ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์คู่กับอาเธอร์ ซี คลาก ซึ่งอาซิมอฟได้ให้คำนิยามของนิยายวิทยาศาสตร์ไว้ว่า… นิยายวิทยาศาสตร์มีสามแบบคือ หนึ่ง : อะไรจะเกิดขึ้น…ถ้า สอง : เพียงแต่…ถ้า และ สาม ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นต่อๆไป…
อาซิมอฟ เกิดเมื่อปีพ.ศ.2463 ที่ประเทศรัสเซีย ใกล้เมืองสโมแลนส์ก แต่พอเขาอายุ 3 ขวบ ครอบครัวก็อพยพไปสหรัฐอเมริกา และเปิดร้านขายหนัสือพิมพ์ในเมืองบรูกลีน ส่วนอาซิมอฟเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษจากโรงเรียนประถมจนถึงอายุ 8 ปี ก็สอบผ่านและได้รับสัญชาติอเมริกัน
อาซิมอฟรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก โดยเมื่อตอน 9 ขวบ ก็เริ่มชอบนิยายวิทยาศาสตร์มากเป็นพิเศษ และฝันว่าโตขึ้นจะได้เป็นนักเขียนนิยายแนวนี้ให้ได้ เขาเริ่มเขียนนิยายตั้งแต่อายุ 11 ปี แล้วส่งไปสำนักพิมพ์ต่างๆ ถูกโยนทิ้งตะกร้าไปหลายชิ้น
ความที่อาซิมอฟเป็นเด็กฉลาดมาก เขาเรียนจบมัธยมปลายตั้งแต่อายุไม่ถึง 16 จากนั้นก็เข้ามหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อเรียนด้านวิทยาศาสตร์เคมี จนจบการศึกษาด้วยอายุเพียง 19 ปี จากนั้นก็ต่อโทและจบด้วยวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น อาซิมอฟตั้งใจเรียนปริญญาเอกทันที แต่ขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น เขาต้องไปทำงานด้านเคมีให้กองทัพสหรัฐที่ฟิลาเดลเฟียช่วงหนึ่งจนหมดภาระ จึงได้กลับไปเรียกด๊อกเตอร์จบเมื่อปีพ.ศ.2482 ขณะอายุ 29 ปี
อาซิมอฟเป็นอาจารย์สอนวิชาเคมีที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน และได้เป็นรองศาสตราจารย์ในปีพ.ศ.2492 แต่ในปี 2495 อาซิมอฟก็ลาออกจากการเป็นอาจารย์และไปเขียนหนังสืออย่างจริงจังแต่ก็ยังสอนพิเศษและติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ
อาซิมอฟกลายเป็นนักเขียนประจำให้กับนิตยสารวิทยาศาสตร์ดังๆหลายฉบับ และได้รับรางวัลฮิวโก 4 ครั้ง รางวัลเนบิวลา 1 ครั้ง เป็นนักเขียนที่สร้างผลงานไว้มากมายนับไม่ถ้วนในเวลาอันรวดเร็ว จนได้รับสมญานามว่า “เครื่องจักรสมองกลที่เขียนหนังสือได้” หนังสือที่อาซิมอฟเขียนไว้มีเกือบ 500 เรื่อง และที่เป็นบทความอีกหลายร้อยชิ้น อาซิมอฟเสียชีวิตลงเมื่อปี 2535 ขณะที่อายุ 72 ปี
หนังสือของอาซิมอฟมีหลายเรื่องที่จัดได้ว่าเข้าขั้น "คลาสสิค" ซึ่งก็รวมถึงนิยายเรื่องยาวหลายเล่มจบในชุด Foundation แปลเป็นไทยในชื่อ สถาบันสถาปนา ที่วาดภาพของจักรวาลในอนาคต เมื่อมนุษย์แผ่ขยายการตั้งถิ่นฐานไปทั่วกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky way) กับเรื่องสั้นและเรื่องยาวอีกหลายเล่มในชุดหุ่นยนต์ ที่มีกฏสามข้อของหุ่นยนต์ (3 Laws of Robotics) ซึ่งถูกฝังไว้ในสมองกลทุกอัน เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะเชื่อฟังและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดอย่างหนึ่ง ในการคิดหรือทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์
นอกจากนี้ยังมีนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องยาวอีกหลายเรื่อง ซึ่งอาจไม่จัดเข้าชุดกับเล่มอื่นๆ แต่ก็นับว่าเป็นผลงานชิ้นเอก เช่น The End of Eternity แปลเป็นไทยในชื่อ "จุดดับแห่งนิรันดร์" และอื่นๆ อีกมาก บางเรื่องก็เคยนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เช่น Bicentennial Man (มนุษย์สองร้อยปี) ที่นำแสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ ซึ่งเล่นเป็นหุ่นยนต์ที่เกิดอยากเป็นมนุษย์จริงๆ ขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะต้องแลกด้วยการสูญเสียความเป็นอมตะของเครื่องจักรกลไปก็ตาม
สำหรับในเมืองไทย ผลงานของอาซิมอฟเป็นที่รู้จักกันของนักอ่านทั่วไปมาตั้งแต่ราว 30 ปีก่อนนี้ คือเรื่อง "โลกอนาคต:สถาบันสถาปนา" แปลจากเรื่องชุด Foundation ออกวางตลาดในราวปี พ.ศ. 2517 ซึ่งในครั้งนั้นมีต้นฉบับที่อาซิมอฟเขียนไว้เพียง 3 เล่ม เรียกว่าเป็นไตรภาค คือ สถาบันสถาปนา (Foundation), สถาบันสถาปนาและจักรวรรดิ (Foundation and Empire) และ สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง (Second Foundation)