คุณเคยสังเกตไหมว่า ‘วัด’ สถานที่ ที่ควรเป็นพื้นที่สงบ กลับเต็มไปด้วยควันบุหรี่?
ในอดีต...วัดเคยเป็นจุดเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ เพราะขาดมาตรการควบคุมและการรณรงค์อย่างจริงจัง อีกทั้งพระสงฆ์บางรูปอาจจะมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่ถูกมองเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กระทบต่อสุขภาพโดยตรง ซึ่ง ‘บุหรี่’ ถือเป็นภัยร้ายที่ทำลายสุขภาพของทุกคน โดยส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ โรคหืด ภูมิแพ้กำเริบ โรคปอดอักเสบ ปอดเสื่อม มะเร็งปอด เป็นต้น
จะดีกว่าไหม? หากเราทำให้ ‘วัด’ กลายเป็นพื้นที่ ๆ ที่ปลอดภัยทางด้านสุขภาวะทั้งทางกายและใจ ด้วยเหตุนี้เองสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จับมือเครือข่ายพระพุทธศาสนา ขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะในสังคมไทยผ่าน 3 โครงการสำคัญ เพื่อเดินหน้ายกระดับวัด โรงเรียน และงานบุญ ให้เป็นพื้นที่ “ปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” อย่างเป็นรูปธรรม
โดยพบว่าปัจจุบันมีวัดปลอดบุหรี่แล้วกว่า 3,300 แห่ง และ โรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบ 80 แห่ง ที่มุ่งสร้างสามเณรให้เติบโตห่างไกลบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการบูรณาการทั้งการเรียนรู้ และการดูแลพฤติกรรมเสี่ยง ในขณะเดียวกันยังมี โครงการ “งานบวชสร้างสุข” ที่มาช่วยพลิกโฉมงานบุญไทยให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ปลอดอบายมุข เพื่อลดเหตุทะเลาะวิวาท รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยหลักแสนบาทต่องานเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของทุกพลัง ที่ลุกขึ้นมาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คำว่า “สุขภาวะดี” เกิดขึ้นได้จริง
สสส. ผนึกพลังพุทธศาสนา ขับเคลื่อน 3 โครงการ
ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ได้กล่าวถึงการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานสานพลังพระพุทธศาสนาสร้างเสริมสุขภาพสังคมไทย ณ ศูนย์การเรียนโพธิยาลัยอ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ในครั้งนี้ว่า สสส. ได้ผนึกพลังพระพุทธศาสนา ขับเคลื่อนสุขภาวะสังคมไทย โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของพระสงฆ์และเครือข่ายศาสนาให้เป็นกลไกเชิงนโยบายระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนปกป้องสุขภาวะของประชาชน
“พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย มีบทบาทในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสุขภาวะทั้งด้านกาย ใจ ปัญญา และสังคม โดยหลักธรรมเน้นให้มีสติ ไม่ประมาท และลดละเลิกอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ และสารเสพติด”
“ปัจจุบันประเทศไทยมีวัดกว่า 40,000แห่งและพระสงฆ์กว่า 200,000รูปซึ่งถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญสถาบันสงฆ์ได้รับความศรัทธาและการสนับสนุนจากสาธารณชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและจากการที่สสส.ได้มุ่งพัฒนาศักยภาพของพระสงฆ์และเครือข่ายศาสนาให้เป็นกลไกเชิงนโยบายระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนปกป้องสุขภาวะประชาชนจึงได้นำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืนผ่าน 3โครงการ”
- โครงการวัดปลอดบุหรี่ สุขภาพดีด้วยวิถีธรรม
โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ ส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และปลอดควันบุหรี่ อย่างแท้จริง รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดเรื่องสุขภาพและการลดละเลิกบุหรี่ในหมู่พระภิกษุ สามเณร รวมถึงญาติโยมที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในวัด โดยพัฒนาและขยายต้นแบบ “วัดปลอดบุหรี่” ทั่วประเทศ เพื่อสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน
