xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.จ่อเรียกหน่วยตรวจสอบฯ กำจัดจุดอ่อนจัดซื้อ "พัสดุ" จับตา จนท.รวยผิดปกติ - ก๊วนเดียวกันส่อฮั้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.เตรียมเรียกหน่วยตรวจสอบภายในทุกกรม หารือกำจัดจุดอ่อนจัดซื้อพัสดุ เข้มจับตา จนท.ร่ำรวยผิดปกติ สกัดกลุ่มก๊วน-ครอบครัวเดียวกันส่อฮั้วจัดซื้อเบ็ดเสร็จ ส่วนเอาผิดวินัย 2 แม่ลูก ขรก.ซี 7 กรมวิทย์โกงเงิน เป็นอำนาจอธิบดี โยง ขรก.เกษียณหรือไม่ ต้องรอผลตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณี 4 หน่วยงานปราบทุจริต บุกจับ 2 แม่ลูกข้าราชการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำเอกสารเบิกจ่ายปลอมโกงเงินหลวงกว่า 10 ปี มูลค่ากว่า 51.3 ล้านบาท ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. สั่งให้มีการสังคายนาปรับระบบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุและการตรวจสอบทุกกรมกองในสังกัด สธ.ใหม่ ว่า เรื่องนี้เนื่องจากเป็นข้าราชการระดับซี 7 จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการดำเนินการทางวินัยข้าราชการ ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับการดำเนินการทางอาญาตามกฎหมายที่ต้องว่าไปตามขั้นตอน แต่หากเป็นข้าราชการซี 9 จึงจะเป็นอำนาจของปลัด สธ.

สำหรับขั้นตอนตามปกติของการดำเนินการทางวินัย คือ จะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มีมูลแล้วตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย หากผิดถูกก็เข้าคณะกรรมการของ ก.พ. จะมี 3 สเต็ป อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลข้อเท็จจริงชัดเจนแล้ว อย่างกรณีนี้ก็อาจนำข้อมูลจาก ป.ป.ท.มา แล้วตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยได้เลย อย่างไรก็ตาม ระดับซี 7 จริงๆ ไม่ต้องรายงานมา แต่เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้อาจต้องให้มาชี้แจงหรือสอบถาม ซึ่ง รมว.สธ.ก็สั่งการ คือ เราจะให้หน่วยตรวจสอบภายในทั้งของเราและกรมมานั่งพูดคุยกันว่า มีข้อบกพร่องจุดอ่อนตรงไหน จะได้มีหนังสือกำชับไป 2 เรื่อง คือ ให้ผู้บังคับบัญชาได้ตรวจสอบสอดส่อง และให้รายงานเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้น

"อย่างกรณีนี้แม่ลูกเขาดูครบวงจรในการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ในจุดเดียวกัน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาว่า อย่าให้เกิดแบบนี้ขึ้น เพราะก็จะเหมือนกับฮั้วกันในตัว ก็คงจะกำชับประเด็นนี้เพิ่มเติม คนมีอำนาจอนุญาตจัดซื้อจัดจ้าง ต้องมีการบาลานซ์ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ครอบครัวเดียวกันก็ไม่น่าเหมาะสม และอีกเรื่องคือ เรื่องของพฤติกรรมที่ส่อว่าร่ำรวยผิดปกติ ก็ต้องคอยสอดส่อง" นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามว่าตามปกติคณะกรรมการตรวจรับฯ จะต้องมีการหมุนเวียนคนในการตรวจสอบพัสดุ นพ.โอภาสกล่าวว่า ตามข่าวคือมีการปลอมลายเซ็น อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เป็นหน่วยงานย่อยระดับกอง ซึ่ง ผอ.กองต้องดูแล แล้วการจัดซื้อที่ไม่ถึงแสนบาทก็เป็นอำนาจของ ผอ.กอง ส่วนชั้นต่อไปก็คือรองอธิบดี จะมีระบบกำกับอยู่

"เรามีบุคลากรจำนวนมากกว่า 5 แสนคน เวลาคนไข้มาตรวจก็เป็นล้านคนต่อวัน ญาติคนไข้อีกก็รวม 2 ล้านคน อย่าง อย.ก็มีการออกใบอนุญาตต่างๆ ก็อาจจะมีคนนอกลู่นอกทางทำอะไรไม่ถูกต้อง เราก็ต้องตรวจตรากำชับ ตรงไหนจุดอ่อนก็ต้องไปดูและแก้ไข เท่าที่ดูเบื้องต้น จุดอ่อน คือ อยู่ที่ตัวคน ต้องดูพฤติกรรมคนด้วย เดิมเราดูตามตัวเอกสาร ซึ่งมีขั้นตอน 1 2 3 4 ถ้าถูกขั้นตอนก็ผ่าน แต่ไม่รู้ว่าลายเซ็นปลอมหรือไม่ ก็ตรวจยาก เพราะคนตรวจต้องเป็นคนละหน่วยงานกันตรวจ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาสอดส่องดูพฤติกรรมด้วย อย่างร่ำรวยผิดปกติก็ส่อแล้ว ข้าราชการระดับนี้ รถตั้งกี่คัน ถ้ารวยแบบโดยพื้นฐานพ่อแม่ให้มาก็อีกเรื่อง" นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามว่ากรณีนี้ทำมาเป็น 10 ปี จะต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเก่าๆ หรืออาจจะเกษียณไปแล้วมาให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ต้องให้เขาทวนข้อมูลก่อน ขึ้นกับข้อมูลว่าจะไปถึงไหนอย่างไร แต่หลักๆ คือเป็นหน่วยงานระดับกองในการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องตั้งไล่ระดับ ผอ.มาก่อน ว่าความเกี่ยวพันนั้นเกี่ยวพันกันถึงไหน มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ ก็ต้องว่ากันไปเป็นตอนๆ เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง


กำลังโหลดความคิดเห็น