สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการบริโภคบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยมีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศเข้าร่วม พร้อมนำเสนอพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง อปท.ปลอดบุหรี่
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 กล่าวว่า วันนี้เราห่วงลูกหลานของเรา และหากยังปล่อยให้สถานการณ์ บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ดำเนินต่อไปโดยไม่มีการควบคุมที่จริงจัง เด็กรุ่นใหม่จะตกอยู่ในวงจรของสารเสพติดมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2567 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยมากถึง 9.7 ล้านคน ในจำนวนนี้มีสัดส่วนเยาวชนอายุ 12–15 ปี ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงเกือบ 20 % โดยแนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ภัยสุขภาพ แต่เป็น‘จุดเริ่มต้น’ ของการติดสารเสพติดชนิดอื่น เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเข้มข้นมาก ติดง่าย ติดเร็ว ทำให้สมองของเด็กเสียสมดุล และมีโอกาสสูงที่จะหันไปใช้สารเสพติดอื่นในอนาคต” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือ บุหรี่ไฟฟ้ามักมาในรูปแบบ ไม่มีควัน มีกลิ่นหอม ดูไม่อันตราย จึงเข้าถึงง่าย และหลอกลวงสายตาผู้ปกครองได้อย่างแนบเนียน ในรูปแบบตุ๊กตา ปากกา สายคล้องคอ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายปราบปราม แต่ก็ยังมีร้านค้าหลบเลี่ยงกฎหมายและกลับมาเปิดใหม่ได้เสมอโดยเฉพาะผ่านออนไลน์ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับเป็นกลไกความหวังในการควบคุมปัญหา เพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชน และรู้จักบริบทของพื้นที่เป็นอย่างดี จึงมีศักยภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ได้จริง
“หากไม่มีการดำเนินงานร่วมกันจากท้องถิ่น ครอบครัว โรงเรียน และภาครัฐ สังคมไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาเด็กติดสารเสพติดที่ควบคุมไม่ได้ พร้อมฝากความหวังไว้กับองค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้ร่วมมือกันอย่างจริงจังในการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า เพื่ออนาคตของเยาวชนและประเทศชาติ” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ และกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 กล่าวว่า ในยุคที่บุหรี่ไฟฟ้ากำลังแพร่หลายและกลายเป็นภัยคุกคามสุขภาพของเยาวชนและประชาชนทั่วไป การควบคุมและป้องกันจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนอย่าง อปท. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมยาสูบอย่างยั่งยืน โดยอาศัยกรอบแนวคิด Ottawa Charter ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การสร้างนโยบายสาธารณะที่เข้มแข็ง การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การพัฒนาทักษะของบุคคลและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การสร้างความช่วยเหลือทางสังคม และการปรับปรุงบริการสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาปรับใช้ในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่น
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวว่า อปท.ในหลายพื้นที่ได้เริ่มนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติจริง เช่น การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษของบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเยาวชนและประชาชน การจัดตั้งกลไกเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและปลอดบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ศูนย์กีฬาชุมชน
“สิ่งสำคัญคือ การทำงานของ อปท. จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งในชุมชน หน่วยงานสาธารณสุข และภาคประชาสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ อีกทั้งยังช่วยสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ ที่จะช่วยปกป้องสุขภาพของคนในชุมชนอย่างแท้จริง และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรท้องถิ่นและการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในชุมชนท้องถิ่น ด้วยความพยายามและความร่วมมือจากทุกฝ่าย การขับเคลื่อน อปท.ปลอดบุหรี่ จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและปลอดภัยต่อสุขภาพในอนาคต”ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว
นางนัฏฐิยา โยมไธสง ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม กล่าว ถ่ายทอดบทเรียน“มหาสารคาม เมืองปลอดบุหรี่” ว่าเทศบาลได้ทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 20 ปี และมีความท้าทายเรื่องของจำนวนประชากรแฝง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีสถานศึกษาจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่เยาวชนจะเข้าถึงบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าได้ โดยเน้นย้ำว่า “งานบุหรี่ไม่สามารถทำสำเร็จในวันเดียว” ต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความสม่ำเสมอ และพลังของเครือข่ายชุมชน ซึ่งเทศบาลเมืองมหาสารคามให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน โดยมีฐานข้อมูลประชากร ข้อมูลผู้สูบบุหรี่ในแต่ละครัวเรือน สถานประกอบการ และสถานศึกษาอย่างชัดเจน เช่น มีฐานข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในประชาชนจำนวน 1,391 คน พบว่า มีผู้สูบบุหรี่ประจำทุกวัน 7% สูบเป็นบางวัน 4% และสูบเลย 89% การสำรวจร้านค้าในพื้นที่จำนวน 184 ร้าน พบว่า มีร้านที่ปฏิบัติตามนโยบายชุมชนครบ 4 ข้อมากถึง 144 ร้าน ได้แก่ ไม่แสดงยี่ห้อ/ราคา ไม่วางโชว์ซองบุหรี่ ไม่วางโชว์ยาเส้น ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ก็ยังพบร้านที่ไม่ปฏิบัติตามอีก 40 แห่ง รวมถึงการสำรวจพื้นที่สาธารณะ 252 แห่ง พบว่ายังมีที่ไม่ดำเนินการจัดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อีก 73 แห่ง กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินงานเชิงรุก ซึ่งได้วางกลไกภายในองค์กรให้เจ้าหน้าที่ไปทำงานร่วมกับชุมชน พร้อมผลักดันให้แกนนำชุมชน เช่น อสม. กรรมการชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็น“แกนนำเลิกบุหรี่”
“อสม. ของเราจะได้รับการอบรมเพื่อสามารถลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้า ปักหมุดสถานที่จำหน่ายในระบบ TCNAP-RECAP และเป็นตัวกลางในการรณรงค์เลิกบุหรี่ในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Smart City ที่เทศบาลกำลังขับเคลื่อน และสิ่งที่อยากฝากถึงเพื่อน อปท. คือ จงเริ่มต้นจากข้อมูล และมองว่างานบุหรี่ไม่ใช่ภาระเพิ่ม แต่คือภารกิจสุขภาพที่อยู่ในงานประจำของเราอยู่แล้ว การมีส่วนร่วมของชุมชนคือหัวใจ และอย่าลืมว่าไม่มีใครทำงานนี้ได้คนเดียว“ นางนัฏฐิยา กล่าว