กิจกรรมเด่นในโครงการ ได้แก่ การติดป้ายสื่อรณรงค์ และข้อห้ามสูบบุหรี่ในเขตวัดอย่างชัดเจน, การอบรมพระภิกษุและสามเณร ให้มีความรู้เรื่องโทษของบุหรี่ และสามารถเป็น “แกนนำสุขภาพ” เพื่อแนะนำญาติโยมในการเลิกบุหรี่, การบูรณาการหลักสูตรสุขศึกษา ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เช่น โครงการ “โพธิยาลัย” ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ร่วมของวัดและเครือข่ายพระสงฆ์ ในการขับเคลื่อนวัด โรงเรียน และงานบุญให้ปลอดจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
โดยเกิดผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้
- ส่งเสริมให้เกิดวัดปลอดบุหรี่ 3,300 แห่งใน 24 จังหวัด
- มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบปลอดบุหรี่ 80 แห่งทั่วประเทศ
- มีพระสงฆ์เลิกสูบบุหรี่ 147 รูป
- มีผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ลงนามในใบอธิษฐานจิตในโอกาสสำคัญ เช่น ช่วงเข้าพรรษา วันพระ วันเกิด รวม 9,227 คน (เฉลี่ยให้การชวนเลิกบุหรี่ 3 รูป /คน ต่อ 1 วัด) โดยนำรายชื่อส่งให้สายด่วนเลิกบุหรี่ติดตามผลต่อ
- พัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก 3,100รูปให้ทำงานเชิงป้องกันได้เช่นสำรวจพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ตรวจสุขภาพเบื้องต้นดูแลพระสงฆ์อาพาธติดเตียงและกระตุ้นชุมชนให้มีมาตรการร่วมกันเรื่องงานบุญประเพณีปลอดเหล้าบุหรี่เป็นต้น
2.โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “งานบวชสร้างสุข”
สู่สุขภาวะชุมชนและสังคมด้วยหลักพุทธธรรม เนื่องจากงานบวชในปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5 หมื่น - 1 ล้านบาท สสส. จึงส่งเสริมงานบวชสร้างสุขที่มุ่งเน้นความเรียบง่าย ประหยัด ตามหลักพระธรรมวินัย
โดยเกิดผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้
- ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 1 แสนบาท/งาน ตั้งแต่ ม.ค. 2567 - ก.พ. 2568 มีการจัดงานบวชสร้างสุข 3,085 นาค ประหยัดค่าใช้จ่ายรวมกว่า 308,500,000 บาท
- ช่วยลดความรุนแรง เหตุทะเลาะวิวาทในงานบวช จากเสียชีวิตเฉลี่ย 9 ราย/ปี เหลือ 4.5 ราย/ปี
3.โครงการสร้างเสริมสถาบันพระพุทธศาสนาสุขภาวะเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยงใน 10 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน ลำปาง หนองคาย ศรีสะเกษ อุบลราชธานี พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี สุราษฎ์ธานี และกระบี่
เป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ผ่านเครือข่ายพระสอนศีลธรรมและเครือข่ายบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) เป็นกลไกหลักเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาวะในชุมชน
โดยมีการจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์ “ครูพระสุขภาวะ”เพื่อวางแผนกิจกรรมลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สอดคล้องกับแนวทางพระพุทธศาสนาถ่ายทอดความรู้เรื่องโทษของบุหรี่และยาเสพติดในโรงเรียนป้องกันการเกิดนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนและสามเณรซึ่งจะมีคู่มือให้พระสอนศีลธรรมได้อ่านและทำความเข้าใจนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนนอกจากนี้ยังมีการ์ดเกมที่เป็นเครื่องมืออีกหนึ่งทางเลือกให้พระสอนศีลธรรมเพื่อใช้สร้างความร่วมมือของกลุ่มสามเณร
โดยตัวอย่างผลลัพธ์ มีดังนี้
- จังหวัดลำพูน ได้นำฐานข้อมูลนี้ไปประกอบกิจกรรม โดยการใช้กลุ่มบวรเข้ามาผนวกรวม มีผลสำรวจคือ มีพระสงฆ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 รูป สามารถเลิกบุหรี่ได้ถึง 6 รูป ลดพฤติกรรมการสูบได้ถึง 12 รูป และในระดับชุมชน กลุ่มเยาวชนสามารถเลิกบุหรี่ได้ 3 คน ลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้ 15 คน
- จังหวัดลำปางจับมือร้านค้าสร้างพื้นที่ปลอดเหล้าบุหรี่ต่อต้านการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายในชุมชนจนสามารถผลักดันให้ร้านค้าที่เคยจำหน่ายแอลกอฮอล์เถื่อนปิดกิจการลงได้ 2แห่งเป็นต้น
