ผอ.รพ.พระนั่งเกล้า เปิดไทม์ไลน์รักษา ด.ญ. 3 เดือน หลังพ่อแม่สงสัยรักษาล่าช้า วินิจฉัยพลาดจนดับ แจงแรกคลอดมีอาการหายใจเร็ว ออกซิเจนในเลือดต่ำ รักษาจนกลับบ้านได้ แต่ญาติไม่พามาตรวจตามนัด 1 สัปดาห์ ก่อนมาอีกครั้งช่วง 3 เดือน ตรวจทันที ไม่ได้รอ 8 ชม. ยันดูแลตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมทำความเข้าใจเยียวยาญาติตามขั้นตอน
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. พญ.ณิชาภา สวัสดิกานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวถึงกรณีข่าวมารดาพาลูกสาววัย 3 เดือนเข้ารักษาอาการหายใจผิดปกติ และระบุว่ารอการรักษานานกว่า 8 ชั่วโมง แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดทำให้เด็กเสียชีวิต ว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งหลังได้รับทราบเหตุการณ์ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลทั้งประวัติการรักษาของเด็ก และภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดทันที โดยเด็กหญิงรายดังกล่าว เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 แรกเกิดไม่พบความผิดปกติของโรคหัวใจ แต่พบว่ามีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ และหายใจเร็ว แพทย์ให้การรักษาด้วยการให้ออกซิเจนและให้ยาฆ่าเชื้อ เป็นเวลา 5 วัน จนอาการดีขึ้น หายใจปกติ จึงให้กลับบ้านได้ วินิจฉัยว่าเป็นภาวะหายใจเร็วชั่วคราว และนัดให้มาติดตามอาการอีกตรั้งใน 1 สัปดาห์ แต่จากการตรวจสอบเวชระเบียน ไม่พบมารับการตรวจตามที่ได้นัดหมาย
ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2567 มารดาพามาโรงพยาบาลด้วยอาการร้องกวน กินนมได้น้อยลงมา 3 วัน ถึงแผนกผู้ป่วยนอกกุมารเวชกรรมเวลา 13.48 น. พยาบาลซักประวัติ ตรวจวัดสัญญาณชีพ พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ และได้รับการตรวจจากแพทย์เวลา 15.28 น. แพทย์ให้นอนโรงพยาบาลเพราะมีอาการหายใจแรงกว่าปกติ วินิจฉัยเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อ และมีภาวะโคลิกร่วมด้วย จึงส่งไปเอกซเรย์ปอดก่อนขึ้นหอผู้ป่วยในเวลา 17.10 น. และส่งเลือดตรวจพร้อมให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ผลเลือดพบว่า มีภาวะเลือดเป็นกรด แพทย์จึงสั่งการรักษาเพิ่มเติม
ต่อมา 19.30 น. แพทย์เวรมาตรวจติดตามอาการอีกครั้ง พบว่ามีภาวะหายใจลำบากและความดันโลหิตต่ำ จึงย้ายเข้าไอซียูและใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจ และปรึกษาแพทย์ทางโรคหัวใจร่วมรักษาผู้ป่วย สงสัยมีปัญหาโรคหัวใจร่วมกับอาจมีภาวะหัวใจอักเสบและปอดอักเสบ
กระทั่งเวลา 01.30 น. ของวันที่ 11 มกราคม 2567 ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้น 2 ครั้ง ได้ทำการปั๊มหัวใจและให้ยากระตุ้นหัวใจ และให้ข้อมูลการพยากรณ์โรคกับญาติเป็นระยะ สุดท้ายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาและเสียชีวิตเวลา 02.43 น.
"จากการทบทวนระบบการทำงานของโรงพยาบาล ยืนยันว่า มีการปฏิบัติงานและรักษาพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ ผู้ป่วยได้เข้ารับการตรวจและดูแลรักษาตามขั้นตอน มีการควบคุมติดตามโดยแพทย์เฉพาะทางคือกุมารแพทย์ ส่วนหลังเกิดเหตุการณ์ วันที่ 12 มกราคม ทีมรับเรื่องร้องเรียนและทีมเชื่อมประสานใจ ได้โทรคุยประสานกับญาติซึ่งมีข้อสงสัยเรื่องความล่าช้าในการรักษา และวินิจฉัยตอนแรกคลอด จึงได้มีการนัดหมายเชิญญาติมาทำความเข้าใจและตอบข้อสงสัยทั้งนี้ โรงพยาบาลพร้อมให้ข้อมูลและดูแลเรื่องการเยียวยาตามขั้นตอนต่อไป" พญ.ณิชาภากล่าว