xs
xsm
sm
md
lg

อดีตรองปลัด ยธ.แง้มแนวทางคดีโจ๋โหดคดีป้าบัวผัน สามารถขึ้นศาลผู้ใหญ่ หากประเมิน EQ อยู่ในเกณฑ์ปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัด ยธ. แง้มแนวทางขึ้นศาลผู้ใหญ่ คดีโจ๋โหดคดีป้าบัวผัน หากประเมิน EQ แล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ อายุเกิน 15 ปี รายงานความเห็นไปยังศาลเยาวชนฯ ขอให้ส่งไปพิจารณาคดียังศาลธรรมดา ส่วนจะอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับศาล

วันนี้ (22 ม.ค.) นายธวัชชัย ไทยเขียว กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ตำรวจ ในฐานะอดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณี 5 โจ๋โหดคดีป้าบัวผัน ซึ่งมีกระแสสังคมเสนอลงโทษเยาวชนที่เจนโลกแก่เกินวัยใจอาชญากร โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า สื่อมวลชนเสนอข่าวประเทศญี่ปุ่น เปลี่ยนกฎหมายอายุบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะจาก 20 ปีบริบูรณ์เป็น 18 ปีบริบูรณ์ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ปี 2022 และศาลญี่ปุ่นตัดสินโทษประหารชีวิตชายวัย 21 ปี ที่ได้ก่อคดีฆาตกรรมไว้เมื่อตอนอายุ 19 ปี ชาวเน็ตในไทยจึงแห่เห็นด้วย อยากให้เยาวชนไทยก่อคดีร้ายแรงควรได้รับการพิจารณาโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

นายธวัชชัยระบุด้วยว่า สำหรับประเทศไทยบุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจากการสมรส กฎหมายอาญา มาตรา 74 บัญญัติว่า "เด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการต่างๆ กับเด็กเยาวชนและครอบครัวดังกล่าวได้ และถ้า "เด็กและเยาวชน" ที่อายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปืบริบูรณ์ที่กระทำความผิดทางอาญานั้นจะถูกไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว

“นั่นหมายความว่าเด็กอายุเกินกว่า 12 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ที่กระทำผิดต้องถูกส่งไปดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนฯขณะที่บุคคลที่อายุเกินกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ที่กระทำผิดทางอาญาต้องถูกพิจารณาคดียังศาลธรรมดาแบบผู้ใหญ่”

อย่างไรก็ตาม คดีอาญาที่เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น ถ้าศาลเยาวชนและครอบครัว พิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือในระหว่างการพิจารณา เด็กหรือเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิดมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาก็ได้ตามมาตรา 97 วรรคสอง พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.  2553

ข้อความตอนหนึ่ง นายธวัชชัย “สมัยที่ผมเป็นอธิบดีกรมพินิจฯ จะเรียกเยาวชนที่กระทำความผิดทางอาญา ที่มีพฤติการณ์ร้ายแรง และมีผลกระทบต่อสังคมสูงว่าเป็นพวก “เจนโลก แก่เกินวัย  ใจอาชญากร” ซึ่งวางเกณฑ์เอาไว้โดยจะดูจากผลการประเมิน EQ แล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีอายุเกิน15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พนักงานคุมประพฤติก็จะรายงานความเห็นไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวให้ส่งไปพิจารณาคดีไปยังศาลธรรมดา ส่วนจะอนุมัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับศาล เพราะศาลเยาวชนฯ จะพิจารณาพิพากษาคดี เสมือนเป็นศาลชำนัญพิเศษ โดยมีผู้พิพากษาสมทบมาร่วมพิจารณาคดีด้วย”

นอกจากนี้ นายธวัชชัยเห็นว่าการกำหนดอายุเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิดและรับผิดทางอาญาในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสมแล้ว สมมติว่าเราแก้กฎหมายให้เด็กรับผิดและมีโทษเหมือนกับผู้ใหญ่กระทำความผิด และไม่ได้ส่วนลดเรื่องอายุ และสมมติว่าจะได้ส่วนลดจากการรับสารภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โทษประหารชีวิตก็จะลดเหลือจำคุกตลอดชีวิตหรือ 50 ปี เมื่ออยู่ในเรือนจำก็จะได้รับส่วนลดและสัดส่วนของการเลื่อนชั้นและนำไปสู่การลดโทษตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งสมมติว่าต้องคำพิพากษาอย่างเต็มที่ 25 ปี ขณะที่เด็กกระทำความผิดมีอายุ 15 ปี เขาก็จะออกจากเรือนจำเมื่อมีอายุ 40 ปี ฉะนั้น เขายังมีช่วงชี้นชีวิตที่เหลือจนถึงวันตายตามค่าเฉลี่ยของอายุก็มากกว่า 30 ปี

คำถามคือ เยาวชนที่เจริญเติมโตในคุกย่อมได้รับการพัฒนาที่ไม่สมวัยเหมือนเยาวชนทั่วไปภายนอก และยังอาจถูกบ่มเพาะวิชาโจรออกมาอีกก็ได้ เราจึงได้ทรัพยากรบุคคลที่เป็นภาระมากกว่าพลัง และหากยิ่งขณะที่เขากระทำความผิดด้วยอายุยังน้อยที่วุฒิภาวะและความเจนโลกที่ไม่ถึงพร้อม และเขาอาจจะยังคิดไม่ได้ว่าการกระทำของเขาในขณะนั้นเป็นความผิด การพ้นโทษออกมาอาจเกิดพฤติกรรมอยากแก้แค้นสังคม และออกมากระทำความผิดที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมเป็นร้อยเท่าพันทวี สังคมจึงต้องคิดหน้าคิดหลังอย่างรอบคอบถี่ถ้วนถึงผลดีผลเสีย

รัฐควรกำหมดมาตรการป้องกันสอนเด็กด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์ เสริมทักษะ และเสริมพลัง เพื่อให้ได้พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่เหมาะสมตามวัย มีโรงเรียนสอนคู่สมรสและพ่อแม่ในการเตรียมความพร้อมที่จะมีบุตร และดูแลลูกอย่างเหมาะสมตามวัย ดีกว่าหมดปัญญาคิดอะไรไม่ออกก็ออกกฎหมายมาควบคุมสังคม

รัฐอย่าทำตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่ช่างรู้ ที่อาศัยแต่ประสบการณ์และความคาดหวังนำทาง เดี๋ยวรัฐนั่นแหละจะเป็นเสมือนพ่อแม่รังแกฉัน ถ้ายังคิดไม่ออก อยากให้รัฐไปดูกระบวนการปรับแก้ไขพฤติกรรมเด็กหรือเยาวชนที่ “บ้านกาญจนาภิเษก” ตาก็จะได้สว่าง การไม่ให้ความรัก สวมกอด และไม่ให้อภัยเด็กและเยาวชน จะเป็นเครื่องมือที่ทำร้ายเด็กและเยาวชนไปสู่การพัฒนาไม่สมวัย อันจะเป็นภัยคุกคามชาติบ้านเมืองแบบน้ำซึมบ่อทรายที่กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น