สร้างพระคิลานุปัฏฐาก พระแกนนำขับเคลื่อนสุขภาวะ
สู่เป้าหมาย ‘พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข’
พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ,ผศ.ดร.ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมวิชาการ มจร. เชียงใหม่ และเลขาธิการมูลนิธิโพธิยาลัย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการวัดปลอดบุหรี่ สุขภาพดีด้วยวิถีธรรม สนับสนุนโดย สสส. ได้กล่าวถึงโครงการวัดปลอดบุหรี่ ว่า ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ที่ให้โอกาสพระสงฆ์ได้มาทำงานขับเคลื่อน ผ่านกลไก นโยบาย แนวคิดที่สำคัญ นำมาสู่สังคม ‘พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข’
“โครงการวัดปลอดบุหรี่เราได้สร้างพระนักพัฒนาหรือพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ที่ลุกขึ้นมาตื่นตัวเรื่องสุขภาพเมื่อสังคมเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยนแปลงปัญหาซับซ้อนที่มากขึ้นกลุ่มพระสงฆ์ก็มีการปรับตัวมากขึ้นมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นตอนแรกเรามองว่าบุหรี่ไม่สำคัญเท่าไหร่แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่สำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปแล้วฉะนั้นพระท่านลุกขึ้นมาท่านอาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเองด้วยซ้ำท่านรับผลกระทบต่อการสูบบุหรี่ในวัดแม้กระทั่งตัวท่านสูบเองท่านเปลี่ยนความคิดทัศนคติดีขึ้นดูแลสุขภาพเป็นแบบอย่างเป็นต้นบุญต้นแบบเกิดพระรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงโครงการนี้จึงสามารถนำไปสู่ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในอนาคตได้”
“เรามีกลไกของพระคิลานุปัฏฐาก ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะให้ความรู้และขับเคลื่อน โดยผ่านกระบวนการชวนให้คนลดละเลิกบุหรี่ ทำให้เป็นสังคมที่ปลอดบุหรี่ ซึ่งผลลัพธ์ที่มาผ่านมาตัวชี้วัดคือ มีวัดปลอดบุหรี่ที่เราขับเคลื่อนทั้งหมดมากกว่า 3,000 วัด มีพระคิลานุปัฏฐากที่เราพัฒนากว่า 10,000 รูป ที่ร่วมกับทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเราได้พัฒนาพระกว่า 10,000 รูป เป็นพระแกนนำด้านการขับเคลื่อนเรื่องวัดปลอดบุหรี่จำนวนกว่า 500 รูป โดยกระบวนการลดละเลิก เราจะชวนคนมาอธิษฐานจิต โดยจะมีใบอธิษฐานจิตให้คนที่พร้อมเลิกบุหรี่ ได้ทำกิจกรรมภายในวัด เฉลี่ยแล้ว 1 วัด/3 รูป คน ซึ่ง 3,000 คูณแล้วก็เป็นจำนวนมหาศาล อย่างน้อยเราก็มีวัดที่ขับเคลื่อนถูกต้องตามพรบ.กฎหมายที่มีการคุ้มครอง วัดก็จะเกิดความปลอดภัย ผู้คนที่เข้ามาทำบุญก็จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี นำไปสู่สังคมที่สงบสุข และสุขภาพที่ดี ที่เราเรียกว่า พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข”
ด้านนายธวัชชัย จันจุฬา ผู้ประสานงานโครงการวัดปลอดบุหรี่ฯ ระบุว่า โครงการวัดปลอดบุหรี่ เป็นหนึ่งโครงการที่พยายามใช้พระสงฆ์สร้างการเปลี่ยนแปลงสุขภาพพระสงฆ์และชาวบ้านในชุมชน โดยมีพื้นที่ดำเนินงานของโครงการสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ดำเนินงานที่เป็นระดับจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนผ่านคณะสงฆ์จังหวัด จำนวน 24 จังหวัด กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ และพื้นที่โรงเรียนปริยัติธรรมจำนวน 80 แห่ง ใน 14 เขต การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ได้แก่
1.เพื่อพัฒนาให้พื้นที่วัด ศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมสุขภาวะชุมชนโดยเฉพาะการเป็นพื้นที่ปลอดปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ตลอดถึงเป็นกลไกในการช่วยให้ชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ และสุรา
2.เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมปลอดบุหรี่และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนสามเณรปลอดปัจจัยเสี่ยงด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
