xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศ ‘ลดเค็ม’ ไทยเอาจริง สู้ NCDs สมาคม-ผู้ประกอบการอาหาร เอาด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประกาศเอาจริง! หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน สมาคม-ผู้ประกอบการอาหาร ลงนามความร่วมมือในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ลุยเดินหน้าลดการบริโภคเค็ม ‘โซเดียม-เกลือ’ ด้วย 5 ความร่วมมือ หวังลดโรค NCDs คนไทย

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายและภาคียุทธศาสตร์ ตลอดจนสมาคมและผู้ประกอบการด้านอาหาร ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และพิธีลงนามความร่วมมือ “การลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ระหว่างหน่วยงาน ภาคี และผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจากการประกาศเจตนารมณ์ ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่


1. จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อร่วมสนับสนุนและดำเนินงานให้เกิดการลดบริโภคเกลือและโซเดียมทั้งในระดับนโยบาย มาตรการป้องกันระดับประเทศ มาตรการของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร และมาตรการระดับท้องถิ่น ชุมชน 2. แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ วิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนบทบาทภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการร้านอาหารในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมของประชาชน

3. ส่งเสริมบทบาทผู้ประกอบการโดยยกระดับศักยภาพและคุณภาพ มาตรฐานให้เกิดการบริการร้านอาหาร จากร้านอาหารปลอดภัย (safety food) สู่ร้านอาหารสุขภาพ (Healthy food) 4. ผู้ประกอบการ ธุรกิจเอกชนร้านอาหาร ร่วมดำเนินงานและมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการดำเนินงาน และประสานความร่วมมือกับสมาชิก เครือข่ายร้านอาหารของแต่ละกลุ่ม องค์กร สมาคม ชมรม ในการร่วมดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียม 5. ร่วมสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงาน สมาชิกสมาคม ผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชน รับทราบ ตระหนักและเข้าใจ “เค็มน้อยอร่อยได้”


สำหรับการประกาศเจตนารมณ์และพิธีลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การบริโภคเกลือและโซเดียมที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ทำให้แนวโน้มของผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียม โดยเฉพาะปัจจุบันที่วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก คนในสังคมหันมาบริโภคอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น

ทั้งนี้ หน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เครือข่ายลดบริโภคเค็ม กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สช. จึงได้จับมือกับผู้ประกอบการและธุรกิจอาหารต่างๆ ได้แก่ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย สมาคมเชฟประเทศไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมธุรกิจร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวนนทบุรี ชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารนนทบุรี ทำข้อตกลงความร่วมมือในการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อของประชาชน เพื่อประสานการขับเคลื่อนการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมทั้งในระดับนโยบาย มาตรการป้องกันระดับประเทศ มาตรการของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการ และชุมชน และยกระดับศักยภาพและคุณภาพมาตรฐานในการจัดบริการร้านอาหารจาก ร้านอาหารปลอดภัย (safety food) สู่ ร้านอาหารสุขภาพ (Healthy food)


นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในพิธีประกาศเจตนารมณ์และพิธีลงนามความร่วมมือ ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติที่ 8.4 นโยบายการลดบริโภคและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และมีการจัดทำยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 และมีการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้ประกอบการร้านอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้จะนำไปสู่การวางแนวทางปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม

ภายในงาน ตัวแทนภาคียังได้ร่วมกล่าวเจตนารมณ์และให้ข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ รสชาติสำหรับแต่ละคนไม่เท่ากัน ความเค็มขึ้นอยู่กับลิ้นและความเคยชิน คนปรุงอาหารหรือแม่ครัวที่ลิ้นคุ้นชิน เวลาชิมจะไม่ค่อยรู้สึกเค็มเท่ากับคนกิน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรวัดหรือเครื่องมือที่กำหนดมาตรฐานการบริโภคเกลือ-โซเดียม และอาหารไทยในอดีตมักจะกินคู่กับเครื่องเคียงเพราะมีการแก้ฤทธิ์กัน เช่น น้ำพริกจะมีรสเค็ม มีโซเดียม จำเป็นต้องกินเคียงด้วยการกินผักสดที่จะช่วยขับโซเดียมออก หรือแกงจืดที่ต้องปรุงให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำเข้าไปขับความเค็มออก หรืออย่างการกินข้าวขาหมูที่มีมันเยอะก็จำเป็นต้องเคียงด้วยกระเทียมเพื่อช่วยสู้กับไขมัน

นอกจากนี้ ในงานยังมีเมนูอาหารลดเกลือลดโซเดียมจากผู้ประกอบกิจการร้านอาหารให้ชิมกันหลากหลายเมนู เพื่อยืนยัน “เค็มน้อย อร่อยได้” อาทิ เมนูหาทานยาก เมนูแกงรัญจวนปลากระพง เมนูยำยอดหนามพุงดอกุ้งสด จากร้านข้าวใหม่ปลามัน อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมนูคู่บ้านของคนไทย ข้าวมันไก่+น้ำจิ้มลดเกลือ ลดโซเดียม จากสมาคมเชฟประเทศไทย เมนูน้ำจิ้มแซ่บ ลดเกลือ ลดโซเดียม 3 ระดับ ระดับปกติ ระดับลดเกลือโซเดียม 40% และ 60% พร้อมกุ้งสดลวก เมนูแกงเรียงกุ้งสด ลดเค็ม เมนูยำถั่วพู เค็มน้อยอร่อยได้ เมนูยำปลาทู เค็มน้อยอร่อยได้ ทั้งน้ำยำและปลาทู จากสมาคมผู้ประกอบอาหาร






กำลังโหลดความคิดเห็น