xs
xsm
sm
md
lg

รวมพลัง“คนที่ใช่” กลไกการทำงานหลายภาคส่วนแนวใหม่ สู้โรค NCDs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases - NCDs) เป็นสาเหตุที่ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิต องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รณรงค์ให้ทั่วโลกมีมาตรการในการควบคุมโรค NCDs แม้ในประเทศไทยจะมีมาตรการในหลายด้านและได้อาศัยกลไกกระบวนการต่าง ๆ ในระดับชาติเป็นหลัก เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศ แต่การเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของคนไทย

สำหรับประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ถึง 368,872 คน ในปี พ.ศ. 2557 (คิดเป็นร้อยละ 67 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด 549,172 คน) อันดับหนึ่งเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 122,581 คน โรคมะเร็ง 96,988 คน โรคเบาหวาน 30,529 คน และโรคปอดเรื้อรัง 22,531 คน
 
ตามเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลกใน 10 ปี คือปี พ.ศ. 2568 ต้องลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ต่อต่อเรื้อรัง NCDs ได้ร้อยละ 25 แนวคิดหนึ่งที่นิยมในต่างประเทศคือ การทำงานหลายภาคส่วน (Multi Sectoral Collaboration: MSC) แบบดั้งเดิม ซึ่งคือการใช้วิธีการทำงานกับ “ผู้บริหารระดับสูง” ของกระทรวงต่างๆ เช่น รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรมต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งจะไม่ได้เห็นความสำคัญของการควบคุมปัญหา NCDs เท่าทีควร เพราะคิดว่าการแก้ปัญหา NCDs ไม่ใช่พันธกิจหลักของกระทรวงนั้นๆ
 
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัยจาก The Centre for Addiction and Mental Health (CAMH) ประเทศแคนาดา อดีตรองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายนักวิชาการด้านการเฝ้าระวังด้านนโยบาย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และเป็นนักวิจัยหลักในการขับเคลื่อนโครงการ“วิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการทำงานหลายภาคส่วนที่มีประสิทธิผลปฏิบัติได้ และยั่งยืน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยวิธีการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง” ร่วมกับภาคีต่างๆได้ทดลองใช้กลไกการทำงานหลายภาคส่วนแนวใหม่เข้ามาขับเคลื่อน การขับเคลื่อนการทำงานหลายภาคแนวใหม่นี้ คือ การทำงานกับ “ผู้บริหารและนักวิชาการระดับกลาง” คือ ระดับกอง ของกรมและกระทรวงต่างๆ” มีชื่อเรียกโดยย่อในโครงการวิจัยนี้ คือ “คนในที่ใช่” ซึ่งหมายถึง คนในกระทรวงต่างๆนอกภาคสาธารณสุขที่มีความเข้าใจ เห็นความสำคัญและมีความต้องการที่จะทำงานควบคุมปัญหา NCDs ภายใต้พันธกิจของกระทรวงนั้นๆ ด้วยความสมัครใจ (ซึ่งเรียกได้ว่ามีฉันทะ) มาหนุนเสริมการทำงานหลายภาคส่วนแบบดั้งเดิม
 
คุณหมอบัณฑิต เล่าตัวอย่างการทำงานที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงการทดลองปฏิบัติการกับคนที่ใช่จากแต่ละกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนโยบายของกระทรวงนั้น ๆ อย่างเช่น กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เราร่วมกันทำประเด็นการบูรณาการข้อมูลสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สดระดับชาติ เพราะหากข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ดี ไม่ชัดเจน จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างให้ถูกต้อง ตรงจุดได้ ส่วนการทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ เราได้เริ่มต้นทดลองบูรณาการกิจกรรมในและนอกหลักสูตรที่ส่งเสริมสุขภาพให้กับเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการ
 
ในระดับประเทศ NCDs เป็นปัญหาที่กำลังต้องการการขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นและพัฒนาวิธีใหม่ๆที่ได้ผลดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในระดับบุคคลประชาชนจะต้องดูแลตนเองด้วย โดยประชาชนทุกคนต้องพึงตระหนักถึงผลของการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการรับประทานอาหารที่ลด หวาน มัน เค็ม และเพิ่มกิจกรรมทางกาย เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำให้กับตนเองได้


กำลังโหลดความคิดเห็น