วันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่ห้องประชุมดวงตะวัน แกรนด์บอลรูม โรงแรมดวงตะวัน จ.เชียงใหม่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พื้นที่ภาคเหนือ (เขตสุขภาพที่ 1-3) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน พร้อมจัดนิทรรศการ สื่อสารกระบวนการทำงานในพื้นที่
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะ ร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 แห่ง ใน 48 จังหวัด สามารถปกป้องลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรยาเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญทำให้เกิดแกนนำ ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งระดับชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ภูมิภาค และแกนนำเครือข่าย 5 ภูมิภาค 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน จากประสบการณ์และบทเรียนการทำงานในพื้นที่ของแกนนำ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้การจัดการปัญหายาเสพติดไปขยายผลสู่พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ
“การทำงานด้วยกลไก พชอ. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการบำบัดดูแล ผู้ป่วยผู้ติดยาเสพติด ในชุมชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน อาศัยกระบวนการที่จะเชิญชวนให้กับ พชอ. ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทำสิ่งดี ๆ ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแรก และจะเวียนไปครบ 4 ภาค เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายและชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือทำให้เห็นคุณค่าของตัวเอง สามารถทำสิ่งดี ๆ ให้ชุมชนและสังคมได้ และต้องไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด เพราะสารเสพติดให้ความสุขไม่ยั่งยืนเท่ากับความสุขที่ได้รับรู้จากครอบครัว ชุมชน และสังคม” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางวิไลวรรณ เจนการ ผู้แทนศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การขับเคลื่อนงาน “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เกิดจากการมีส่วนร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็งป้องกันยาเสพติด ความเจ็บป่วยของประชาชนส่วนหนึ่ง เกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งอาหาร สิ่งแวดล้อม ขณะที่หน่วยบริการสุขภาพรับหน้ารักษาโรคที่ปลายน้ำ ดังนั้น กลไกพชอ. ที่มีนายอำเภอ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล ภาคเอกชน ประชาสังคมช่วยกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะมิติการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ เน้นให้ชุมชนสามารถสร้างและจัดการสุขภาวะตามบริบทแต่ละพื้นที่ได้ ในระยะยาวจะสามารถลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ แบ่งเบาภาระของหน่วยบริการ และทำให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่
“หลักการชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) คือ 1.เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการดูแลและฟื้นฟู สนับสนุนผู้ที่ต้องการการดูแล 2.การเข้าถึงที่ง่ายและสะดวก ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและไม่ต้องเดินทางไกล 3.การดูแลที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง ทั้งดูแลทางการแพทย์ จิตสังคม การศึกษา และการฟื้นฟู เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและต่อเนื่อง 4.การส่งเสริมการบูรณาการกับบริการอื่น ๆ เช่น บริการสาธารณสุข การศึกษา และบริการสังคม เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 5.การให้ข้อมูลและการศึกษาในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะในการดูแลตนเองและผู้อื่น ซึ่งกระบวนการนี้ จะช่วยให้ผู้ที่ต้องการการดูแล ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย และได้รับการสนับสนุนจากชุมชนของตนเอง ส่งผลให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” นางวิไลวรรณ กล่าว
นางลัดดาวัลย์ ธีรภาพชัยศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรอบแนวคิดการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน“ชุมชนล้อมรักษ์” หรือ Community Based Treatment : (CBTx) เพื่อให้ชุมชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการในทุกมิติ อีกทั้งผู้ใช้/ผู้เสพยาเสพติดบางรายที่ไม่มีอาการรุนแรง และไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ชุมชนก็สามารถบริหารจัดการดูแลเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยาเสพติดทั้งที่ไม่มีหรือมีอาการทางจิตร่วม เมื่อได้รับการบำบัดรักษาครบจนอาการสงบแล้วจะถูกส่งส่งกลับคืนสู่ครอบครัว และชุมชน จำเป็นอย่างยิ่งที่ครอบครัวและชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการติดตามดูแลต่อเนื่อง ตลอดจนช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการกลับไปเสพซ้ำหรือป่วยซ้ำ โดยมีแนวทางการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลด้วยกระบวนการ “ชุมชนล้อมรักษ์” โดยการฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติด แบบองค์รวมที่บูรณาการแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้าน/ชุมชน ยึดคนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงสิทธิ ความเท่าเทียม ประโยชน์ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ พร้อมร่วมแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน