“20 ปี บ้านกาญฯ” ต่อสู้เปลี่ยนอำนาจนิยมเป็นอำนาจร่วม สร้างโรงเรียนชีวิต เน้นเปลี่ยนแนวคิดเยาวชนก้าวพลาด คืนคนคุณภาพสู่สังคม ดึงบทเรียน ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงส่งเยาวชนติดหล่ม “แม่เยาวชนก้าวพลาด” กระบวนการเยียวยาทำให้พ่อแม่เห็นจุดบกพร่องของตัวเอง ชี้ขี้เหล้า ขี้บ่น ชวนทะเลาะ ทำครอบครัวพัง ลูกพลาด “อดีตเด็กบ้านกาญฯ” เผยเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เป็นเรื่องที่ดี แต่จะดียิ่งกว่าหากได้ช่วยเหลือคนอื่นด้วย
วันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิชนะใจ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา 20 ปี การเดินทางบ้านกาญจนาภิเษก “ฝ่าอำนาจนิยม สู่อำนาจร่วม”
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญฯ กล่าวว่า เมื่อยี่สิบปีก่อน คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนได้ระดมทุนกว่า 300 ล้านบาท สร้างบ้านกาญจนาภิเษกเพื่อถวายพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 50 ปี เพื่อให้เป็นสถานควบคุมเยาวชนหลังคำพิพากษา ซึ่งตนเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 โดยได้รับโจทย์ในการหาเครื่องมือลดการทำผิดซ้ำของเยาวชน โดยภารกิจในคุกเด็กช่วง 5 ปีแรก คือการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นตัวแทนของระบบอำนาจนิยมและออกแบบเครื่องมือเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) เยาวชน ซึ่งการเปลี่ยนวิธีคิดดีขึ้นก็จะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน ชีวิตก็เปลี่ยน ทั้งนี้ 20 ปี ของการเดินทางฝ่าอำนาจนิยมสู่อำนาจร่วม นำไปสู่กิจกรรมใหม่ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่ทุกคนมีสิทธิ์ มีเสียง มีการตัดสินใจร่วมกัน เปลี่ยนคุกเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่เรียนรู้วิชาชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดให้เยาวชนสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยการพูดคุย การเจรจา ให้คำปรึกษาเยาวชนที่ผ่านคดีอุกฉกรรจ์ที่มีประสิทธิภาพ
“ที่สำคัญวิชาชีวิตทำให้เยาวชนเห็นห่วงโซ่ความเสียหายต่อเหยื่อ ต่อตนเอง ทำให้เยาวชนรู้สึกละอายใจ รู้สึกผิด อยากขอโทษ ขอขมาและอยากออกจากความผิดพลาดนั้น การขัดเกลา เจียระไนเยาวชนที่ก่อคดี จนติดคุกอย่างประณีต ไม่ใช้วิธีการตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำให้เยาวชนที่เคยไร้ตัวตน ตระหนักในคุณค่าตัวเอง และง่ายในการเข้าถึงคุณค่าของผู้อื่น ซึ่งวันนี้ เยาวชนกว่าพันคนที่ก่อคดีและถูกควบคุมตัวในบ้านกาญฯ เราพบว่าทุกคนต่างเคยเป็นเหยื่อที่มองไม่เห็นมาก่อน แต่แนวคิดและกระบวนการที่เชื่อว่าบาดเจ็บที่ไหน รักษาที่นั่นให้ดีที่สุด ทำให้เยาวชนที่ก้าวพลาดสามารถคืนสู่ครอบครัว สู่สังคม ในฐานะผู้รอดกว่า 95% การทำคุกให้เป็นบ้านแห่งโอกาสจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่นวัตกรรมที่ถูกค้นพบนี้อาจจะไม่ลงตัว ไปกันไม่ได้อย่างราบรื่น ภายใต้วัฒนธรรมราชการที่ยังให้พื้นที่กับระบบอำนาจนิยม” นางทิชา กล่าว
นพ.พงษ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มีโอกาทำงานร่วมกับบ้านกาญจนาภิเษก เพื่อเปลี่ยนเยาวชนก้าวพลาดให้กลับมาเป็นคนคุณค่าของประเทศ โดยนำองค์ความรู้จากบ้านกาญฯ มาใช้ออกแบบกิจกรรม การสื่อสารสาธารณะ และผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการลดปัจจัยเสี่ยงในเด็กและเยาวชน ทั้งเหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด รวมถึงอุบัติเหตุ รวมถึงการได้เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้เยาวชนบ้านกาญฯ ถ่ายทอดบทเรียนการก้าวพลาดเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจเด็ก และผู้ปกครอง ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี และบ้านกาญฯ ยังเคยมีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อีกด้วย ดังนั้นในโอกาสครบ 20 ปี บ้านกาญฯ จึงขอขอบคุณ และให้กำลังใจ บ้านกาญฯ และเยาวชนที่เคยก้าวพลาด เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนคุณภาพและมีคุณค่าของสังคมต่อไป
