบลูมูน 2 ครั้งซ้อนก็คือปี 1999 และถัดไปคือปี 2018 หรือสรุปง่ายๆ ว่า 3% ของฟูลมูน จะเป็นบลูมูน
การเกิด “พระจันทร์สีน้ำเงิน” ในช่วงศตวรรษที่ 20
วันที่ | เดือน | ปี (พ.ศ.) | เวลาสากล(UT) | เวลาประเทศไทย |
30 | มิถุนายน | 1996 (2539) | 10:35 | 17:35 |
31 | มกราคม | 1999 (2542) | 16:06 | 23:06 |
31 | มีนาคม | 1999 (2542) | 22:49 | 05:49 (1 เม.ย.) |
30 | ธันวาคม | 2001 (2544) | 20:51 | 03:51 (31 ธ.ค.) |
31 | กรกฎาคม | 2004(2547) | 18:06 | 01:06 (1 ส.ค.) |
30 | มิถุนายน | 2007 (2550) | 13:50 | 20:50 |
31 | ธันวาคม | 2009 (2552) | 19:14 | 02:14 (1 ม.ค.) |
31 | สิงหาคม | 2012 (2557) | 13:58 | 20:58 |
ข้อสังเกตง่ายๆ ถ้าเห็นพระจันทร์เต็มดวงก่อนวันที่ 11 มกราคม แสดงว่าปีนั้นจะมีพระจันทร์เต็มดวงมากถึง 13 ครั้ง และจะต้องมีเดือนใดเดือนหนึ่งที่มีพระจันทร์เต็มดวงซ้อนกันถึง 2 ครั้ง (อย่างเช่นในปี 2547 นี้ที่คืนวันขึ้น 15 ค่ำแรกของปี ตกวันที่ 6 มกราคม และในปีนี้ก็เลยมีเดือนกรกฎาคมเป็นผู้โชคดีมีพระจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้ง) หรือถ้าในบางปีที่พระจันทร์เต็มดวงมีก่อน 11 มกราคมแต่ไม่ปรากฏในเดือนกุมภาพันธ์ ก็เป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็นบลูมูนถึง 2 ครั้งแบบเดือนเว้นเดือน
และในเดือนกรกฎาคมที่เรากำลังยืนอยู่นี้ ก็มีคืนพระจันทร์เต็มดวงไปแล้วเมื่อต้นเดือน คือวันที่ 1 และจะมีอีกรอบเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ที่กำลังจะมาถึงนี้ และก็เข้าแก๊บของการเกิด “พระจันทร์สีน้ำเงิน” พอดิบพอดี
สีน้ำเงินของดวงจันทร์
วันที่เกิดพระจันทร์เต็มดวงจะไม่มีผลต่อสีของดวงจันทร์ แม้ในวันที่ 31 ที่จะถึงนี้จะเป็นคืนบลูมูน แต่พระจันทร์ในคืนนั้นเราก็จะมองเห็นเป็นดวงกลมๆ สีเทาๆ ราวไข่มุกเหมือนในทุกๆ คืนที่ที่ผ่านมา (อ้าว !!)
แต่ว่าก่อนหน้านี้ เราจะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงินกันอยู่แล้วทุกค่ำคืน ไม่ว่าจะเป็นเต็มดวง ครึ่งดวง หรือว่าค่อนดวง ยกเว้นในบางคืนที่ดวงจันทร์จะกลายเป็นสีเขียว ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ....
ในปี 1883 เป็นปีที่ภูเขาไฟ “กรากาตัว” (Krakatoa) ที่อินโดนีเซียระเบิดขึ้นตูมใหญ่ราวกับทิ้งนิวเคลียร์ขนาด 100 เมกาตัน ส่งผลให้ลาวาและฝุ่นควันพุ่งกระจายออกไปไกลถึง 600 กิโลเมตร เถ้าของภูเขาไฟพวยพุ่งขึ้นสูงไปถึงชั้นบรรยากาศ นั่นจึงทำให้พระจันทร์เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในขี้เถ้าของภูเขาไฟกรากาเตา คลุ้งจนกลายเมฆฝุ่นซึ่งผสมด้วยอนุภาคเล็กๆ ขนาด 1 ไมครอน (1 ส่วน 1 ล้านเมตร) ซึ่งอนุภาคเหล่านี้มีความกว้างมากกว่าความยาวคลื่นของแสงสีแดงกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในอากาศ (ความยาวคลื่นของแสงแดงคือ 0.7 ไมครอน) ดังนั้นเมื่อแสงสีขาวที่เคยตกกระทบดวงจันทร์ก่อนส่งมาที่ดวงตาของเราต้องผ่านอนุภาคเหล่านี้ก่อน แสงสีแดงก็จะกระเจิงหายไป เหลือแต่เพียงแค่ 2 แสงคือ แสงสีน้ำเงินและแสงสีเขียว
พระจันทร์ยังคงเป็นสีน้ำเงินเช่นนี้อยู่อีกนานหลายปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะมีเขม่าควันจากภูเขาไฟอีกหลายแห่ง แม้จะไม่แรงเท่ากรากาตัว แต่ก็มีส่วนทำให้ดวงจันทร์กลายเป็นสีน้ำเงินต่อๆ ไปไม่ว่าจะเป็นในปี 1983 หลังจากภูเขาไฟเอล ชิชอน (El Chichon) ในเม็กซิโกระเบิดขึ้น และก็มีรายงานว่าพบพระจันทร์สีน้ำเงินหลังจากภูเขาไฟเซ็นต์เฮเลน (St. Helens) ระเบิดในปี 1980 และภูเขาไฟพินาตูโบ (Pinatubo) ระเบิดในปี 1991 นอกจากฝุ่นควันจากปล่องภูเขาไฟแล้ว ไฟป่าก็มีส่วนพ่นควันที่มีอนุภาคเหล่านี้ออกมา ทำให้เห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงินได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าทางทิศตะวันตกของสหรัฐจะเกิดไฟป่าขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ และถ้าไฟโหมหนักมากพอที่จะเกิดฝุ่นควันจำนวนมาก พร้อมๆ กับมีอนุภาคขนาด 1 ไมครอนปนอยู่พวกเราก็จะสามารถเห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงินสมใจ
ที่สำคัญท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้คือจุดที่จะมองเห็นดวงจันทร์แบบเต็มๆ นับเป็นโอกาสอันดีที่ หลังเวียนเทียนอาสาฬหบูชาจบ ประมาณตี 1 นิดๆ ลองแหงนหน้าขึ้นฟ้าลุ้นกันดูว่าดวงเดือนกลางเวหาจะกลายเป็นสีอะไร เผื่อว่าสายตาจะได้บันทึกภาพแห่งความทรงจำ “ครั้งหนึ่งกับพระจันทร์สีน้ำเงิน”