xs
xsm
sm
md
lg

นักเรียนเก่งไทยเทียบแค่มือสมัครเล่นในโอลิมปิกวิชาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนเก่งของไทยผู้แทนคณิตศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ ระบุเด็กไทยในเวทีโอลิมปิกวิชาการ แค่มือสมัครเล่น เพราะมีเวลาเตรียมตัวไม่นาน ขณะที่ประเทศอื่นเข้าค่ายตั้งแต่เด็ก ฝึกทักษะการคิดและปฏิบัติต่อเนื่อง ด้านผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาฯ ยอมรับความคิดของเด็ก แต่มั่นใจปฏิรูปการศึกษาอีก 6 ปี ต่อไปเด็กไทยจะเป็นมืออาชีพ

วานนี้ (21 ก.ค.) คณะผู้แทนไทยที่ได้กลับจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ได้เดินทางเข้าพบ นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกอบด้วย นายศรัณย์ อาฮูยา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย นายนิธิ รุ่งธนาภิรมย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายวุฒิศักดิ์ ตรงศิริวัฒน์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นายณัฐ เพชระบูรณิน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ทั้ง 4 คนนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ส่วนอีก 2 คนได้รับรางวัลเกียรติคุณประกาศ คือ นายณภัทร รุจีรไพบูลย์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และนายภวัต เตชะพงศ์ธาดา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

นายณัฐ กล่าวว่า จากผลการแข่งขันคิดว่าเด็กไทยยังเป็นผู้แข่งขันมือสมัครเล่น ขณะที่ประเทศอื่นเป็นมืออาชีพ มีการเตรียมตัวนานกว่า ทำให้สามารถพัฒนาได้มากกว่า แต่เด็กไทยมีข้อได้เปรียบในวิชาเคมีและชีววิทยา แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยเก่งด้านเนื้อหา ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ในวิชาคณิตศาสตร์ หากไม่หวังรางวัลก็ไม่มีผลกับนักเรียน เพราะเด็กไทยมีความสามารถวิชาคณิตศาสตร์ที่เก่งเทียบเท่ากับประเทศอื่นเหมือนกัน

นายศรัณย์ กล่าวว่า หลาย ๆ ประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับต้น ๆ ของการแข่งขัน เพราะมีการแข่งขันโอลิมปิกภายในประเทศตั้งแต่อายุน้อย ๆ เช่น เวียดนาม จะมีการแข่งขันระดับเด็กเพื่อพัฒนาให้เป็นที่หนึ่งให้ได้ ซึ่งประเทศไทยยังมีการฝึกในส่วนนี้ไม่มากนัก ผลงานที่ดีที่สุดของโลก คือ ประเทศจีนได้ 6 เหรียญทอง สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย คือ เวียดนามเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ได้ 3 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และญี่ปุ่นได้ 3 เหรียญทอง 3 เหรียญเงินเหมือนกัน

ด้านนายกว้าง รอบคอบ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เห็นด้วยกับตัวแทนประเทศไทยที่บอกว่า ไทยยังถือว่าเป็นมือสมัครเล่น เนื่องจากการเรียนการสอนของไทยเน้นการเรียนจากที่ครูบอก ขณะที่ต่างประเทศจะเน้นปฏิบัติตั้งแต่ระดับอนุบาล จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เมื่อทำข้อสอบก็ไม่มีปัญหา จากการปฏิรูปการศึกษาของไทย ตนคาดว่าอีก 6 ปี การแข่งขันของประเทศไทยจะไม่เป็นแบบสมัครเล่นอีกต่อไป หากมุ่งแต่การนำเด็ก ม.5 ม.6 ไปเข้าค่ายระยะสั้น ถึงอย่างไรก็แพ้ เพราะเป็นการเตรียมตัวเท่านั้น ต่างจากการฝึกมาตั้งแต่เด็ก

นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า หลักสูตรของประเทศต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ประเทศไทยเรียนแบบ 6 : 3 : 3 คือชั้นประถมศึกษา 6 ปี ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ขณะที่ประเทศอังกฤษหรือ สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นแบบ 6 : 5 : 2 เพราะฉะนั้นมัธยมศึกษาปีสุดท้ายเป็นปีที่ 13 ของการเรียน สิ่งที่ประเทศไทยต้องมาพิจารณา คือ ดูข้อสอบโอลิมปิกเมื่อเทียบกับหลักสูตรจะเป็นอย่างไร หลายประเทศมีโรงเรียนสำหรับสนับสนุนและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ เป็นต้น วิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อไทยปฏิรูปการศึกษามีการสนับสนุนให้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาแล้วเป็นจุดที่สามารถพัฒนาทักษะให้กับนักเรียนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น