3.เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐเครือข่ายประชาชนและเครือข่ายพระสงฆ์ในการจัดการปัญหาการสูบบุหรี่และการดื่มสุราด้วยฐานชุมชน
“ปัจจัยสำคัญ คือ เราอาศัยกฎหมาย นโยบายคณะสงฆ์ ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่กระทรวงสาธารณสุขสำรวจว่า มีพระป่วยเบาหวาน ความดัน สำรวจกว่า 2 แสนรูป มีเจ็บป่วยถึง 3 หมื่นรูป ซึ่งเราใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้มานั่งคุยกับพระอาจารย์ จึงร่วมกันลงมือร่วมคิดร่วมทำ โดยเราให้พระอาจารย์เป็นเจ้าของประเด็น เป็นเจ้าของปัญหาร่วม ให้ท่านมองเห็นถึงปัญหาแล้วอยากลุกขึ้นมาจัดการร่วมกัน มีคณะกรรมการ มาทำ MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ แต่ว่ากระบวนการเหล่านี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละภาค ไม่ใช่ว่าตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใส่ได้ทุกวัด แต่ละภาคก็จะมีสไตล์ มีรูปแบบในการสื่อสารต่างกัน ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยกันว่าต่อไปเราจะทำหลักสูตรและพัฒนาศักยภาพพระให้เป็นเหมือนผู้ให้คำปรึกษาญาติโยมได้ อย่างการเลิกบุหรี่ก็ต้องมีเทคนิคการพูดคุย เช่น คนไทยเราเชื่อในเรื่องของฤกษ์งามยามดี เราก็อาจจะใช้โอกาสสำคัญ อย่างวันเกิด หรือวันสำคัญ กระตุ้นให้อยากเลิกบุหรี่”
นอกจากนี้ ผู้ประสานงานโครงการฯ ยังได้กล่าวถึงมุมมองเรื่องการขับเคลื่อนวัดปลอดบุหรี่ ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังเกี่ยวพันกับภาพลักษณ์ ความศรัทธา และความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในระยะยาวด้วย
“ตอนนี้ประเทศไทย พระสูงอายุมากขึ้น พระเหล่านี้กำลังเข้าสู่กระบวนการการเกิดโรคต่าง ๆ จริง ๆ ไม่ใช่แค่สูบบุหรี่ แต่การกินหวานมันเค็ม การขยับร่างกายน้อย ปัจจัยต่าง ๆ ก็รุมเร้าให้พระเจ็บป่วยมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่เรื่องบุหรี่ แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา และอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง 10-20 ปี ข้างหน้า วัดเรา พระเราจะเป็นอย่างไร”
“เมื่อวัดปลอดบุหรี่ก็ดีทั้งต่อวัดพระและประชาชนที่เข้ามาในวัดทำให้วัดสะอาดภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ก็ดีขึ้นอากาศภายในวัดก็ดีขึ้นการสูบบุหรี่ไม่เพียงทำร้ายตัวเองแต่ยังทำร้ายคนอื่นได้อีกเยอะมากซึ่งการสูบบุหรี่ถือเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของพระพุทธศาสนาได้แถมยังทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระได้อีกด้วยมันไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพถ้าพระสามารถลดหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเรื่องสุขภาพผมเชื่อว่าความศรัทธาของญาติโยมที่มีต่อพระก็จะดีขึ้น”นายธวัชชัยกล่าวเสริม
ศูนย์การเรียนโพธิยาลัย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
1 ใน 80 โรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบปลอดบุหรี่
“ศูนย์การเรียนรู้โพธิยาลัย” อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็น 1 ใน 80 โรงเรียนพระปริยัติธรรมต้นแบบปลอดบุหรี่ ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาสำหรับสามเณร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ หรือไร้สัญชาติ จึงต้องมีกระบวนการขัดเกลาทั้งด้านวินัยและสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมให้เติบโตเป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ
โดยการดำเนินงานยึดตาม 5 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่
- ตั้งคณะกรรมการและพัฒนาแกนนำครูดูแลปัญหาการสูบบุหรี่
- ปรับหลักสูตรสุขศึกษาให้บูรณาการเรื่องโทษของบุหรี่ โดยใช้การเรียนรู้เชิงประสบการณ์
- มีกระบวนการช่วยเหลือสามเณรที่ติดหรือเสี่ยงสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า
- มีนโยบายชัดเจนเรื่องโรงเรียนปลอดบุหรี่
- จัดสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสูบหรือเข้าถึงบุหรี่
