ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผย กทม. ยกระดับสู้ฝุ่น PM2.5 ด้วยประกาศมาตรการ LEZ ห้ามรถบรรทุกนอกบัญชี Green List เข้าพื้นที่ 13 เขต ในวงแหวนรัชดาภิเษก 23 - 24 ม.ค. นี้
วันนี้ (21 ม.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงการยกระดับการรับมือฝุ่น PM2.5 ด้วยมาตรการ Low Emission Zone (LEZ) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบออนไลน์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการพยากรณ์พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครตลอดสัปดาห์นี้มีอัตราการระบายอากาศ (VR) ต่ำ ซึ่งเราได้มีการประกาศ WORK FROM HOME แล้ว 2 วัน ในวันจันทร์ที่ 20 และอังคารที่ 21 ม.ค. 68 แต่จากนี้ในวันพุธ พฤหัสบดี และศุกร์ (22 - 24 ม.ค. 68) สถานการณ์ก็จะยังคงหนักต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากมวลอากาศเย็นที่ยังคงปกคลุมพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้อากาศนิ่งและจมตัว และเกิดสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น ประกอบกับสภาพการจราจรที่อาจจะมีรถติดเนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า และมีการเผาในพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ซึ่งจังหวัดนครนายกมีการเผาสูงขึ้นค่อนข้างมาก คือประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นจะสูงขึ้นในวันที่ 22 - 24 ม.ค. 68 และจะบรรเทาลงในช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์ (25 - 26 ม.ค. 68)
ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานครจึงจะออกมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) โดยการออกเป็นประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เมื่อ “เกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัย” ขึ้นในพื้นที่ใดและการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใด ๆ ในพื้นที่นั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งเป็นการห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อ (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 - 6) ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) เข้าในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกในช่วงวิกฤตฝุ่น โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 23 ม.ค. 68 เวลา 00.01 น. จนถึงวันศุกร์ที่ 24 ม.ค. 68 เวลา 23.59 น. ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนนำรถเข้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้ประกอบการรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 และ 6) ที่ต้องวิ่งในพื้นที่เขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่ได้อยู่ใน Green List กรุงเทพมหานครได้เปิดให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นมา เพียงนำรถเข้ากระบวนการบำรุงรักษา อาทิ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนไส้กรอง จากนั้นกรอกข้อมูลพร้อมแนบหลักฐานการเข้ากระบวนการบำรุงรักษาทาง Google Form “แบบฟอร์มบัญชีสีเขียว” ที่ https://bit.ly/47RK0Yy เพื่อขอยกเว้นมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปที่ได้รับการยกเว้น (EV, NGV, EURO 5 และ 6) ก็สามารถร่วมลงทะเบียนบัญชีสีเขียวเพื่อความสะดวกต่อการกวดขันและตรวจสอบ ตลอดจนเพื่อความสะดวกในการเข้าพื้นที่ Low Emission Zone ได้เช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2203 2951
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ในการกวดขัน เราจะใช้กล้อง CCTV จำนวน 259 กล้องที่อยู่รอบวงแหวนฯ ในการตรวจจับป้ายทะเบียนรถ และใช้ AI ในการอ่านทะเบียนเพื่อไป match กับทะเบียนรถใน Green List ซึ่งหากรถที่ไม่ได้อยู่ใน Green List เข้ามาในช่วงที่มีการประกาศห้าม เราก็จะส่งหลักฐานไปปรับ หรือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเราสืบได้ว่ารถคันนี้ไปให้บริการที่ไซต์งานไหน ก็จะตามไปที่ไซต์งานนั้นเพื่อตักเตือนว่ากล่าว และอนาคตอาจจะให้หยุดการก่อสร้าง
สำหรับหลักเกณฑ์การออกประกาศฯ เป็นการพิจารณาจากข้อมูลบ่งชี้ คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง (ค่า PM2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.) 5 เขต หรือจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน โดยค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 5 เขต หรือ ระดับสีส้ม (ค่า PM2.5 ตั้งแต่ 37.6 - 75.0 มคก./ลบ.ม.) มากกว่า 15 เขต ประกอบกับอัตราการระบายอากาศ (VR) ต่ำกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที (m2/s)
ซึ่งจากการคาดการณ์ฝุ่นล่วงหน้าระหว่างวันที่ 22 - 24 ม.ค. 68 พบว่า วันที่ 22 ม.ค. ค่าฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดงมากกว่า 10 เขต ส่วนในวันที่ 23 - 24 ม.ค. ค่าฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดงทั้ง 50 เขต โดยอัตราการระบายอากาศวันที่ 22 ม.ค. มีคาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,750 m2/s วันที่ 23 ม.ค. มีคาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,125 m2/s และวันที่ 24 ม.ค. มีคาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 2,125 m2/s
