"ชลน่าน" ยังไม่ฟันวินัย ขรก.สธ. หากดื่มแล้วขับช่วงปีใหม่ ตั้งเป้าลดตายบนถนนอย่างน้อย 5% พร้อมมอบของขวัญแก้ง่วง 3 แสนชิ้นผู้เดินทาง ย้ำ 3 D “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ปลัด สธ.สั่ง รพ.เพิ่มบุคลากรขึ้นเวร เตรียมพร้อมทีมฉุกเฉิน ประสาน ตร.ออกตรวจ เอาโทษสูงสุดพวกทะเลาะวิวาทใน รพ. สตช.เผยชงอัยการเพิ่มโทษผิดซ้ำซ้อนเมาแล้วขับ
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ 3D “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่มีการเฉลิมฉลอง มีการดื่มสุรา โอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 31 ธ.ค.ของทุกปี มีการเคาต์ดาวน์ ซึ่งปีนี้รัฐบาลส่งเสริมให้เปิดสถานบริการถึง 6 โมงเช้า คนพูดแซวว่าเสร็จแล้วก็ไปใส่บาตรต่อ ก็เป็นภาพที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ที่อาจมีการดื่มแล้วขับ โอกาสเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ตั้งเป้าให้ลดอุบัติเหตุจราจรลงอย่างน้อยร้อยละ 5 ซึ่งปีใหม่ 2566 วันที่ 29 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566 ช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุถึง 2,440 ครั้ง บาดเจ็บ 2,437 ราย และเสียชีวิต 317 ราย แม้จะลดลงจากปีก่อน แต่คดีที่เกิดอุบัติเหตุมากกว่าร้อยละ 96 หรือประมาณ 8,567 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและอันตรายมาก
"จึงต้องช่วยกันรณรงค์บอกกล่าวประชาชน หากขับรถต้องไม่ดื่มหรือดื่มแล้วต้องไม่ขับ ดื่มด้วยความรับผิดชอบ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และตลอดทั้งปี สธ.มีนโยบายรณรงค์ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับลงให้ได้มากที่สุด กำหนดแคมเปญ 3 D คือ “Drink Don’t Drive” ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ รณรงค์ร่วมกับทุกภาคส่วน นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาอื่นๆ เช่น พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ทั้งขับรถเร็วไม่เหมาะสม ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รักษาผู้ป่วยจากโรควิกฤตฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า สธ.ห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว จึงเตรียมผลิตภัณฑ์ยาอม ยาดม ยาหม่อง แก้อาการง่วงนอนขณะขับรถ 3 แสนชิ้น มอบเป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีบริการน้ำดื่ม ผ้าเย็น ให้แก่ประชาชนที่เดินทางและต้องผ่านด่านตรวจคัดกรองการดื่มตลอดเส้นทางทั่วประเทศด้วย เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านสู่อ้อมกอดของครอบครัวอย่างปลอดภัย รวมถึงส่ง อสม.ร่วมประเมินภาวะเมาแล้วขับ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีไทยจะนำร่องข้าราชการกระทรวงฯหากเมาแล้วขับ จะลงโทษทางวินัยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คงนำร่องไม่ได้ เพราะการจะปฏิบัติอะไรต้องมีกฎหมายมารองรับ จะใช้อำเภอใจไปลงโทษใครย่อมไม่ได้ คิดเอาเอง แม้จะดีก็ทำไม่ได้ หากจะมีก็ต้องไปแก้กฎหมาย แก้ระเบียบเกี่ยวข้อง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ได้สั่งการให้หน่วยงานและ รพ.ในสังกัดเตรียมพร้อม โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งส่วนกลางและจังหวัด ประสานสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้ สสจ.และ รพ.สนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของ รพ.และเครือข่ายทุกระดับ รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการทางอากาศและเรือ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS) และระดับสูง (ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ใช้สิทธิ UCEP ไม่เสียค่าใช้จ่าย 72 ชั่วโมงแรก นอกจากนี้ ให้ รพ.เพิ่มบุคลากรที่อยู่เวรจากปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีไม่สามารถเป่าลมหายใจได้
"ช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีที่ผ่านมา (2564 - 2566) มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษา รพ.เฉลี่ย 25,799 ราย หรือ 3,685 รายต่อวัน ปีที่แล้วมีคนเสียชีวิต 317 ราย คาดการณ์ว่าปีนี้จะเป็นการท่องเที่ยวมากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก็ต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งช่วงปีใหม่บุคลากรก็สละเวลามาทำงาน ปริมาณงานก็มากขึ้น แต่ถ้าประชาชนร่วมกันร่วมใจกันก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ นอกจากนี้ ยังมอบหมายผู้บริหารระดับสูง ทั้งรองปลัด อธิบดี เลขาธิการ อย. ตรวจเยี่ยมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉินทุกเขตสุขภาพ" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนเรื่องการเกิดทะเลาะวิวาท ความรุนแรงใน รพ. เราปรับโครงสร้างห้องฉุกเฉินมีประตู 2 ชั้น มี รปภ.อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง มีปุ่มกดสัญญาณเตือนภัยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาได้ทันที แล้วจะมีตำรวจสายตรวจมาตรวจเป็นระยะ บางที่เกิดบ่อยก็จะมาทุกครึ่งชั่วโมง ถ้าไม่บ่อยก็ 2 ชั่วโมง แต่ขอว่าอย่าให้เกิดเหตุจะดีกว่า รพ.เป็นสถานที่ดูแลทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ไม่ควรจะมีการเกิดเหตุ ถ้ามี รพ.มีกล้องวงจรปิดอยู่ หลักฐานครบไม่รอดแน่ ศาลก็จะลงโทษตามกฎหมายสูงสุด
