xs
xsm
sm
md
lg

โรคงูสวัดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงรู้วิธีป้องกัน และดูแลร่างกายตนเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิตติมา ฐิตวัฒน์
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล


โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส (Varicella-zoster Virus) เป็นเชื้อชนิดเดียวที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อคนไข้ติดเชื้อครั้งแรกก็จะเป็นอีสุกอีใสก่อน จากนั้น เชื้อดังกล่าวจะไปซ่อนอยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานลดลง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งที่ต้องกินยากดภูมิ หรือในผู้สูงอายุ เชื้อจะออกมาจากปมประสาทที่ซ่อนอยู่ และเกิดเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใส เรียงเป็นแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท

โดยส่วนใหญ่โรคงูสวัสจะพบในผู้สูงอายุ แต่ในระยะหลังพบในคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยก่อนมีคนเป็นโรคอีสุกอีใสกันเรื่อย ๆ ทำให้มีภูมิ แต่ในปัจจุบันคนเป็นโรคอีสุกอีใสน้อยลง เนื่องจากมีการเข้าถึงวัคซีนเพิ่มมากขึ้นจึงพบว่าคนเป็นโรคอีสุกอีใสลดลง ไม่มีการกระตุ้นภูมิตามธรรมชาติ ทำให้เป็นโรคงูสวัดได้ง่ายและเร็วขึ้น ปัจจุบันคนที่มีช่วงอายุ 30 – 40 ปีก็เป็นโรคงูสวัดแล้ว ในขณะที่เมื่อ 20 – 30 ปีก่อน โรคนี้มักจะเกิดกับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคก็จะต่ำลง

อาการของโรคงูสวัด มีด้วยกัน 2 อาการสำคัญ ได้แก่ 1. ผื่นตุ่มน้ำใส ลักษณะอาการ คือ เริ่มเป็นกลุ่มของตุ่มสีแดง ค่อยๆ เป็นตุ่มใส ลามตามแนวเส้นประสาทเส้นใดก็ได้ ซีกใดซีกหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เวลา 1 – 2 สัปดาห์ ตุ่มจะตกสะเก็ด แล้วจึงหาย 2. อาการปวดจากโรคงูสวัด ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท โดยส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งอาจมีอาการอยู่ 2 - 3 เดือน

แนวทางการรักษาโรคงูสวัด มีดังนี้ การรักษาในระยะที่มีผื่น แพทย์จะรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส Acyclovir (อะไซโคลเวียร์) เป็นยากลุ่มเดียวกับโรคอีสุกอีใส กินติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ และให้ใช้น้ำเกลือประคบตุ่มน้ำใสและใช้ยาทาจำพวกซิงค์ (Zinc Oxide) เพื่อให้แผลแห้งเร็วขึ้น อาจจะใช้ยาปฏิขีวนะ (Antibiotic) ทาผื่นที่เริ่มแห้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ในระยะแรกจะมีอาการปวดมาก จะให้กินยาแก้ปวดเส้นประสาท ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจต้องได้รับการรักษาอาการปวดเรื้อรังภายหลังจากที่ผื่นงูสวัดหายแล้ว ( Post-herpetic neuralgia: PNH) นอกจากกินยาลดอาการปวดเส้นประสาทแล้ว บางรายต้องได้รับการรักษาโดยใช้แพทย์ทางเลือกร่วมด้วย เช่น การฝังเข็ม โดยปกติคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคงูสวัดมักจะหายเอง สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัดแล้ว มักจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก จากผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า ประมาณ 7% ของคนที่เคยเป็นโรคงูสวัดมักจะกลับมาเป็นซ้ำได้

ในปัจจุบันมีวัคซีนมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในประเทศไทยอยู่ 2 ชนิด คือ

1. วัคซีนเชื้อตายชนิดซับยูนิต (Shingrix) สารกระตุ้นภูมิเป็นโปรตีนที่มีอยู่มากในเขื้องูสวัด มีประสิทธิผล ในการป้องกันการเกิดโรคงูสวัด สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 97.2 % และป้องกันอาการปวดเรื้อรังหลังจากผื่นงูสวัดหาย (PHN) 91.3 % ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2 – 6 เดือน และฉีดให้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้

2. วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Zostavax, Skyzoster) ใช้เชื้อสายพันธุ์เดียวกับเชื้อที่ใช้ในวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแต่ใส่ปริมาณเชื้อไปมากกว่า 14 เท่า มีประสิทธิผลในการป้องกันงูสวัดในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 51.3 % และป้องกันอาการปวดเรื้อรังหลังจากผื่นงูสวัดหาย (PHN) 66.5 % ฉีด 1 เข็ม แต่ไม่สามารถฉีดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือหญิงตั้งครรภ์ได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคงูสวัดสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และสถานพยาบาลเอกชน หรือเข้ารับการรักษา หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคงูสวัดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากรู้วิธีป้องกัน และดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด หรือวิตกกังวล ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้หมั่นทำตนเองให้แข็งแรง เพราะเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคงูสวัดเป็นเชื้ออีสุกอีใสที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา หากร่างกายอ่อนแอ ก็มีโอกาสกลับมาเป็นโรคดังกล่าวได้อีก


กำลังโหลดความคิดเห็น