ด้านคุณแม่นายออฟ อดีตเยาวชน จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ลูกชายของตนได้เล่าประสบการณ์ระหว่างเข้ามาอยู่บ้านกาญฯ วันแรกได้เจอ อ.ทิชา เข้ามากอดและพูดจาดี ไม่มีการใช้อำนาจหรือความรุนแรงเหมือนที่คุ้นเคย อีกทั้งบ้านกาญฯ ยังมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ผ่านการดูหนัง ข่าว การทำกิจกรรมจิตอาสา ออกไปช่วยเหลือสังคม บางกิจกรรมให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งตนให้ความร่วมมือมาตลอด โดยเฉพาะกิจกรรม เกมการ์ด Empower ที่ทำให้เกิดการทบทวนตัวเองเช่นกัน เพราะน้องจับได้การ์ดสาเหตุที่ผลักไสไล่ส่งให้ลูกออกนอกบ้าน คือการที่ “แม่จู้จี้ขี้บ่น” ซึ่งเป็นความจริง ทำให้ตนกลับมาคุยกับพ่อย่างมีสติแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนว่า เราต้องทำให้ลูกเห็น โดยแม่สัญญาจะไม่บ่น หรือบ่นให้น้อยที่สุด ส่วนพ่อก็จะพยายามเลิกเหล้า ซึ่งใช้เวลานานแต่สุดท้ายก็ทำได้ พอลูกกลับบ้านและเห็นการเปลี่ยนแปลงของพ่อ แม่ กินข้าวร่วมกันพร้อมหน้า ฟังเหตุผลของลูกอย่างจริงใจ ถึงทำให้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง ครั้งแรกในชีวิตที่ครอบครัวอบอุ่น เรียกได้ว่าบ้านกาญนาฯ นอกจากอบรมเปลี่ยนแปลงลูกเราให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้พ่อ แม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อจะได้ไม่ทำผิดซ้ำ ซึ่งเสี่ยงที่จะผลักลูกให้ทำผิดซ้ำเช่นกัน
นายชาญ อดีตเยาวชนจากจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนโดนไล่ออกจากโรงเรียนตอน ม.2 แม่จึงส่งมาอยู่กรุงเทพฯ กับพี่ชาย ยอมรับว่า ตนและเพื่อน ๆ ต่างมีบาดแผล เพราะเคยอยู่ในกลุ่มสีเทา ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มีตัวตน สุดท้ายถูกจับในคดีชิงทรัพย์ เข้าสถานพินิจ และเป็นครั้งแรกที่ทำให้ตนรู้สึกสูญเสียความเป็นมนุษย์ เพราะเจ้าหน้าที่ให้แก้ผ้าเพื่อตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมาย โกนผม ใส่ชุดนักโทษ เข้าคุกพนมมือคุยกับเจ้าหน้าที่ และยังมีการใช้อำนาจอีกมาก ทำให้ตนดึงปีศาจในตัวเองออกมาเพื่อสู้กับปีศาจเพื่อให้อยู่รอดตลอด 1 ปี จนได้สิทธิมาอยู่บ้านกาญฯ พอลงจากรถตู้ปลดกุญแจมือเดินเข้าไปก็เจอป้าแก่ๆ คนหนึ่งเดินเข้ามาหาด้วยความยิ้มแย้ม และบอกกับพวกตนว่า “ไม่เป็นไรนะลูกเราแค่ก้าวพลาดก้าวผิดจังหวะ เชื่อว่าไม่มีใครเลวตั้งแต่กำเนิด ให้เริ่มต้นใหม่ เพราะที่นี่คือบ้านแห่งโอกาส เสื้อผ้าหน้าผมร่างกายคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ป้าและเจ้าหน้าที่ที่นี่จะไม่ยุ่งและละเมิดสิทธิ” จากนั้นก็มีพิธีผูกข้อข้อ รับขวัญ โอบกอดทุกคน มันทำให้เรารู้สึกปลอดภัย รู้สึกดีขึ้นทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้คำสั่งศาลเช่นกัน ตนอยู่ที่บ้านกาญฯ 1 ปี ถูกขัดเกลา เหมือนได้รับวัคซีนที่ดี ตอนนี้ออกมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระอยู่ที่แฟลตคลองจั่น และมีสิ่งเล็ก ๆ ที่ภูมิใจคือมีผู้ป่วยจิตเวชมาอาละวาดที่ร้าน แต่ตนใช้ความพยายามอย่างมากในการจัดการกับปัญหาด้วยเหตุและผลจนสำเร็จ แม้จะใช้เวลาพอสมควร แต่ปัจจุบันพี่คนนี้ก็หายป่วยและสามารถทำงานได้เป็นปกติ จึงขอขอบคุณ อ.ทิชา บ้านกาญฯ ที่ช่วยไล่ปีศาจในตัวของตนออกไป