xs
xsm
sm
md
lg

รพ. จุฬาฯ เตรียมส่งเด็กวัย 1 ปี 1 เดือน กลับหลวงพระบางพรุ่งนี้ หลังผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจสลับห้องสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมแพทย์แถลงโครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง” เตรียมส่งตัวเด็กชายวัย 1 ขวบ 1 เดือน ผ่าตัดหัวใจสำเร็จ กลับหลวงพระบาง พรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ ศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมด้วยทีมแพทย์ พยาบาล ประกอบด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นพ.จุล นำชัยศิริ ศัลยแพทย์ทรวงอก หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ นพ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ ศัลยแพทย์ทรวงอก เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ผศ.นพ.วิทวัส ลออคุณ หัวหน้าหน่วยกุมารโรคหัวใจ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ พญ.กัญญลักษณ์ วิเทศนสนธิ กุมารแพทย์โรคหัวใจ และมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก นพ.ธนดล โรจนศานติกุล หัวหน้าศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ร่วมแถลงความสำเร็จของทีมแพทย์กับภารกิจ ความร่วมมือในโครงการ "รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง" ความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย, รพ.จุฬา, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก, มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก และสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว และ รพ.มะโหสด พร้อมเตรียมส่งตัวน้องบอย (นามสมมุติ) เด็กน้อยวัย 1 ปี 1 เดือน ที่ผ่าตัดสำเร็จกลับเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ในวันที่ 18 เมษายนนี้

รศ.นพ.ฉันชายกล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการ "รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง" เริ่มหารือกันครั้งแรกกับฝ่ายลาว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เนื่องในโอกาสที่ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก (School of Global Health) และผู้ช่วยเลขาธิการเอกอัครราชทูตฯ เพื่อต่อยอด โครงการจัดการอบรมเฉพาะด้านการดูแลผู้ป่วยเด็กในระยะวิกฤต (Pediatric Intensive Care) มีโอกาสหารือกับ นพ.ไคสี ลาดซะวง รองผู้อำนวยการ รพ.มะโหสด (ดูแลผู้ป่วยเด็กและฉุกเฉิน) และทราบว่า รพ.มะโหสด เป็นศูนย์โรคหัวใจเฉพาะทางแห่งเดียวของ สปป.ลาว ซึ่งยังต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคหัวใจเด็ก โดยเฉพาะการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจเด็ก

รศ.นพ.ฉันชายกล่าวว่า ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงติดต่อมาที่ น.พ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ กรรมการและเลขานุการของมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก พร้อมทั้งหารือกับตน และมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก นำมาสู่การริเริ่มโครงการรักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขงด้วยการสนับสนุน อย่างเต็มกำลังจากทุกหน่วยงาน

"คณะทำงานได้เริ่มประชุมหารือตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ ทีมแพทย์ออกหน่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 จากการคัดกรองผู้ป่วยเด็กจำนวน 92 ราย พบว่า ในจำนวนนี้ มีเด็ก 37 ราย ที่มีความจำเป็นต้องนำไปผ่าตัดรักษาที่ประเทศไทย และมีเด็ก 3 ราย มีความจำเป็นต้องนำตัวไปผ่าตัดที่ รพ.จุฬาฯ และหนึ่งในนั้นคือ น้องบอยเด็กชายวัย 10 เดือน (อายุในขณะนั้น) ปัจจุบันอายุ 1 ปี 1 เดือน

ทีมแพทย์พบว่าเด็กมีอาการเส้นเลือดหัวใจสลับห้องกัน มีรูรั้วที่ผนังห้องหัวใจ มีอาการตัวเขียวจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งขณะนั้นน้องบอยมีน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น ทีมแพทย์จึงลงความเห็นว่าจำเป็นต้องนำตัวมาผ่าตัดที่ รพ.จุฬาฯ อย่างเร่งด่วน หลังการผ่าตัดผ่านไปจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว เด็กมีอาการคงที่ ร่างกายแข็งแรงจากเดิมเป็นอย่างมาก

ทีมแพทย์จึงเห็นสมควรว่า เด็กมีความพร้อมที่จะเดินทางกลับไปที่เมืองหลวงพระบางแล้ว ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (18 เมษายน 2567) ทางทีมแพทย์จะส่งตัวเด็กกลับไปที่หลวงพระบาง โดยการสนับสนุนเครื่องบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส" รศ.นพ.ฉันชายกล่าว

นอกจากนี้ รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า นอกจากนั้น ในโครงการ "รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง" คณะแพทย์ของ รพ.จุฬาฯ และทีมงาน Global Health ได้หารือกับคณะแพทย์ของ รพ.มะโหสด เรื่องแนวทางความร่วมมือและการสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของ สปป.ลาว ให้สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กได้ภายใน 5 ปี ในเบื้องต้น คณะแพทย์ของ รพ.จุฬาฯ เห็นว่า ควรสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของหอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก และพิจารณาเรื่องการให้ทุนแก่บุคลากรเพื่อเพิ่มพูนทักษะสำหรับการดูแลผู้ป่วยเด็กและทุนการศึกษาสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปอย่างเต็มกำลังจากทุกหน่วยงานข้างต้น

"สรุปผลการดำเนินโครงการ "รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง" ผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดจำนวน 37 ราย (มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอผ่า 2 ราย ) ผ่าตัดที่ รพ.จุฬาฯ 2 ราย ทั้ง 2 คน อาการปลอดภัยดี และผ่าตัดที่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น 27 ราย ทุกคนที่ผ่าตัดอาการปลอดภัยดี เท่ากับว่าเด็กที่เข้าโครงการและได้รับการผ่าตัด มีอัตราการรอดชีวิต 100% ยังเหลือเด็กที่รอผ่าตัดอีก 11 ราย" รศ.นพ.ฉันชายกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น