“เมื่อ 2 ปี ที่แล้ว เราเริ่มต้นจากโรงเรียนปริยัติธรรมเขต 5 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการทำงานตอนแรกคิดว่าสามเณรกับเรื่องบุหรี่นั้น ไม่น่าจะมีสถานการณ์รุนแรง แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ ณ วันนี้ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างรุนแรง เด็กก่อนที่จะมาเป็นสามเณร วัยประถมก็เริ่มทดลองบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่เราทำคือนำร่องการพัฒนาครู แกนนำที่จะใช้การบูรณาการหลักสูตรสุขศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตร์ บูรณาการกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่เข้าไปสอนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามเณร พัฒนาแกนนำสามเณรเพื่อเป็นตัวอย่าง และเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนในการช่วยเพื่อนในโรงเรียน คิดว่าเป็นตัวอย่างที่น่าจะสร้างผลกระทบในเชิงบวก นั่นหมายความว่าต่อให้สามเณรอยู่ 3 ปี 6 ปี (หลักสูตรมัธยมต้น 3 ปี มัธยมปลาย 3 ปี ) รุ่นเก่าออกไป รุ่นใหม่เข้ามา เราเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่อย่างน้อย เราป้องกันนักสูบรุ่นใหม่ ตอนนี้ขยายไป 80 พื้นที่ 14 เขต โรงเรียนปริยัติธรรมทั่วประเทศ จาก 400 แห่ง นำร่องแล้ว 80 แห่ง”
“จากผลสรุปต้นปี พบว่าเห็นผลชัดเจน เป็นผลกระทบเชิงบวกที่น่าพอใจ อย่างแรกคือ หลายโรงเรียนไม่มีข้อมูลด้วยซ้ำว่าสามเณรได้ไปข้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้ามีหลากหลายมาก บางทีผู้ปกครอง ครู เจ้าอาวาสเห็นเป็นปากกา ดินสอ ยางลบ เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนปกติ อีกทั้งรูปแบบการใช้ไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีสี เป็นโอกาสให้เด็กเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างน้อยผู้บริหาร ครู โรงเรียน ผู้ปกครอง จะได้เห็นสถานการณ์ข้อเท็จจริง”
อย่างไรก็ตามพระมหาอินสอน คุณวุฑโฒ ยังได้กล่าวอีกว่า พบปัญหาว่าขณะที่โรงเรียนมีระบบดูแล แต่เมื่อสามเณรกลับวัด วัดยังไม่พร้อมรองรับ การต่อยอดปีนี้จึงเน้นให้วัดและโรงเรียนร่วมมือกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยขยายความร่วมมือไปยังวัดและชุมชน จับตาพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสั่งของแปลก ๆ ของสามเณร หรือการแสดงพฤติกรรมที่เข้าข่ายทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า พร้อมให้แกนนำที่เคยมีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยสอดส่องดูแล
“ถ้าเราอยากขยับให้ได้ผลมากขึ้นเราต้องจับคู่ทำทั้งที่โรงเรียนที่เป็นปลายทางและวัดที่เป็นต้นทางให้รองรับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยการเฝ้าระวังไม่ให้สามเณรที่อาจจะแค่ทดลองยังไม่ติดเลียนแบบเพื่อนหรือใดๆก็ตามให้มีความปลอดภัยซึ่งการเฝ้าระวังจะทำให้การไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดน้อยลงหมายความว่าพื้นที่ไหนที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีสามเณรเรียนอยู่อย่างเช่นโรงเรียนก.สามาเณรอยู่วัดไหนบ้างถ้าวัดนั้นมีจำนวนสามเณรค่อนข้างเยอะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือคาดว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงเราอาจจะขยับไปถึงวัดเพื่อเตรียมทั้งวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรมรวมไปจนถึงชุมชนที่คอยเฝ้าระวังเราต้องคอยเฝ้าระวังเช่นเวลาสามเณรสั่งของมาอาจจะมีการสุ่มตรวจในเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มที่มีพฤติกรรมแปลกๆเข้าห้องน้ำนานๆจากตัวอย่างหลายโรงเรียนที่เคยทำคือเราจะให้หัวโจกที่เคยมีประสบการณ์ในการสูบมาก่อนเขาจะรู้ว่าพื้นที่ไหนพฤติกรรมแบบไหนเวลาไหนที่จะไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้เขาจะมีเซ้นส์พิเศษซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะคอยจับตาและมีแกนนำสามเณรคอยสอดส่องครูบาอาจารย์ก็เป็นกลไกสำคัญที่จะขออนุญาตในการตรวจตราสิ่งของสามเณร”
เมื่อถามถึงหลักสูตรสุขศึกษาบูรณาการ พระมหาอินสอน คุณวุฑโฒ ได้กล่าวว่า ได้มีการพัฒนาร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เป็นตัวหลัก โดยจะมีเรื่อง สุรา บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในเนื้อหาของหลักสูตร
“สิ่งที่เราทดลองใน 3 จังหวัดภาคเหนือ และพัฒนาเป็นหลักสูตรบูรณาการ คือ การให้วิชาความรู้แบบอื่นทั่วไป ไม่ได้ผล แต่สิ่งที่เราบูรณาการคือต้องเป็นกิจกรรมเชิงทักษะที่สร้างความตระหนักและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสามเณรเป็นหลัก นำคุณครูที่ร่วมโครงการมาอบรม พัฒนาแกนนำครู ออกแบบกิจกรรมเพื่อที่จะได้สอดคล้องกับบริบท หรืออาจจะเชิญวิทยากรข้างนอกมาจัดกิจกรรมร่วม เพื่อป้องกัน-ช่วยเหลือสามเณรที่มีแนวโน้มสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า”
วัดเจ็ดยอด หนึ่งในต้นแบบ วัดปลอดบุหรี่
วัดเจ็ดยอด หรือเดิมมีชื่อว่า “วัดโพธารามมหาวิหาร” ตั้งอยู่ในตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาอย่างยิ่ง โดยชื่อ “วัดโพธารามมหาวิหาร” มีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญเมื่อพระสงฆ์จากลังกาทวีปนำต้นศรีมหาโพธิ์มาจากประเทศศรีลังกา และได้มาปลูกไว้ในบริเวณวัดแห่งนี้ ต้นโพธิ์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แทน “โพธิบัลลังก์” ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงทำให้วัดแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชน ทั้งนี้ยังมีข้อมูลว่า วัดเจ็ดยอดยังได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 25 วันที่ 8 มีนาคม 2478 ด้วย
และนอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ที่งดงามและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้วนั้นยังเป็นต้นแบบวัดปลอดบุหรี่อีกด้วยโดยพระอาชาบินขันติทะโรเลขานุการพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (พระอสว.)จังหวัดเชียงใหม่ได้เล่าถึงความเป็นมาที่ทำให้วัดเจ็ดยอดจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นต้นแบบ “วัดปลอดบุหรี่”ว่า
“วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นต้นแบบ “วัดปลอดบุหรี่” ตั้งแต่ปี 2565 ด้วยความมุ่งมั่นในการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางเจ้าอาวาสมีบทบาทสำคัญ โดยเจ้าอาวาสจะมีการเทศน์ให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในวันสำคัญทางศาสนา ส่วนภายในวัดก็จะมีการรณรงค์ติดป้ายเตือนตามจุดต่าง ๆ และหากพบเห็นก็จะมีการกล่าวตักเตือน”
“ก่อนหน้านี้เราเคยมีพระ-เณรที่สูบบุหรี่กันอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ด้วยการพูดคุย แนะนำ และยกตัวอย่างให้เห็นถึงผลเสีย ปัจจุบันลดลงเกือบทั้งหมด ตอนนี้ประชาชนที่มาวัดก็ให้ความร่วมมือดีมาก ปัญหาการสูบบุหรี่ลดลงไปถึง 99%”
นอกจากนี้พระอาชาบินยังได้กล่าวอีกว่าหน้าที่ของพระอสว.ไม่ได้หยุดอยู่แค่การห้ามสูบบุหรี่แต่ยังครอบคลุมถึงการให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพการสำรวจพระสงฆ์ที่เจ็บป่วยรวมถึงการดูแลพระสงฆ์อาพาธหรือติดเตียงโดยทุกปีจะมีการตรวจสุขภาพและมีระบบดูแลกันในวัดช่วยเหลือกันทั้งกายและใจเพราะสุขภาพที่ดีไม่ใช่แค่ร่างกายแข็งแรงแต่ต้องมีจิตใจที่สงบด้วย
“จุดเริ่มต้นของการเป็น พระ อสว. อาตมาเริ่มทำหน้าที่พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัดตั้งแต่ปี 2562โดยมีการฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติหลายหลักสูตร มีการอบรมต่าง ๆ เพื่อให้มีพื้นฐาน ปัจจุบันทำหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ ดูแลสุขภาพอนามัยตามหลักพระธรรมวินัยและให้คำแนะนำ ดูแลพระสงฆ์ภายในวัด และชุมชน”
“สุขภาพเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ทุกสิ่งจะดีได้ สุขภาพต้องดีก่อน อาตมาเชื่อว่าพระสามารถเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสุขภาวะของสังคมได้”พระอาชาบิน ขันติทะโร กล่าว
พระพุทธศาสนา ประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อน