ในส่วนของพื้นที่บังคับใช้มาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ได้แก่ ด้านในแนวถนน มีจำนวน 9 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน และเขตบางรัก และแนวถนนผ่าน 13 เขต (31 แขวง) ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง) เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล) เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ) เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก) เขตราชเทวี (มักกะสัน) เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ) เขตคลองเตย (คลองเตย) เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง) เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่) เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู) เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ) เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ / บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช) และเขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ / บางยี่ขัน)
“มาตรการ Green List เราไม่ได้ห้ามรถทุกคันเพราะอาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่เป็นมาตรการจูงใจให้คนที่ทำดี คนที่เห็นแก่ส่วนรวมในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/เปลี่ยนไส้กรองสามารถเข้ามาได้ ปัจจุบันเรามีรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปขึ้นทะเบียน Green List แล้วประมาณ 31,041 คัน ส่วนรถที่ยังไม่ได้ลง ยังเหลือเวลาพรุ่งนี้ (22 ม.ค. 68) อีก 1 วันในการนำรถไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง และกรอกข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ
ที่ปรึกษาฯ พรพรหม กล่าวเสริมว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการที่เราได้มีการหารือและสื่อสารกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะออกมาตรการมา ซึ่งในเรื่องของ Green List ทางผู้ประกอบการและสมาพันธ์ต่าง ๆ ก็ให้ความร่วมมือดี และนำรถภายในการดูแลเข้ามาขึ้นทะเบียน Green List
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า อย่างที่เคยบอกว่าฝุ่นไม่ได้เกิดจากธรรมชาติแต่เกิดจากคนทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผาชีวมวล เผาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือจากจังหวัดใกล้เคียงในการช่วยควบคุม ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเราสั่งห้ามเผาเด็ดขาดแล้ว ซึ่งหากตรวจพบจุดเผาเราจะเข้าไปดำเนินการทันที หรือการดูแลรักษารถยนต์ ที่หากเราไม่ร่วมมือกันก็ยากที่ฝุ่นจะลดลงได้
ในส่วนของการประกาศขอความร่วมมือ WORK FROM HOME เราได้มีการประกาศขยายระยะเวลา WFH ต่อเนื่องจากวันจันทร์และอังคาร (20 - 21 ม.ค. 68) โดยขอให้ WFH ในวันพุธถึงวันศุกร์นี้ (22 - 24 ม.ค. 68) ซึ่งหากใครสะดวกร่วม WFH ก็ขอให้ WFH ใครที่ไม่สะดวกก็ขอให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและหันมาใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ส่วนผู้ที่จำเป็นจะต้องออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 ทุกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ สำหรับหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้มีการให้ WFH แล้วเช่นกัน โดยใช้แนวทางการปฏิบัติราชการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) กำหนดไว้ เช่น การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้ง โดยการเหลื่อมเวลาทำงาน, การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้ง โดยการนับชั่วโมงทำงาน, การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ใช้กับงานวิชาการที่ไม่ต้องติดต่อกับผู้รับบริการหรือบุคคลภายนอกมากนัก และสามารถส่งงานผ่านระบบออนไลน์ได้ เป็นต้น ส่วนการปิดโรงเรียนให้เป็นดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนในการประกาศปิด อย่างไรก็ตาม การขอความร่วมมือหน่วยอื่นที่นอกเหนือจากสังกัดของกรุงเทพมหานคร คงให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแต่ละหน่วยงานในการประกาศและดำเนินการ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า กทม. ไม่เคยหยุด เราพยายามทำทุกวิถีทาง อย่างฝนหลวงเราก็ได้มีการประสานความร่วมมือกับกรมฝนหลวง มีการรับมอบและส่งต่อน้ำแข็งแห้ง 300 ตัน ด้านการพ่นละอองน้ำ เราได้ดำเนินการทดสอบแล้วปรากฏว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ขณะเดียวกันรถฉีดน้ำของเราก็ยังคงออกตลอด เพื่อล้างฝุ่นที่อยู่บนถนน ต้นไม้ ใบไม้ เชื่อว่าหากร่วมมือกัน เช่น ลดการเผา ใช้รถยนต์ที่มีมาตรฐานดีขึ้น หรือคนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ก็จะทำให้สถานการณ์จะดีขึ้นแม้อาจต้องใช้เวลาในการปรับปรุง ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด อยากให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่ในการควบคุมมลพิษในสภาวะปกติได้ด้วย ส่วนเรื่องการเผา หากใครพบจุดเผาในกรุงเทพฯ ก็สามารถใช้ Traffy Fondue แจ้งเข้ามาได้
“เราไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยวที่ออกมาตรการต่าง ๆ มา เพราะเป็นภารกิจของเรา เราต้องทำให้เต็มที่ และต้องทำให้ดีขึ้นกว่านี้ ก็ได้พยายามคิดหาวิธีตลอดว่ามาตรการไหนจะช่วยให้เข้มข้นขึ้นได้ สุดท้ายนี้ อย่าหมดหวัง มันต้องดีขึ้น เรามาถูกทางแล้ว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวตอนท้าย