“นพัต” นักเรียนทุนพสวท. หยิบ “ข่า” ขึ้นมาใช้แทนสารกันบูด ทดลองใส่ในขนมเค้ก พบข่ายับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้สูงสุดถึง 7 เดือน แต่หากใส่ข่าในปริมาณที่ไม่รบกวนรสชาติและกลิ่นของเค้กก็จะเก็บไว้ได้นาน 3-4 วัน
นพัต จันทรวิสูตร โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผู้แทนนักเรียน พสวท. เข้าร่วม The 32th Professor Messel International Science School 2003” ที่ประเทศออสเตรเลียได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “การศึกษาประสิทธิภาพของผงข่า ปริมาณต่างๆ ในการยืดอายุการเก็บรักษาเค้กโดยออกฤกษ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา” ซึ่งเป็นการนำสมุนไพรมาใช้แทนการใส่สารกันบูด
นพัตอธิบายถึงวิธีการทดลองว่าได้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ ขั้นที่ 1 เป็นการเตรียมเค้ก เมื่อตีเนื้อเค้กแล้วนำมาแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกไม่ใส่ข่าซึ่งเป็นชุดควบคุม ที่เหลือเติมผงข่าในปริมาณที่ต่างกัน แล้วนำไปอบ
ขั้นที่ 2 นำเค้กแต่ละถ้วยมาใส่ถุงพลาสิตกแล้วรีดปิดให้สนิท นำไปวางในบริเวณเดียวกัน และจดบันทึกผลการสังเกตการขึ้นราทุก 24 ชั่วโมงว่าเริ่มขึ้นวันที่เท่าไหร่ รวมทั้งวัดเส้นผ่านศูนย์กลางวงกลมที่มีเชื้อรากระจายอยู่เพื่อนำมาคำนวณพื้นที่ ทำการเก็บข้อมูล 20 วัน ทำซ้ำอีก 2 ครั้ง ขั้นที่ 3 ให้ชิมรสชาติของเค้กที่ผสมผงข่าว่าพึงพอใจในรสชาติอย่างไรเพื่อนำมาวิเคราะห์ผล
จากผลการทดลองพบว่าผงข่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้โดยที่ความสามารถในการยับยั้งแปรตามกับปริมาณของผงข่าที่ใส่ เค้กที่ผสมผงข่ามากที่สุด (ผงข่า : เนื้อเค้ก = 8 กรัม : 52 กรัม) พบว่าหลังจากที่บันทึกครบ 20 วันแล้วยังไม่พบเชื้อราบนเค้กเลย และได้ทำการทดลองอีก 2 ครั้งซ้ำก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
นพัต เปิดเผยว่า เก็บเค้กเพื่อสังเกตจนถึงประมาณ 7 เดือนราก็ไม่ขึ้นเค้กชุดนี้เลย แต่ชุดอื่นๆ ที่ใส่ข่าน้อยกว่าพบว่ามีเชื้อราขึ้นมากน้อยตามปริมาณข่าที่ใส่ และจากการชิมรสชาติก็พบว่าเค้กที่ใส่ผงข่าน้อยคือชุดเอ (ข่า : เค้ก = 1 กรัม : 45 กรัม) ยืดอายุได้นาน 1-2 วัน และชุดบี (เค้ก : ข่า = 2 กรัม : 46 กรัม) ซึ่งมีรสชิตและกลิ่นหอมของสมุนไพรเล็กน้อย และยืดอายุได้ 3-4 วัน ส่วนชุดซีและดี แม้จะยืดอายุเค้กได้มากกว่าหลายเท่า แต่ไม่เหมาะกับการรับประทาน สรุปได้ว่าเค้กชุดบีเป็นชุดที่เหมาะสมที่สุดในการบริโภคและมีอายุเก็บได้นานกว่าปกติ 3-4 วัน
การทำโครงงานครั้งนี้สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยนอกจากจะสามารถรับประทานได้แล้วยังยืดอายุเค้กได้มากขึ้น แถมยังมีกลิ่นของสมุนไพรให้น่ารับประทานด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังช่วยให้ไม่ต้องใช้สารกับบูดที่เป็นสารเคมีซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสามารถพัฒนาไปลองใส่ในอาการหรือขนมชนิดอื่นที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้เช่นเดียวกัน
“ที่ศึกษาเรื่องนี้ เพราะชอบวิชาวิชาชีววิทยามากที่สุด เพราะเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจ มีความแปลกใหม่ และค้นพบความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลายิ่งไปกว่านั้นการเรียนวิทยาศาสตร์ยังเป็นการฝึกทักษะกระบวนการต่างๆ ทำให้เป็นคนมีหลักการและเหตุผลและทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” นักเรียนทุนโครงการ พสวท.เผย พร้อมทั้งระบุว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากถ้าตั้งใจ อีกทั้งการสนใจวิทยาการใหม่ๆ ของโลก และหมั่นติดตามข่าวสารสม่ำเสมอ ก็จะได้รับความรู้พัฒนาตัวเองทุกๆ ด้าน