วันนี้ (7 ธ.ค.) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสังเกตการณ์การสาธิตเครื่องรีดตะกอนในคลองคูเมืองเดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับความร่วมมือจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีนายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ ณ คลองคูเมืองเดิม หน้าวัดบุรณศิริมาตยาราม เขตพระนคร
ระบบบำบัดนํ้าและบีบอัดตะกอนเลน แบบอัจฉริยะดังกล่าว ไม่ใช้รถขุดตักแบบเดิมๆ สามารถลดการขนย้าย และลดความสกปรกของถนนจากการขนย้ายตะกอนเลน ซึ่งระบบบำบัดนํ้าและบีบตะกอนเลนแบบอัจฉริยะนี้เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เหมาะสําหรับใช้ในการจัดการทำความสะอาดแหล่งน้ำ เช่น ลำคลอง คูน้ำ บ่อน้ำ หรือ บ่อบำบัดนํ้า ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยสามารถจัดการ แยกประเภทตะกอนและขยะที่สะสมอยู่ รวมถึงทําการบำบัดน้ำให้เป็นนํ้าสะอาดคืนสู่ธรรมชาติ ระบบคัดแยกประเภทแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แยกขยะและวัสดุที่มีขนาดใหญ่ แยกตะกอนทราย แยกดินโคลนเพื่อทําการบีบอัดความชื้นให้เป็นกากตะกอนแห้งพร้อมนํากลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ระบบนําบัดนํ้าและบีบตะกอนเลน แบบอัจฉริยะ ประกอบด้วย 4 ระบบ ได้แก่ ระบบการคัดแยก (Separation System) ระบบการตกตะกอน (Sedimentation System) ระบบการปรับความชื้น (Dewatering System) ระบบควบคุมการจัดการและสารโพลีเมอร์ (Control & Polymer System) ซึ่งส่วนประกอบหลักสําคัญทั้ง 4 ระบบ ถูกออกแบบในอยู่ในตู้ คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน 20 ฟุต จำนวน 4 ตู้ สามารถทำการเคลื่อนย้ายได้ เพื่อให้สะดวกในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการทำงาน โดยระบบการทํางานจะเป็น “ระบบการควบคุมอัตโนมัติแบบอัจฉริยะ” (Automated intelligence Control System) AICS ซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษของระบบนี้ ที่สามารถทำการกำหนดค่าการทำงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีความแตกต่างกัน ทำให้ได้ประสิทธิภาพที่สูงสุด ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เช่น ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง สามารถใช้พื้นที่เพียง 150 ตารางเมตร ในการติดตั้งและใช้เวลาติดตั้งเพียง 2 ชั่วโมงประสิทธิภาพในการทำงาน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มีการติดตั้งเซ็นเซอร์น้ำเพื่อตรวจสอบคุณภาพของน้ำก่อนนำลงสู่แหล่งน้ำ ประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้รถขุดในการทำงาน ใช้เจ้าหน้าที่ในการจัดการควบคุมดูแลระบบจำนวนน้อย ลดต้นทุนในการขนส่ง ตะกอนดินโคลน เนื่องจากระบบสามารถจัดการดินโคลนให้เป็นกากตะกอนแห้งสูง (75% DS) ของดินโคลนที่ทําการดูดขึ้นมาและกากตะกอนดินสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก
นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยในรอบระยะเวลา 100 ปี ที่ผ่านมา แหล่งน้ำ ลำคลอง คูน้ำ เต็มไปด้วยดินโคลน และตะกอนต่างๆ ซึ่งเกิดจากน้ำเสียที่ถูกปล่อยมาจาก ครัวเรือน และแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มีการกรองหรือคัด แยกมาก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ดังนั้น แหล่งน้ำจึงเกิดการปนเปื้อนของสารพิษ ขยะ และตะกอนต่างๆ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับระบบ นิเวศน์ (ปัญหาน้ำท่วม การปนเปื้อนของสารพิษในน้ำ) และส่งผลให้ เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจด้วย ซึ่งวิธีการจัดการกำจัดตะกอนแบบเดิมนั้น นอกจากจะไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่แล้วยังมีราคาแพงและไม่คุ้มค่าทั้งในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายระบบบำบัดน้ำและบีบตะกอนเลนแบบอัจฉริยะ ที่เป็นนวัตกรรมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์จึงสร้างมาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการทำความสะอาดแหล่งน้ำ และใช้อย่างแพร่หลายในประเทศชั้นนําทั่วโลก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
การร่วมสังเกตการณ์ในวันนี้ มีนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ผู้บริหารสำนักงานระบายน้ำ ผู้อำนวยการเขตพระนคร ร่วมสังเกตการณ์