พ.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมพร้อมเครื่องมือต่างๆ อย่างเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ตามจุดต่างๆ ประสานผู้นำชุมชน อสม. บูรณาการทำงานร่วมกัน ตรวจบุคคลเสี่ยงเมาแล้วขับ โดยจะให้ผู้นำชุมชนไปตักเตือน ร้านค้าเสี่ยงที่เคยขายให้เด็ก เป็นต้น และสถานที่เสี่ยงที่มีการจัดงาน เพิ่มโทษกรณีเมาแล้วขับ หากมีความผิดซ้ำ จะเสนออัยการเพื่อฟ้องต่อศาลในการเพิ่มโทษต่อไป ส่วนขยายผลกรณีเมาแล้วขับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือต่ำกว่า 20 ปี จะดำเนินการร้านค้าปลีกการจำหน่ายด้วยหรือไม่ ให้เป็นตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีก็จะดำเนินการเรื่องการชักจูงให้เด็กดื่มสุรา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
“ส่วนเรื่องปัญหาความรุนแรง ทะเลาะวิวาทใน รพ. ทาง ผบ.ตร.เน้นย้ำเรื่องนี้ให้มีช่องทางในการติดต่อระหว่าง รพ.และสถานีตำรวจในพื้นที่แบบฮอตไลน์สายตรง มีสายตรวจออกตรวจกลางคืน หากมีเหตุการณ์แบบนี้ต้องดำเนินคดีเด็ดขาด ส่วนตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด มี พ.ร.บ.จราจรฯ ให้แพทย์เจาะเลือดผู้สงสัยเมาแล้วขับหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยคำร้องขอของตำรวจ ซึ่งจะมีหนังสือไปยัง รพ. และค่าเจาะเลือดได้รับงบประมาณรัฐบาล โดยกระจายไปยังตำรวจภูธรจังหวัด ซึ่งสาธารณสุขสามารถไปเบิกได้” พ.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาเหตุความรุนแรงใน รพ. สตช.ดำเนินคดีได้ทุกราย และดำเนินคดีที่ส่งผลทางอาญา โดยหลักการแม้ภาวะสงครามยังไม่กระทบต่อ รพ.เลย ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องดำเนินคดีถึงที่สุด จริงๆ ตลอด 7 วันมากกว่า 7 วันด้วย ทางตำรวจไม่ได้พัก “ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามตาย” ดำเนินการทำงานตลอดเวลา
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ดื่มแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนน สสส.ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายเน้นย้ำรณรงค์ปีใหม่ 2567 ขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 3,000 แห่ง และ 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด เข้มข้นดูแลพี่น้องประชาชนสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ลดความสูญเสีย ดูแลพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ และหนุนเสริมอำเภอเสี่ยงกว่า 200 อำเภอ วางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ลดพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ นอกจากนี้เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับทั่วประเทศ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้มีมาตรการสำคัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 1. ตรวจแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง 2.ห้ามขายแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน และไม่อนุญาตให้เด็ก และเยาวชนใช้บริการในสถานบริการ 3. หากพบเด็กและเยาวชนเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ขอให้มีการติดตามไปถึงร้านค้าที่ขายแอลกอฮอล์
“สสส. ผลิตสื่อรณรงค์สปอตโฆษณา 2 เรื่อง และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ภายใต้แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ: ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” เรื่องที่ 1 “สมองช้า” แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมอง ตอบสนองช้าลง สปอตเรื่องที่ 2 กะระยะง่ายๆ พลาด ที่สื่อสารว่าแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสมอง ทำให้กะระยะในการขับขี่ผิดพลาด และหนังออนไลน์ 1 เรื่อง ชื่อเรื่อง The Loop หากยังไม่หยุดพฤติกรรมเช่นนี้อาจมีจุดจบเหมือนในหนังโฆษณา ขอฝากไปยังประชาชนที่จะเดินทางในช่วงปีใหม่ ดื่มไม่ขับ ก่อนออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ปีใหม่นี้อย่างมีความสุข และปลอดภัย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว