xs
xsm
sm
md
lg

เริ่ม มิ.ย.67 ลาเรียนแพทย์ 13 สาขา ไม่แป้กเงินเดือน สั่งเกลี่ย "หมอ" หลังพบ 200 อำเภอใน 3 เขต ยังต้องเติมคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.เผยลาเรียนแพทย์ 13 สาขา ไม่แป้กเงินเดือนเริ่ม มิ.ย. 67 ปีศึกษาหน้า เชื่อไม่กระทบภาระงาน เหตุมีการหมุนเวียนในระบบ แจงหมอไมาขาดแคลนเท่าอดีต ติดปัญหากระจายตัว พบราว 200 อำเภอใน 3 เขตสุขภาพ สั่งเร่งกระจายแพทย์สัดส่วนให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงขั้นตอนหลังมติ อ.ก.พ.สป.สธ.เห็นชอบแพทย์สังกัด สธ. ลาเรียนต่อ 13 สาขาเหมือนปฏิบัติราชการปกติ ไม่ถูกแป้กเงินเดือน ว่า จะเริ่มช่วงปีการศึกษาหน้า ตือ มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป ระหว่างนี้จะมีการออกรายละเอียดการดำเนินการต่างๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เรื่องลาเรียนไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบต่อภาระงาน เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปตามเกณฑ์ และมีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว อย่างต้องปฏิบัติงานใน รพ.ตามระยะเวลากำหนด ซึ่งการลาไปเรียนเมื่อจบก็จะกลับมาทำงาน วนแบบนี้มาตลอด แต่ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อลาไปศึกษา แพทย์กลุ่มนี้ถูกแป้กเงินเดือน ทั้งที่การไปเรียนเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคต่างๆ มากขึ้น

“จริงๆ ทุกอย่างเป็นไปตามระบบวนรอบของแพทย์อยู่แล้ว อย่างหมออินเทิร์นจบใหม่ เฉลี่ยปีหนึ่งจบประมาณ 3,000 คน กระจายปฏิบัติงานต่างๆ ส่วนหมอที่ลาไปเรียนเมื่อครบ 3 ปีก็จะกลับมา วนเป็นลูปแบบนี้ เป็นเรื่องปกติของระบบ เพียงแต่ของใหม่ คือ หมอ 13 สาขาที่ไปเรียนไม่ต้องถูกแป้กเงินเดือน แต่เสมือนไปปฏิบัติราชการ มีการพิจารณาเงินเดือนตามปกติ ขณะที่หมอใน สธ.ก็เพิ่มทุกปีปีละ 500-1,000 คน” ปลัดสธ.กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี แสดงว่าขณะนี้ไม่ขาดแคลนแพทย์แล้วหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า หากเทียบจำนวนก็ไม่ขาดแคลนเหมือนในอดีต อย่างปัจจุบันมีแพทย์กว่า 3 หมื่นราย ซึ่งความขาดแคลนไม่ได้เท่าอดีต แต่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มีมากย่อมดีในแง่การบริการประชาชนได้เพิ่มขึ้น ปัญหาคือ การกระจายตัวมากกว่า ซึ่งหากพิจารณาพื้นที่ที่ขาดและต้องมีการกระจายเพิ่มเข้าไปก็จะเป็นพื้นที่ที่คนไม่ค่อยอยากไปอยู่ เช่น เขตสุขภาพที่ 8 แถวอีสานตอนบน เขตสุขภาพที่ 2 และเขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งเมื่อเทียบกับเขตสุขภาพอื่นๆ พบว่า 3 เขตนี้จะน้อยที่สุด จึงตั้งเป้าจะเติมอัตรากำลังลงไป 3 เขตสุขภาพนี้ โดยสธ.จะออกหลักเกณฑ์ต่างๆออกมา

“แต่ละเขตแต่ละจังหวัด การกระจายตัวก็ไม่เหมือนกัน อย่างเมืองใหญ่ก็จะมีการจูงใจเรื่องเศรษฐกิจ หมอจะไปอยู่เยอะ จึงให้ผู้ตรวจราชการฯ หมุนเวียนในพื้นที่ของตนเอง โดยกระทรวงฯ จะดูระดับเขต ส่วนผู้ตรวจก็ต้องดูในพื้นที่ เน้นกระจายให้ทั่วถึงไล่ลำดับกันไป ซึ่งพบว่ามีประมาณ 200 อำเภอที่ต้องเติมหมอลงไป ยังขาดอยู่ เนื่องจากเราตั้งเป้าว่า อำเภอเล็กที่มีประชากรน้อยกว่า 30,000 คนต้องมีหมออย่างน้อย 4-6 คน ส่วนอำเภอที่มีประชากรเกินกว่า 30,000 คนให้มีหมออยู่ราว 8-10 คน ยกเว้นรพ.เปิดใหม่ที่ไม่มีผู้ป่วยในอาจมีหมอ 1-2 คน โดยแนวนี้เริ่มปี 2567 เป็นต้นไป” ปลัดสธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรวบรวมไว้เมื่อปี 2565 กรณีบุคลากรด้านสาธารณสุข 1 คนต่อจำนวนประชากร พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนแพทย์ 1 ต่อ 1,265.8 โดยข้อมูลกำลังคนสาธารณสุขภาพรวมประเทศ พบว่า แพทย์รวม 52,497 คน คิดเป็นสัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนที่ 7.94 : 10,000 คน ซึ่งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 49% ภาคเอกชน 43% รัฐอื่นๆ 2% และอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) 6%

ทั้งนี้ สัดส่วนบุคลากรสาธารณสุขต่อประชาชนของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มตะวันตกและเอเชียยังถือว่าน้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักรจะมีแพทย์สัดส่วนที่ 58.2ต่อ 10,000 คน ส่วนกลุ่มประเทศเอเชีย อย่างญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนแพทย์ที่ 24.8ต่อ 10,000 คน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น