‘วัด โรงเรียน งานบุญ’ ปลอดบุหรี่ สร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน
พระศรีสมโพธิ หัวหน้าโครงการสร้างเสริมสถาบันพระพุทธศาสนาสุขภาวะเพื่อการลดปัจจัยเสี่ยง ได้นำกล่าวประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อน "วัด โรงเรียน และงานบุญ" ปลอดบุหรี่ ว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม 9 ภาค เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน) เครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก เครือข่ายพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียนพระปริยัติปลอดบุหรี่ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ของบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย เศรษฐกิจ สังคม สร้างปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรงในครอบครัว จึงร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อดำเนินการ “สานพลังพุทธ เพื่อลดละเลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ดังนี้
“หนึ่ง สนองตอบต่อมติมหาเถรสมาคมเรื่อง “แนวทางการปฏิบัติการจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” โดยจัดเขตปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวัด มหาวิทยาลัยสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับประชาชนที่มาใช้พื้นที่วัด ไม่ขาย ไม่สูบ ไม่ดื่ม ในพื้นที่ รวมถึงจัดกระบวนการเรียนรู้ให้พระภิกษุสามเณรเป็นแบบอย่างไม่สูบบุหรี่ รณรงค์เผยแพร่ความรู้พิษภัยของการสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อสร้างค่านิยมไม่สูบไม่ดื่มในประชาชน
“สอง สร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่รูปธรรม “ปลอดบุหรี่” และ “ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในวัดมหาวิทยาลัยสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม บูรณาการหลักพุทธธรรมในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม “ปลอดบุหรี่” และ “ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพื่อสร้างค่านิยมไม่สูบและไม่ดื่มในประชาชนอย่างยั่งยืน”
“และ สาม ร่วมกับภาคีเครือข่ายป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประกาศเจตจำนงที่สนับสนุนให้รัฐบาลคงนโยบายมาตรการ” พระศรีสมโพธิ กล่าว
“ผมมองว่าบุหรี่เป็นเหตุใหญ่ของโรคภัย คนที่สูบบุหรี่กับคนไม่สูบบุหรี่ก็มีอัตราป่วยเป็นมะเร็งปอดต่างกัน เป็น Stoke โรคเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองแตกต่างกัน เราทำสำเร็จแล้ว ทุกวันนี้ไม่มีใครถวายบุหรี่ให้พระอีกแล้ว เพราะบุหรี่เทียบเท่ากับการถวายยาพิษ”
“เราหวังว่าบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) จะเป็นข้อต่อโซ่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกัน วันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากการประกาศเจตนารมณ์ของพระสงฆ์ ในการสร้าง “วัดปลอดบุหรี่” เพื่อเป็นแบบอย่างให้ชุมชน เพื่อขยายผลสู่สังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการสูบบุหรี่ในพื้นที่วัดแล้ว ยังส่งผลให้กิจกรรมสำคัญ เช่น “งานบวช” มีความสงบ ลดความเสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาท และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม”
“บทบาทของ สสส. คือ สนับสนุนให้พระมีกำลัง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคม หากพระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนก็จะเป็นสุข โครงการทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมในระยะยาว โดยอาศัยศาสนาเป็นกลไกขับเคลื่อน ผ่านการประเมินผล การพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม ต้องใช้ระยะเวลา ใช้ความอดทน เรียนรู้ว่าจะทำยังไงให้เกิดความล้มเหลวน้อยลง และเกิดความสำเร็จมากขึ้น นี่คือพื้นฐานของการพัฒนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดูแลสุขภาวะของคนไทยทุกมิติ” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย