“สุดาวรรณ” แถลงนโยบายกระทรวง อว. เปิดตัวโครงการ “1 มหาวิทยาลัย 1 ภารกิจ เพื่อท้องถิ่น” ดึงมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม พร้อมเดินหน้าพัฒนากำลังคน ลดเหลื่อมล้ำ ให้ทุนเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ทั้งทุนเพื่อนักศึกษาพิการ ทุนเพื่อเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุนอื่นๆ อีก 7,900 ทุน ย้ำชัดการบริหารจัดสรรทุนวิจัยจากนี้ต้องรัดกุม เน้นประสิทธิภาพ ประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.68 น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แถลงนโยบายการขับเคลื่อนกระทรวง อว. โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.(โยธี)
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวว่า การเข้าทำงานในฐานะ รมว.อว. ตนตั้งใจที่จะทำให้งานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางและเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่และมีมูลค่าสูง ซึ่งต้องอาศัยกำลังคนทักษะสูง การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างผู้ประกอบการหรือ Tech Start-up ให้กับประเทศ ซึ่งแน่นอน กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้ อีกทั้งตนเคยดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงวัฒนธรรม ดูแลงานท่องเที่ยวและโครงการ Soft Power ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลมาก่อน จึงทราบดีว่าการที่จะขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ ต้องอาศัยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งด้านการเตรียมคน การพัฒนาทักษะกำลังคน และการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ
รมว.อว. กล่าวต่อว่า นโยบายการทำงานของกระทรวง อว.จะแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านแรก คือ การพัฒนากำลังคน เน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงอุดมศึกษาของคนในประเทศ พร้อมกับเรื่องการพัฒนากำลังคนของประเทศเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ 1.ส่งเสริมทุนเพื่อการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เช่น การอุดหนุนค่าสมัครการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา(TCAS) เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยจะสนับสนุนเงินอุดหนุนค่าสมัครสอบในการสอบวัดความถนัดทั่วไป TGAT ในอัตรา 140 บาทต่อคน ค่าสมัครสอบรอบที่ 3 แอดมิชชั่นในระบบ TCAS โดยผู้สมัครสามารถเลือกสมัครได้สูงสุด 7 อันดับฟรี ในอัตรา 600 บาทต่อคน และใน TCAS ปีนี้จะสนับสนุนค่าสมัครสอบวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ TPAT1-5 เพิ่มเติม (TPAT 1 สอบ กสพท. อัตรา 800 บาทต่อคน และ TPAT 2-5 อัตรา 140 บาทต่อคน) ซึ่งคาดว่าจะมีนักเรียนและผู้ปกครองได้รับประโยชน์กว่า 733,750 คน และการสนับสนุนทุนเพื่อนักศึกษาพิการ ทุนเพื่อเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุนอื่นๆ อีกจำนวน 7,900 ทุน แบ่งเป็นทุนคนพิการ 2,000 ทุน ทุนเพื่อเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล 3,173 ทุน ทุนสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 355 ทุน ทุนสำหรับนักศึกษาเรียนดีแต่ยากจน 80 ทุน สนับสนุนทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในประเทศ (จังหวัดชายแดนภาคใต้) 2,324 ทุน และจะให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.ทุนเพื่อให้โอกาสเรียนปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก สำหรับเด็กเรียนดี จำนวน 2,800 ทุน ซึ่งจะมีทั้งทุนด้านวิทยาศาสตร์ และทุนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ฯ โดยเน้นการส่งเสริมกำลังคนตามความต้องการของประเทศ และปรับเงื่อนไขการรับทุนการชดใช้ทุนเพื่อให้ผู้รับทุนสามารถสร้างประโยชน์ในภาคเอกชนนอกเหนือจากภาครัฐอย่างเดียว และ 3. ทุนเพื่อพัฒนากำลังคนเฉพาะทางในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน เช่น ด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ด้าน AI ด้าน EV รวมถึง Soft Power หลายด้าน เช่น ด้านอาหาร ด้านท่องเที่ยว และด้านกีฬา เป็นต้น
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า ขณะที่ด้านที่สองคือการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งกระทรวง อว. มีกองทุนส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับงบประมาณ 19,828 ล้านบาท ตนอยากเห็นว่า การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดผลกระทบ (Impact) จริงต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม จึงมีนโยบาย ดังนี้ 1.ขอให้เน้นประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน การจัดสรรทุน การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยให้ทุนหรือ PMU และจาก PMU ไปยังมหาวิทยาลัยและนักวิจัย ต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติทั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ธุรกิจชุมชน SMEs อุตสาหกรรมสมัยใหม่ รวมถึงการทำวิจัยที่ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง 2.การนำ ววน. ไปช่วยสนับสนุนภาคเกษตร ให้สามารถแข่งขันได้ โดยต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้าน ววน. ไปช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพผลผลิต การนำเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น 3. นำ ววน. ไปช่วยเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น PM 2.5 น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น เพื่อพัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ ในหลายๆ ด้าน และ 4. ส่งเสริมการวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของประเทศ ทั้งจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการสร้าง Deep tech start-up ในประเทศ เช่น ด้านยานยนต์สมัยใหม่ อาหารแห่งอนาคต เศรษฐกิจอวกาศ (Space economy) AI เซมิคอนดักเตอร์ และ อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง
“ที่สำคัญ ดิฉันและทั้งองคาพยพของกระทรวง อว.จะร่วมกันสร้าง “1 มหาวิทยาลัย 1 ภารกิจ เพื่อท้องถิ่น” เป็นการดึงศักยภาพทั้งกำลังของคนและวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของกระทรวง อว. มาสร้างการพัฒนาในระดับพื้นที่ เพราะปัจจุบันเรามี “อว. ส่วนหน้า” ประจำจังหวัดต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่อยู่แล้ว และหลังจากนี้แต่ละหน่วยงาน ทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย จะเข้าไปดูว่าในแต่ละพื้นที่ที่ตนดูแลหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง มีปัญหาอะไรที่ควรจะเข้าไปดูแลจัดการ โดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าไปช่วยในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ปัญหาสภาพดิน ปัญหาโรคพืช ปัญหาแปรรูปสินค้า ปัญหา PM 2.5. ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ ปัญหาขยะ เป็นต้น” น.ส.สุดาวรรณ กล่าว